guideubon

 

หาบช้างซาแมว ปริศนาธรรม หอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-01.jpg

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เสริมสร้างการรับรู้ร่วมกับชุมชนเกี่ยวกับ โครงการบูรณะโบราณสถานหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง  ที่วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยมีตัวแทนส่วนราชการ ภาคเอกชน  ภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมภายในชุมชนร่วมกัน  

สำหรับการบูรณะหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ครั้งล่าสุดนี้ (พ.ศ.2565-2566) ใช้งบประมาณกว่า 5 ล้าน 3 แสนบาท เป็นการบูรณะโดยเน้นการเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้แก่โบราณสถาน และฟื้นสภาพความเป็นของแท้ดั้งเดิมของโบราณสถานให้ได้มากที่สุด ตามหลักฐานที่ปรากฏ โดยขอบเขตในการบูรณะหอไตรวัดทุ่งศรีเมืองมีหลายส่วน ได้แก่ งานหลังคา  งานเสา ตอม่อ ฝาและชั้นเก็บหนังสือธรรม  งานประตู-หน้าต่าง  งานพื้นหอไตร  งานระบบไฟฟ้าดวงโคม   งานสะพานทางเข้าหอไตร  รวมทั้งงานสระน้ำและภูมิทัศน์

หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง นับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์อันทรงคุณค่า งคงามตามแบบอย่างศิลปะภาคอีสานชั้นสูง ที่เกื้อหนุนกันระหว่างสายวัฒนธรรมของ 3 สกุลช่าง คือ ไทย ลาว และพม่า เคยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 3 ของดีเมืองอุบลราชธานี จนมีคำกล่าวติดปากว่า "พระบทวัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง" กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 48 ตอนที่ 104 วันที่ 30 มิถุนายน 2524 นอกจากนี้ หอไตรวัดทุ่งศรีเมืองยังได้รับรางวัลผลงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นเมื่อ พ.ศ.2527 อีกด้วย

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-02.jpg

หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง สร้างขึ้นราว พ.ศ.2395 อยู่ระหว่างรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัตถุประสงค์ในการสร้าง คือ เพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎก ป้องกันไม่ให้ มด ปลวกไปทำลาย ความชื้นจากน้ำยังช่วยยืดอายุการใช้งานของจารึกต่างๆ ที่อยู่ในใบลาน ไม่ให้เปราะง่ายเนื่องจากความร้อนด้วย

จากหนังสือ "หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง" โดย อ.สุรชัย ศรีใส และ อ.อำนวย วรพงศธร ฉบับตีพิมพ์ พ.ศ.2554 ไกด์อุบลได้ข้อมูลมาว่า หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ได้รับการบูรณะครั้งแรก ในสมัยพระครูวิโรจน์ รัตโนบลหรือ ญาท่านดีโลด ในปี พ.ศ.2508 ด้วยการหาเสาไม้เนื้อแข็งมายันช่วยแรงเสาเก่าที่ชำรุด

พ.ศ.2517 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ โดยการเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาแป้นไม้เป็นสังกะสี รวยและลำของเดิมเป็นไม้เปลี่ยนเป็นปูนแทน เสริมฐานเสาด้วยปูนให้มั่นคงขึ้น

ต่อมา พ.ศ.2523 สมัยพระราชรัตโนบล (พิมพ์ เป็นเจ้าอาวาส กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมใหม่ คือ เปลี่ยนหลังคาสังกะสีมาเป็นกระเบื้อง เสาตอนล่างจากพื้นลงไปในสระได้โบกซีเมนต์เสริมต้นเสา ส่วนช่อฟ้า รวยระกา ของจั่วหน้าบัน เดิมปิดทองประดับกระจก ซึ่งในการซ่อมครั้งนี้ไม่ได้ประดับกระจกดังเดิม

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-03.jpg

พ.ศ.2545 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการบูรณะทั้งสิ้น 2,300,000 บาท แยกเป็นงานบูรณะเสริมความมั่นคงหอไตรและอุโบสถ ปรับปรุงภูมิทัศน์ จำนวนเงิน 1,800,000 บาท และการอนุรักษ์ลายปิดทองลายฉลุภายในหอไตร จำนวนเงิน 500,000 บาท

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-04.jpg

กระทั่งถึงการบูรณะครั้งล่าสุด พ.ศ.2565-2566 กรมศิลปากรได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 จำนวน 5 ล้าน 3 แสนบาท ให้สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ดำเนินงานบูรณะหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ภายใต้แนวคิด เสริมความมั่นคงแข็งแรงให้โบราณสถาน มีความสมบูรณ์สวยงาม และตอบสนองการใช้สอย  รักษาในรูปแบบ วัสดุและเทคนิคดั้งเดิม ศึกษาวิเคราะห์ หาความเป็นของแท้ดั้งเดิม เพื่อขจัดความคลุมเครือที่อาจเกิดขึ้นจากการบูรณะในอดีต

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-05.jpg

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-06.jpg

หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง มีความสวยงาม โดดเด่น มีเอกลักษณ์ แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น หากได้ไปเที่ยวชม ไกด์อุบลขอแนะนำให้สังเกต ระหว่างตัวอาคารและบันได จะไม่มีรอยต่อกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมค ปลวก ที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร ซึ่งจะทำลายใบลานให้เสียหายได้ ตัวอาคารจะใช้การเข้าอิ่มแทนตะปู ส่วนพื้นอาคารจะเป็นร่องเพื่อระบายความชื้น ทำให้ใบลานไม่กรอบและเสียหายง่าย

บริเวณรอบตัวอาคาร มีลูกฟักร่องตีนช้าง (บริเวณใต้หน้าต่าง) แกะสลักเป็นสัตว์ 12 ราศี นิทานชาดก และปริศนาธรรม เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตไว้โดยรอบ จำนวน 60 ช่อง เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพสัตว์แกะสลักล้วนเป็นสัตว์สัญลักษณ์ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น อาทิ เสวยชาติเป็น นาค ราชสีห์ นกกา กินนร ช้างดำ โค กระบือ สุนัขจิ้งจอก กวางทอง ไก่ กระต่าย พญาหนูเผือก และพญาสุกร 

เรื่องราวที่ช่างนำมาแกะสลักที่ลูกฟักร่องตีนช้าง เป็นเรื่องนิทานชาคกบางตอนในพระไตรปีฎก เพื่อใช้เป็นหลักธรรมในการดำรงชีวิตรวมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีการแทรกปริศนาธรรม อุปมาอุปมัยหลักธรรมคำสอนทางศาสนา เอาการทำความชั่ว ความดี มาเปรียบเทียบผ่านภาพเขียนหรือภาพแกะสลัก เช่น

หาบช้างซาแมว เป็นภาพคนหาบช้าง คู่กับแมว เป็นปริศนาธรรม หมายความว่า ถึงแมวตัวจะเล็ก แต่ทว่าการทำบาปกับแมว เป็นเวร เป็นกรรมใหญ่หลวง เมื่อเปรียบเทียบกับช้าง น้ำหนักบาปของแมวตัวเล็ก ก็จะหนักเท่าๆ กับช้างตัวใหญ่เลยทีเดียว

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-07.jpg

สุนัขกัดเต่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จบิณฑบาตกับเหล่าพระสาวก พระองค์ทรงให้พระสาวกทั้งหลาย ลองพิจารณาดูสุนัขตัวหนึ่งกำลังกัดเต่า แล้วพระตฤาคตจึงถามเหล่าพระสาวกว่า สุนัขทำอะไรเต่าได้ไหม แล้วเพราะเหตุใดสุนัขจึงทำอะไรเต่าไม่ได้ เหล่าพระสาวกจึงตอบพระพุทธองค์ว่า "เพราะเต่า หดหัว หดหาง หดขาทั้ง 4 เข้าไปซุกไว้ในรูกระดอง ปิดหมดทั้ง 6 รูกระดอง พระเจ้าข้า" พระตฤาคคจึงแสดงธรรม แก่เหล่าพระสาวกทั้งหลาย พอสรุปได้ว่า "รูกระดองของเต่า เปรียบเหมือน อายตนะทั้ง 6 คือ ดา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเราปีครูทวารทั้ง 6 บรรดากิเลส อาสวะทั้งหลายก็หมดช่องทางที่จะเข้ามาได้"

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-08.jpg

คราวนี้ หากได้เที่ยวชมหอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว นอกจากถ่ายรูปความสวยงามของหอไตร อย่าลืมสังเกตปริศนาธรรมที่แกะสลักอยู่โดยรอบหอไตรด้วยนะครับ

ไกด์อุบล

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-09.jpg

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-10.jpg

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-11.jpg

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-12.jpg

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-13.jpg

หอไตรวัดทุ่ง-หาบช้างซาแมว-14.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511