guideubon

 

พบหลักฐานใหม่ ในหลวง ร.9 เสด็จฯ อ.โขงเจียม ปี 2513

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-04.jpg

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-02.jpg

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-03.jpg

วันที่ 27 เมษายน 2560 คณะกรรมการและกองบรรณาธิการ จัดทำหนังสือใต้ร่มพระบารมี 60 ปี ในหลวงเสด็จฯ อุบลราชธานี ได้จัดเวทีเสวนา ณ วัดบุปผาวัน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ประกอบด้วย โดยมีชาวบ้าน อดีตข้าราชการครู ข้าราชการบำนาญ สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิก อสม. และผู้นำชุมชน ในอำเภอโขงเจียม ร่วมเวทีเสวนา และนำเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ (บริเวนหลังภูเขา มว.318 ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลโขงเจียม) ใกล้กับวัดถ้ำคูหาสวรรค์

11 ครั้ง แห่งความประทับใจ ในหลวงเสด็จฯ อุบลราชธานี

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-นิสาชล-นามมนตรี.jpg

นางนิสาชล นามมนตรี ผู้ที่เก็บรักษาภาพมิ่งมงคลต่อจากคุณพ่อ (จ.ส.ต.ปรปักษ์ กัญญมาลา ) เล่าถึงความเป็นมาด้วยความปลื้มปิติ ว่า คุณพ่อเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เฝ้ารับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด โดยปฏิบัติหน้าที่แปลภาษาท้องถิ่น เพื่อกราบบังคมทูลฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเป็นภาษาไทย และที่สำคัญต่อมาคุณพ่อได้รับภาพพระราชทาน จำนวน 3 ภาพ ซึ่งเป็นภาพการเสด็จฯเยี่ยมราษฏร และตำรวจตระเวนชายแดน ที่อำเภอโขงเจียม เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2513 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และได้เก็บรักษาเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมด้วยความจงรักภักดีตลอดมา ชาวโขงเจียมมีความดีใจ ภาคภูมิใจที่สุด ที่มีส่วนร่วมในการบันทึกประวัติศาสตร์ ในหนังสือ“ ใต้ร่มพระบารมี 60 ปี ในหลวงเสด็จฯอุบลราชธานี ”

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-ประสงค์-เวชกามา.jpg

ร้อยตำรวจตรีประสงค์ เวชกามา อดีตข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดน มว. 318 กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนิน โดยเฮลิคอปเตอร์ จากจังหวัดอุบลราชธานี ถึง อำเภอโขงเจียม เวลาประมาณ 14.30 น. ณ ลานจอดชั่วคราวบริเวณค่าย ตชด. มว. 318 โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนจำนวนมาก มารอเฝ้ารับเสด็จฯ ในสมัยนั้นกำลังพล ตชด.ประมาณ 30 นาย ได้รับพระราชทานยุทธปัจจัย สำหรับใช้ในราชการชายแดน กำลังพลทุกคนรู้สึกปราบปลื้ม และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปฏิบัติหน้าที่เป็นรั้วของชาติตามแนวชายแดนอย่างเข้มแข็งตลอดมา

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-บุญทวี-แซ่อึ้ง.jpg

นางบุญทวี แซ่อึ้ง อายุ 76 ปี อดีตข้าราชการครู โรงเรียนบ้านด่าน อำเภอโขงเจียม ได้เล่าถึงความสำคัญในการเฝ้ารับเสด็จฯ ว่า ในปี พ.ศ. 2513 เป็นครูประจำชั้น ป.3 ได้รับมอบหมายจาก นายธงชัย บุญแข็ง อาจารย์ใหญ่ ให้นำนักเรียนไปเตรียมการรอรับเสด็จฯ ที่ค่าย ตชด.หลังภูเขา ซึ่งห่างจากโรงเรียนประมาณ 2 กิโลเมตร ครูและนักเรียนดีใจตื่นเต้น ต้องออกเดินทางขึ้นภูเขาแต่เช้าๆ เพื่อไปรวมหน่วยงานและกับประชาชนอื่นๆ ให้มีระเบียบสวยงาม ในการเฝ้ารับเสด็จฯ ครั้งนี้ มีความรู้สึกตื้นตันใจ และมีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จฯอย่างใกล้ชิด มีความรักและเทิดทูนสูงสุดในชีวิต ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฏร ที่อยู่ห่างไกล ชายแดน และทุรกันดาร หลังจากนั้นไม่นานอำเภอโขงเจียมมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆพัฒนาดีขึ้น ส่งผลให้ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และพระบารมีปกเกล้าฯเหล่าปวงประชาชนอย่างแท้จริง และในชีวิตการรับราชการครู ได้น้อมนำพระบรมราโชวาท ไปปฏิบัติถ่ายทอด อบรม สั่งสอนให้เกิดผลดีต่อนักเรียน และประชาชนด้วยดีตลอดมา

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-ประชิต-ควาญช้าง.jpg

นางประชิต ควาญช้าง อายุ 69 ปี กล่าวว่า รู้สึกดีใจตื่นเต้นที่สุด เมื่อทางอำเภอมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ โดยเป็น 1 ใน 3 คน ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัยระหว่างการเสด็จฯลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งคนแรกจะทูลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คนที่สองจะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และคนที่สาม คือ นางประชิต ควาญช้าง เป็นผู้ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามกุฏราชกุมาร เมื่อรับมอบหมายแล้ว จึงได้เตรียมการ และตั้งจิตบรรจงร้อยพวงมาลัยอย่างสวยงาม และได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญตามที่ราชการอบหมายในวันเฝ้ารับเสด็จฯ จึงรู้สึกซาบซึ้งเป็นสิริมงคลในชีวิต และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุดมิได้

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-ปทุม-เลิศแล้ว.jpg

นางปทุม เลิศแล้ว อายุ 78 ปี อดีตข้าราชการ สาธารณสุขอำเภอโขงเจียม กล่าวถึงความสำคัญในชีวิต ที่มีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จฯ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฏรจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ และอำเภอพิบูลมังสาหาร เท่านั้น และในปี พ.ศ. 2513 ข่าวสายราชการแจ้งว่า ในวันที่ 10 มกราคม 2513 ให้ส่วนราชการ และที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับเสด็จฯ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า พระองค์ใดจะเสด็จฯ ทางสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอได้รับมอบหมายให้บริการด้านสุขภาพอนามัยประชาชน อำนวยความสะดวก และดูแลภารกิจที่ราชการประสานงานเท่านั้น จึงมีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด เหล่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท เสียสละ เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดชีวิต

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-ปิยวดี-พันธ์แสง.jpg

นางปิยวดี พันธ์แสง อายุ 59 ปี อดีตข้าราชการครู ได้เล่าความรู้สึกปราบปลื้มว่า เมื่อปี พ.ศ.2513 กำลังเรียนอยู่ชั้น ป. 3 โรงเรียนบ้านด่าน ซึ่งทางโรงเรียนให้ครูและนักเรียนไปเฝ้ารับเสด็จฯที่ค่าย ตชด. นักเรียนพากันตื่นเต้นดีใจจะได้ถวายความจงรักภักดี และที่สำคัญคือจะได้ดูเครื่องบินแมลงปอ(เฮลิคอปเตอร์) และเมื่อเฮลิคอปเตอร์ลงจอด ทั้ง 3 พระองค์ เสด็จฯลงมา โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจและครูเข้าแถวถวายความเคารพ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฏรอย่างทั่วถึง และทรงทอดพระเนตรภูมิทัศน์แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล บริเวณหน้าผาหลังภูเขาบ้านด่าน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในถิ่นทุรกันดารอย่างหาที่สุดมิได้

นายสุขี แก้วกัญญา อายุ 57 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ตอนนั้นมีอายุ 10 ปี จำความได้ว่าคุณพ่อคุณแม่และญาติๆ พาไปเฝ้ารับเสด็จฯที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดน (มว.318) ได้กราบถวายความเคารพ ในขณะที่ทั้ง 3 พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมประชาชนอย่างใกล้ชิด มีความภาคภูมิใจมากที่ได้เฝ้ารับเสด็จฯ พระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย นับเป็นเกียรติประวัติอันดีงาม ที่ชาวโขงเจียมได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความทรงจำครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต

ในหลวง-รัชกาลที่9-โขงเจียม-อุบล-05.jpg

จากการเสวนาตามรอยเสด็จฯ ทีอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งนี้ คณะกรรมการได้รับทราบข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ มีภาพถ่ายสำคัญ และสถานที่เกี่ยวข้องในการเสด็จฯ อำเภอโขงเจียม เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2513 ซึ่งเป็นข้อมูลทีสืบค้นล่าสุดของจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานทีเกี่ยวข้องจะได้รวบรวม บันทึกรายละเอียดในหนังสือ “ ใต้ร่มพระบารมี 60 ปี ในหลวงเสด็จฯจังหวัดอุบลราชธานี ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 -2536 รวม 12 ครั้ง และชาวอำเภอโขงเจียม จะมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณตามรอยเสด็จฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมสืบไป

ปัญญา แพงเหล่า /รายงาน

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511