guideubon

 

ภาพรวมกับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน SEA GAMES 2025

sea-games-2025-ubon-01.jpg

ในปัจจุบัน ต้องถือว่า “กีฬา” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ประชาชนชาวไทยมีความสุขร่วมกันโดยไม่แยกชนชั้น วรรณะ เพศ หรือวัย ไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภททีมหรือบุคคล หรือแม้แต่กีฬาคนพิการ วีรบุรุษนักกีฬาของชาติไทยได้แสดงออกถึงศักยภาพความสามารถทางการกีฬาที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งทำให้เกิดกระแสในคนหมู่มากประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬาอย่างมีวัฒนธรรม

กีฬาซีเกมส์ และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ เป็นกิจกรรมกีฬาที่จัดขึ้นสำหรับประเทศภาคีสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประวัติในการจัดการแข่งขันมายาวนานถึง 59 ปี และในการจัดการแข่งขันครั้งที่ 33 ปี 2025 (พ.ศ.2568) จะเป็นลำดับของการที่ประเทศไทยจะต้องรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันตามธรรมนูญการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ต่อจากประเทศกัมพูชา

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เรามีความมั่นใจเป็นอย่างมากว่า จังหวัดของเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติได้ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 2025 (พ.ศ.2568) อุบลราชธานี ขึ้น ภายใต้แนวคิด “กีฬาแห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม” ซึ่งได้แสดงข้อมูลความพร้อมเบื้องต้นในด้านต่าง ๆ เช่น บุคลากร สนามแข่งขัน สนามฝึกซ้อม และแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ที่จะต้องทำต่อไปในอนาคต ภายใต้การขับเคลื่อนของนโยบายประชารัฐ

จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับโรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี และหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เสนอแนวคิดสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาค ตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และแนวนโยบายประชารัฐ ตามมติ ครม. และตามหนังสือ ที่ นร 0505/ว(ล) ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ให้ทุกส่วนราชการกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเชี่ยนเชิงรุก และตามหนังสือที่ นร.0505/ว8 ลงวันที่ 14 มกราคม 2559 เรื่องกลไกประชารัฐ และสรุปสาระสำคัญการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 โดยกำหนดให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเวทีการกีฬาแห่งอาเชี่ยน ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจจะดีต้องมีสันติภาพ” และ “สันติภาพจะเกิดได้ต้องใช้กีฬาเป็นสื่อ” เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเน้นในกิจกรรมการกีฬาและการเที่ยว (Sport Tourism)

จังหวัดอุบลราชธานี มีภูมิประเทศตั้งอยู่แนวชายแดน มีพื้นที่อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับประเทศในกลุ่มประชาคมอาเชี่ยน อันได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังประเทศสังคมนิยมเวียดนาม มีระบบการคมนาคมที่สะดวกทั้งทางรถยนต์ รถไฟและเครื่องบิน ซึ่งสนามบินอุบลราชธานี เป็นสนามบินระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากกรุงเทพมหานคร วันละกว่า 10 เที่ยวบิน และเที่ยวบินเชื่อมระหว่างภาค (อุบล - เชียงใหม่) อีกวันละ 2 เที่ยวบิน มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติ ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างมากมาย มีสถานที่พักเป็นโรงแรมระดับมาตรฐาน และโฮมสเตย์ รองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก มีสนามกีฬามาตรฐานระดับชาติขนาดใหญ่ 3 แห่ง สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 50 เมตร จำนวน 3 แห่ง และสนามกีฬาขนาดเล็กอีกมากมาย รวมถึงการที่มีบุคลากรด้านการกีฬา และบุคลากรผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดกีฬาในระดับชาติและระดับนานาชาติจำนวนมาก

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา จังหวัดอุบลราชธานีได้ผ่านประสบการณ์ การจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติ และระดับนานาชาติ อาทิ การจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2551 การจัดการแข่งขันกีฬาโรงเรียนกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนักกีฬาจากชาติในอาเชียนเข้าร่วมการแข่งขัน เมื่อปี พ.ศ.2548 และ พ.ศ.2555 การจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2555 การจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง (จีน, พม่า, ลาว, เวียดนาม และไทย) ปี พ.ศ.2545 และ ปี พ.ศ.2553 การจัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียน อายุไม่เกิน 15 ปี ชิงชนะเลิศแห่งอาเชี่ยน และฟุตบอลนักเรียนอายุไม่เกิน 18 ปี ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย พ.ศ.2554 การจัดการแข่งขันแฮนด์บอล South East Asia Championship พ.ศ.2556 เป็นต้น  

จากศักยภาพของจังหวัดอุบลราชธานีดังกล่าวข้างต้น จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ปี 2525 (พ.ศ.2568) อุบลราชธานี และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ในรูปแบบกลุ่มจังหวัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2) ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร และจังหวัดคู่มิตรในการจัดการแข่งขันกีฬาทางทะเล ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี