guideubon

 

จารึกด้านหลังซุ้มเรือนแก้ว พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง วัดมหาวนาราม

ซุ้มเรือนแก้ว-พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง-01.jpg

วัดมหาวนาราม เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เดิมมีชื่อว่า "วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์" ภายหลังเรียกว่า "วัดป่าใหญ่" และต่อมาเปลี่ยนเป็น "วัดมหาวนาราม" ตามสมัยนิยม นับว่ามีความสำคัญยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดี มาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นพระอารามที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อินแปลง พระพุทธรูปองค์ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบลราชธานี

ซุ้มเรือนแก้ว-พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง-02.jpg

พระครูสารกิจโกศล ดร. เจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม เมตตาให้ข้อมูลไว้ว่า พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร งดงามด้วยพุทธศิลป์แบบล้านช้าง โดยองค์พระเป็นปูนปั้นที่เรียกว่า ปูนชะทายคือการใช้ดินโพนผสมกันกับกาวหน้า แล้วนำมาโบกคล้ายกับซีเมนต์ จึงนำมาลงรักปิดทอง นามของพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงนั้น หมายถึง พระพุทธรูปที่พระอินทร์มาสร้างขึ้น มีตำนานกล่าวว่า มีทั้งสิ้น 3 องค์ คือ องค์หนึ่งอยู่ที่เวียงจันทร์ องค์หนึ่งนครพนม และองค์ที่อยู่วัด มหาวนารามแห่งนี้นี่เอง

ซุ้มเรือนแก้ว-พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง-03.jpg

จากหลักฐานศิลาจารึกวัดป่าใหญ่ ผู้สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง คือ ท่านพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ ได้พร้อมใจกันสร้างแล้วเสร็จ ทำพิธีพุทธาพิเษก และเบิกเนตรแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จ.ศ.1169 ปีเมิงเหม้า ตรงกับ พ.ศ.2350 นพศก เมื่อยามแถใกล้ค่ำ (ประมาณ 15.00-16.30 น.) เจ้าเมืองอุบลในขณะนั้นคือ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เป็นเจ้าเมืองคนที่ 2 ซึ่งได้มาสร้างวิหารในวัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2348 และมาแล้วเสร็จในปีเดียวกันนี้ ด้วย

ซุ้มเรือนแก้ว-พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง-04.jpg

หลังจากสร้างวิหารได้ 2 ปี จุลศักราชได้ 189 ตัว (พ.ศ.2350) ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดประจำเจ้าเมืองคนที่สอง และในปีเดียวกัน พระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา จึงได้นำพาศิษยานุศิษย์ ก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ประธานในวิหารและขนานนามว่า "พระเจ้าอินแปง" พร้อมกับนำดินทรายเข้าวัด

ซุ้มเรือนแก้ว-พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง-05.jpg

ซึ่งเหตุการณ์ในการก่อสร้างพระเจ้าอินแปงนั้นได้รับคำกล่าวขานว่า เมื่อช่างได้ปั้นพระเจ้าอินแปง จนกระทั่งถึงบริเวณพระพักตร์ ก็ได้มีฝนตก ฟ้าร้องอยู่ตลอดเวลา ใกล้จะเสร็จอยู่แล้ว เพราะเหลือแต่การตกแต่งให้สวยงามเท่านั้น จึงได้พากันเลิกงานปั้นพระพักตร์ไว้ก่อน จากนั้นได้พากันกลับบ้าน พอถึงตกดึกก็ได้มีแสงสว่างเต็มบริเวณวัดไปหมด และเกิดลำแสงพวยพุ่งสู่อากาศ ผู้คนก็ต่างตื่นตกใจและวิ่งมาดูในวัด ก็ไม่เห็นมีอะไร จึงกลับสู่บ้านเรือนของตน พอรุ่งเช้าก็ปรากฎว่า พระพักตร์ที่ยังตกแต่งไม่เสร็จนั้นก็ได้สำเร็จเรียบร้อยสวยงามเป็นอย่างยิ่ง พอเห็นเป็นอย่างนั้น ชาวบ้านก็พูดว่าเทวดามาสร้าง พระอินทร์แปลงร่างมาสร้าง แปลงร่างลงมาเป็นตาผ้าขาวมาสร้าง จึงได้สวยงามอย่างนี้ ถ้าเป็นคนธรรมดามาสร้างจะไม่สวยงามได้เพียงนี้ เหตุนั้นจึงได้ขนานนามว่า "พระเจ้าอินแปง" และต่อมาจึงเรียกว่า พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง จึงเกิดความเลื่อมใส และเชื่อมั่นว่าการที่พระพักตร์ของพระองค์พระเจ้าอินแปง ได้รับการตกแต่งจากพระอินทร์ ซึ่งแสดงถึงความความมหัศจรรย์ในพุทธานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญบารมีแห่งพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา บารมีแห่งเทวานุภาพขององค์อัมรินทราธิราช

ซุ้มเรือนแก้ว-พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง-06.jpg

สำหรับซุ้มเรือนแก้ว ที่ด้านหลังขององค์พระประธาน พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง มีข้อความสลักไว้ด้านหลังระบุว่า นางแกล้วกาญจนเขตร์ (ประทุม อรุณวงศ์) นางตุ่น แซ่ตั้ง 1 ตัว นางคำผูย โกศัลวิตร์ นางแก้วพา ประทุมทอง นางประสารโทระ กิจ (หมิ) กับอิกหลายคน ช่วยเล็กน้อย 4 ตัว สร้างเรือนแก้วนี้ 100 บาท SIAM พ.ศ.2479 พ.ส่งศรี กับนายนา เป็นช่างทำ (พ.ส่งศรี น่าจะหมายถึง นายโพธิ์ ส่งศรี ช่างเทียนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น : ไกด์อุบล)

เรียบเรียงโดย ไกด์อุบล

ซุ้มเรือนแก้ว-พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง-07.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511