guideubon

 

เบื้องหลังและเคล็ดลับ ทีมขานนามบัณฑิต ม.ราชภัฏอุบลฯ

ทีมขานนามบัณฑิต-ราชภัฏอุบล-01.jpg

หลังจากที่ไกด์อุบลได้นำเสนอข่าว “ม.ราชภัฏอุบลฯ คว้ารางวัลที่ 1 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรราชภัฏภาคอีสาน” ไป ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก ไกด์อุบลจึงติดตามการทำงานในการฝึกซ้อมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 2 – 4 กันยายน ที่ผ่านมา ณ หอประชุมไพรพะยอม พบเบื้องหลังความสำเร็จของทีมขานนามบัณฑิตที่น่าสนใจที่อยากมาเล่าต่อหลายประเด็น

ทีมขานนามบัณฑิต-เชษฐ์-ศรีไมตรี-01.jpg

โดย อ.เชษฐ์ ศรีไมตรี รองอธิการบดี ในฐานะประธานฝ่ายขานนามบัณฑิตของมหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า “พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ครั้งยังเป็น “วิทยาลัยครู” จำนวน 92 ครั้ง นับถึงปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำแนกเป็น

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รวมครั้งเมื่อยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ด้วย) พระราชทานไปแล้ว 2,314,827 คน
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ พระราชทานไปแล้ว 37,080 คน
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ พระราชทานไปแล้ว 107,934 คน
- ประธานองคมนตรี มอบไปแล้ว 14,177 คน

ก่อนนั้นจะจัดพิธี ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร จนช่วงประมาณปี พ.ศ. 2545 – 2546 ได้เริ่มกระจายไปจัดตามภูมิภาคต่าง ๆ สำหรับภาคอีสานจะจัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร และมีอยู่สองครั้งที่จัด ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีของเรา”

“สำหรับการทำงานฝ่ายขานนามนั้น มีความสำคัญและภาคภูมิใจเหมือนฝ่ายอื่น ๆ โดยผู้ขานนามบัณฑิตนั้นจะทำหน้าที่เหมือนวาทยกร (conductor) และนักดนตรีในคน ๆ เดียว คือ นอกจากจะขานชื่อของบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ยังทำหน้าที่ให้จังหวะการเดินการเข้ารับผ่านการขานนามอย่างมีจังหวะ ควบคุมจังหวะการทำงานต่าง ๆ ในระหว่างพิธี ทั้งการเดิน การเข้ารับ การส่งปริญญาบัตร การพระราชทานปริญญาบัตร หรือแม้กระทั่งช่างภาพที่ใช้จังหวะการขานนามนี้ในการกดซัตเตอร์เพื่อให้ได้ภาพสำคัญ ... ถ้าขานนามดี จะทำให้เพลิดเพลิน ช่วยให้ทุกคนทำงานง่าย และเสร็จงานเร็ว ปกติเราจะขานนามบัณฑิตให้ได้ระหว่าง 36 – 40 คนต่อนาที” อ.เชษฐ์ กล่าว

ทีมขานนามบัณฑิต-กัญญา-สิริลาภโภคิน-01.jpg

ผศ.ดร.กัญญา สิริลาภโภคิน ที่มีประสบการณ์การขานนามบัณฑิตมากกว่า 20 ปี ที่ทำหน้าที่รองประธานฝ่ายขานนามบัณฑิต บอกว่า “เป้าหมายของฝ่ายขานนามบัณฑิต นอกจากจะขานนามบัณฑิตผู้เข้ารับ ฯ ให้ถูกต้อง สร้างความภาคภูมิใจแก่บัณฑิตและญาติมิตรแล้ว ยังต้องสร้างความฮึกเหิม ตื่นตัวให้กับบัณฑิตและผู้ปฏิบัติงานในพิธี แต่แฝงด้วยความไพเราะ เพลิดเพลินไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น การขานนามบัณฑิตจึงเริ่มที่การคัดเลือกอาจารย์ที่

- มีสายตาดี (อันนี้สำคัญมาก)
- มีน้ำเสียงกังวาน ไพเราะ เสียงไม่ก้าวร้าว ไม่แสบแก้วหู ไม่แหลมไม่ทุ้มเกินไป
- มีทักษะด้านภาษาไทย ในการอ่านการออกเสียงที่ถูกต้อง
- มีความกล้าหาญ ใจสู้ มีสติ ไม่หวั่นไหวง่าย ๆ (โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อผิดพลาด)
- และสุดท้ายอาจจะต้องรักสุขภาพ ดูแลตัวเองดี ไม่ประมาทในราชกิจ

โดยเมื่อได้อาจารย์ตามคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว ในการขานนามแต่ละครั้ง ต้องมาวางแผนการจัดลำดับผู้ขานนามบัณฑิตให้ได้ระดับเสียงที่ต่อเนื่องกันให้เกิดความไพเราะ เพลิดเพลิน ไม่เปลี่ยนหรือสลับโทนเสียง จนทำให้ผู้ร่วมพิธีแปลกหู ... ในการทำงานแต่ละครั้งอาจารย์ผู้ขานนามบัณฑิตหนึ่งคน จะขานนามบัณฑิต 180 – 200 รายชื่อ”

ทีมขานนามบัณฑิต-นงลักษณ์-พยัคฆศิรินาวิน-02.jpg

ผศ.ดร.นงลักษณ์ พยัคฆศิรินาวิน ที่ว่ากันว่าเป็นผู้ขานนามบัณฑิตมือดีที่สุดคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน ที่ทำหน้าที่ขานนามปิดท้ายในสองสามครั้งหลัง เปิดเผยเทคนิคและวิธีเตรียมตัวทำหน้าที่ขานนามบัณฑิตว่า “เมื่อได้รายชื่อจากฝ่ายรับลงทะเบียนบัณฑิตแล้ว ลำดับแรกต้องไปขยายตัวหนังสือให้มันใหญ่ และชัด (หัวเราะ) สองคือชื่อของบัณฑิตที่อ่านยาก ต้องไปสะกดให้อ่านง่าย/คล่องขึ้น บางชื่อมีจะการันต์หรือวรรณยุกต์เยอะ ๆ ก็ต้องเอาไปเขียนใหม่เพื่อออกเสียงได้ง่ายและถูก เมื่อพิมพ์รายชื่อออกมาแล้ว

ลำดับที่สาม ต้องใช้ปากกาไฮไลต์มาขีดระบาย ถ้าคำนำหน้าเป็น “นาย” ก็เอาปากกาไฮไลต์มาระบายไว้ เพื่อให้ผู้กำกับการขานนามเห็นกับเราด้วยว่าบัณฑิตที่เข้ารับผู้ชายหรือผู้หญิง? รายชื่อตรงกับที่เข้ารับหรือไม่? เวลาที่บัณฑิตเข้ารับไม่ตรงกับที่อ่าน ผู้กำกับจะได้เห็นและช่วยชี้รายชื่อดักไว้ ให้เราอ่านได้ตรงกับชื่อบัณฑิตที่เข้ารับ ส่วนการขานชื่อ หากบัณฑิตชื่อสั้น ๆ ก็จะอ่านแบบเอื้อนคำเพื่อให้เต็มห้องจังหวะ หากชื่อยาวก็ต้องอ่านรวบคำให้จบลงในห้องจังหวะห้องหนึ่งให้ได้

การเตรียมตัวก่อนงานพิธี ฯ จะไม่ดื่มน้ำเย็นเด็ดขาด เรียกว่าต้องงดกาแฟเย็นเกือบเดือนเลยก็ว่าได้ แต่ละวันรีบนอนพักผ่อน มีวินัยและรับผิดชอบตนเองโดยไม่ไปอยู่ในที่คนพลุกพล่าน เวลาซ้อมจะพกแมสตลอดเวลา ดูแลตัวเองห้ามเจ็บห้ามป่วยห้ามไข้ทุกอย่าง ทำใจให้สบาย และเวลาทำงานจะเชียร์และเอาใจช่วยเพื่อน ๆ ในทีม ทุกคนจะได้มีกำลังใจ”

ทีมขานนามบัณฑิต-ธิดารัตน์-จันทะหิน-01.jpg

ส่วน ผศ.ดร.ธิดารัตน์ จันทะหิน อธิบายว่า “สำหรับตนเองจะซ้อมขานชื่อช้า ๆ ออกเสียงอักขระให้ถูกต้อง ซ้อมทุกวัน ปกติตนจะตื่นเช้า จะซ้อมตอนเช้าและซ้อมหลังจากเลิกงาน เทคนิคคืออ่านและใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกเสียงไว้ เพื่อมาเปิดฟัง เช็กการออกเสียงว่าเราออกเสียงชื่อบัณฑิตถูกต้องหรือไม่? ช้าหรือเร็วเกินไปหรือไม่? แล้วฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ”

ส่วนการเตรียมตัว เล่าต่อว่า “ต้องงดน้ำเย็น พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย ต้องพร้อมปฏิบัติหน้าที่ หากติดโควิดหรือป่วยกะทันหันขึ้นมาหน้าที่ขานนามบัณฑิตนั้นไม่สามารถหาคนมาขานนามแทนในหน้างาน”

สำหรับเทคนิคเมื่ออยู่หน้าไมค์ ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บอกว่า “ปกติเป็นคนฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ตื่นเต้นอย่างไร ก็จะช่วยให้ควบคุมตนเองได้ เมื่อปฏิบัติหน้าที่จะใช้วิธีดื่มน้ำด้วยการจิ๊บทีละน้อย เพื่อไม่ให้คอแห้งเท่านั้น ตนเองและครอบครัวมีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่นี้มาก โดยเฉพาะการได้รับรางวัลพระราชทานในปีที่ผ่าน ทำให้ยิ่งภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่นี้ให้แก่บัณฑิตของเรา”

ทีมขานนามบัณฑิต-อัญญาณี-อดทน-01.jpg

ปิดท้ายที่ ผศ.อัญญาณี อดทน ในฐานะเลขานุการฝ่ายขานนามบัณฑิต ที่ขานนามบัณฑิตมานับสิบปี และมีความโดดเด่นในการขานนามได้อย่างสนุก เพลิดเพลิน ที่สุดคนหนึ่ง บอกเราว่า “ยังตื่นเต้นทุกครั้งที่ทำหน้าที่ พยายามตั้งสติ ค่อย ๆ ดูรายชื่อบัณฑิตและสังเกตจังหวะเดินของบัณฑิต ตำแหน่งขานนามบัณฑิตเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากตำแหน่งหนึ่ง เพราะเป็นผู้กำกับจังหวะการเข้ารับของบัณฑิต ถ้าเราอ่านดี บัณฑิตเดินดี จังหวะดี งานทุกอย่างบนเวทีจะเรียบร้อย ทำให้ผลงานโดยรวมของมหาวิทยาลัยออกมาดี

และที่สำคัญคือการได้ขานนามหรืออ่านชื่อบัณฑิตที่เป็นลูกศิษย์ที่เราได้สอนมา ทำให้ภูมิใจและยินดีในตัวบัณฑิต ดีใจที่ได้ทำหน้าที่ส่งเขาสู่ความสำเร็จ โดยเพราะในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของบัณฑิต”

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นอีกงานหนึ่งที่มีเรื่องราวและเทคนิควิธีมากมายให้เราได้เรียนรู้และได้ข้อคิดในการทำงานที่ว่า “งานทุกงาน ทั้งงานเล็กหรืองานใหญ่ หากเราใส่ใจลงไปในรายละเอียด ทำด้วยความรู้จริงและตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ย่อมส่งผลสัมฤทธิอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติหรือผู้เกี่ยวข้องทุกคน” เหมือนดังหน้าที่เล็ก ๆ ของคนกลุ่มหนึ่งที่เกิดจากความมุ่งมั่น จนเป็นประโยชน์และผลดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

ทีมขานนามบัณฑิต-ราชภัฏอุบล-03.jpg

ทีมขานนามบัณฑิต-ราชภัฏอุบล-04.jpg

รายชื่อฝ่ายขานนามบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

1. อ.ว่าที่ ร.ต.เชษฐ์ ศรีไมตรี ประธานฝ่ายขานนามบัณฑิตของมหาวิทยาลัย 
2. ผศ.ดร.กัญญา สิริลาภโภคิน รองประธานฝ่ายขานนามบัณฑิต
3. อ.ดร.สุจิตรา สืบนุการณ์
4. ผศ.ดร.อนันต์ แม้นพยัคฆ์
5. ผศ.ดร.ธิดารัตน์ จันทะหิน
6. ผศ.ว่าที่ ร.ต. ดร.เด่นดวงดี ศรีสุระ
7. ผศ.วิภา มะลา
8. ผศ.วันวิสา มากดี
9. รศ.ภิชญาพร อยู่คล้ำ

10. ผศ.ดร.ประไพพิศ เลียบสื่อตระกูล
11. อ.ดร.รัตนาภรณ์ แซ่ลี้
12. อ.กนกศักดิ์ ธานี
13. อ.ปารดา วรรณประภา
14. อ.ปรีดา กังแฮ
15. อ.ภัทรา สวนโสกเชือก
16. ผศ.ประกายรุ่ง จวนสาง
17. อ.ดร.จักรวาล วงศ์มณี
18. ผศ.อัญญาณี อดทน เลขานุการฝ่ายขานนามบัณฑิต
19. ผศ.ดร.นงลักษณ์ พยัคฆศิรินาวิน

ภาพ/ข่าว : งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ทีมขานนามบัณฑิต-ราชภัฏอุบล-06.jpg

ทีมขานนามบัณฑิต-ราชภัฏอุบล-07.jpg

ที่1-พิธีพระราชทานปริญญาบัตร-01.jpg

ม.ราชภัฏอุบลฯ คว้ารางวัลที่ 1 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรราชภัฏภาคอีสาน

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511