guideubon

 

มีลูกศิษย์เอารถยนต์มาถวาย แต่หลวงปู่ชา ไม่รับเพราะสาเหตุนี้

หลวงปู่ชา-วัดหนองป่าพง-ไม่รับรถยนต์-01.jpg

ทุกปี เมื่อถึงวันที่ 12-17 ของเดือนมกราคม พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ศิษยานุศิษย์ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนนับหมื่น จะเดินทางมาร่วมปฏิบัติธรรม ถวายเป็นอาจาริยบูชา รำลึกถึง ‘หลวงปู่ชา’ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) แห่งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำรบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่หลวงปู่ชา ละสังขาร 26 ปีที่ผ่านมา

หลวงปู่ชา-วัดหนองป่าพง-ไม่รับรถยนต์-02.jpg

ด้วยวัตรปฏิบัติที่งดงามของหลวงปู่ชา จึงมีเรื่องเล่ามากมายในหมู่ศิษยานุศิษย์ ดังเช่น หลังจากที่ หลวงปู่ชา สุภทฺโท ท่านได้ริเริ่มบุกเบิก วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 เป็นต้นมา วัดนี้ก็ค่อยๆ เติบโตจนกลายเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเหตุให้มีผู้คนหลั่งไหลมาจาริกบุญ ศึกษาธรรมที่วัดนี้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งมีความคิดว่า วัดหนองป่าพงควรมีมูลนิธิเหมือนอย่างวัดอื่นบ้าง เพื่อวัดจะได้มีทุนดำเนินงานอย่างมั่นคง

เมื่อลูกศิษย์นำความดังกล่าวไปปรึกษาหลวงปู่ชา ประโยคแรกที่ท่านตอบก็คือ "อย่างนั้นก็ดีอยู่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ถูกต้อง" แล้วท่านก็ให้ความเห็นต่อว่า "ถ้าพวกท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว คงจะไม่อด พระพุทธเจ้าท่านก็ยังไม่เคยมีมูลนิธิเลย ท่านก็โกนหัวปลงผมทำอะไรเหมือนพวกเรา ท่านก็ยังอยู่ได้ ท่านได้ปูทางไว้ให้แล้ว เราก็เดินตามทางก็น่าจะพอไปได้นะ" แล้วหลวงปู่ชาก็สรุปว่า

"บาตรกับจีวรนี่แหละ มูลนิธิที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้ให้ เรากินไม่หมดหรอก"

หลวงปู่ชา-วัดหนองป่าพง-ไม่รับรถยนต์-03.jpg

หลวงปู่ชาเป็นอยู่อย่างมักน้อยสันโดษมาก กุฏิของท่านแทบจะโล่ง เพราะมีแต่เตียงนอนและของใช้ที่จำเป็น เช่น กระโถน ไม่มีของใช้ฟุ่มเฟือยเลย ส่วนวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ญาติโยมนำมาถวายอยู่เสมอนั้น ท่านก็ส่งต่อไปให้ลูกศิษย์ตามวัดสาขาต่างๆ หมด ท่านไม่เคยมีบัญชีเงินฝากส่วนตัว ปัจจัยหรือเงินทำบุญที่โยมถวายนั้น ท่านให้เป็นของกลางหมด "เราพอกิน พออยู่แล้ว จะมากอะไรทำไมนะ กินข้าวมื้อเดียว" ท่านเคยพูดให้ฟัง

บ่อยครั้งที่โยมมาตัดพ้อต่อว่า เพราะได้ปวารณาถวายปัจจัยไว้ให้ท่านใช้ในกิจส่วนตัว แต่หลวงปู่ชาท่านไม่เคยเรียกใช้สักที ท่านเคยปรารภกับลูกศิษย์ว่า

"ยิ่งเขามาปวารณาแล้ว ผมยิ่งกลัว"

หลวงปู่ชา-วัดหนองป่าพง-ไม่รับรถยนต์-04.jpg

คราวหนึ่งมีผู้เอารถไปถวายหลวงปู่ชา รบเร้าให้หลวงปู่รับให้ได้ โดยขับมาจอดหลังกุฏิท่าน แล้วเอากุญแจใส่ย่ามท่านไว้ แต่ปรากฏว่าหลวงปู่ชาท่านไม่เคยไปดูรถคันนั้นเลย พอออกจากกุฏิท่านจะเดินไปทางอื่น จะไปในเมือง ท่านก็ขึ้นรถคันอื่น หลังจากนั้น 7 วัน ท่านก็เรียกโยมคนหนึ่งมาหาแล้วบอกว่า "ไปบอกเขาเอารถกลับคืนไปนะ เอามาถวายข้อย ข้อยก็รับไปแล้ว เดี๋ยวนี้ข้อยจะส่งคืน มันไม่ใช่ของพระ"

หลวงปู่ชา-วัดหนองป่าพง-ไม่รับรถยนต์-05.jpg

อีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ชาท่านจะไปวัดถ้ำแสงเพชร ลูกศิษย์ที่มีรถส่วนตัวคันงามยี่ห้อดัง ต่างแย่งกันนิมนต์ให้ท่านขึ้นรถของตนซึ่งจอดเรียงรายอยู่ที่ลานวัดให้ได้ หลวงปู่ชาท่านกวาดตาดูสักครู่ ก็ชี้มือไปที่รถเก่าบุโรทั่งคันหนึ่งพร้อมกับพูดว่า "อ้า ไปคันนั้น" เจ้าของได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจสุดขีด รีบเปิดประตูนิมนต์ให้หลวงปู่ชาท่านนั่ง

ว่ากันว่าการเดินทางวันนั้นใช้เวลานานกว่าปกติ เพราะขบวนรถคันงามความเร็วสูงต้องค่อยๆ ขับตามหลังรถโกโรโกโสไปโดยดุษณีภาพ...

มีคนอยากถวายรถยนต์ให้หลวงปู่ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี แต่แทนที่ท่านจะตอบรับ ท่านได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์วัดหนองป่าพงหลังสวดปาฏิโมกข์เพื่อฟังความเห็นพระสงฆ์ ทุกรูปเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะรับด้วยเหตุผลว่า สะดวกแก่หลวงพ่อเวลาไปเยี่ยมสำนักสาขาต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า 40 สาขา ในเวลานั้น อีกทั้งเวลาพระเณรอาพาธก็จะได้นำส่งหมดได้ทันท่วงที

หลังจากที่หลวงปู่ชารับฟังความคิดเห็นของที่ประชุมแล้ว ท่านก็แสดงทัศนะของท่านว่า

“สำหรับผม มีความเห็นไม่เหมือนกับพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ เป็นผู้สงบระงับ เราต้องเป็นผู้มักน้อย สันโดษ เวลาเช้าเราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาตรับอาหารจากชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิต เพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านส่วนมากเขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารจากเขา เรามีรถยนต์แต่เขาไม่มี นี่ลองคิดดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี สักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ารถวัดนั้นคว่ำที่นี่ รถวัดนี้ไปชนคนที่นี่.. อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษา

เมื่อก่อนนี้ จะไปไหนแต่ละทีมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อนไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ไปธุดงค์กันจริงๆ ขึ้นเขาลงห้วยมีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพองทีเดียว

แต่ทุกวันนี้พระเณรเขาธุดงค์มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยว ดูบ้านนั้นเมืองนี้กัน ผมเรียกทะลุดง ไม่ใช่ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมีทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันเลย ไม่มีรถก็ช่างเหอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติดีเข้าไว้ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้าก็เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก”

“ผมไม่รับรถยนต์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างให้เหนื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้

อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย”

หลวงปู่ชา-วัดหนองป่าพง-ไม่รับรถยนต์-06.jpg

ทำไม หลวงปู่ชา สุภัทโท แห่ง วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี จึงไม่ยอมบวชให้ใครง่ายๆ ในยุคของหลวงปู่ชาไม่ค่อยมีใครที่จะสวนกระแสประเพณีบวชชั่วคราว และการอนุญาตให้บวชได้แต่โดยง่าย แต่สำหรับหลวงปู่ชาแล้ว ท่านต้องให้บวชเป็นปะขาว เป็นเวลา ๑ ปีเสียก่อน จากนั้นจึงบวชเป็นสามเณรอีกหนึ่งปี และแม้จะได้บวชเป็นพระแล้ว ก็ต้องอาศัยอยู่กับท่านอีกถึง ๕ ปีการที่จะมีพระลูกศิษย์กับพระอาจารย์ ที่ให้ความสำคัญกับภาระหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกันตามพระวินัยได้ถึงระดับนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีให้เห็นเช่นกันเคยมีคนบ่นว่า “ทำไมต้องให้ลำบากลำบนถึงขนาดนั้นด้วย ทำไมไม่บวชให้เขาเร็วกว่านั้นหน่อย”

หลวงปู่ชาตอบว่า “บวชง่าย ก็สึกง่าย”

คือ ถ้าหากคนบวชเป็นพระได้ง่ายเกินไป ไม่นานหรอก ก็จะเตลิดหนีไปไหนต่อไหนได้ง่ายเช่นกัน แล้วถ้ามีแต่เที่ยวไปโน่นมานี่ ทำโน่นทำ นี่หลายๆ อย่างมากเกินไป ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร ปฏิบัติไปก็ไม่ได้ผล ผู้ปฏิบัติจึงต้องตั้งจิตอุทิศตนให้กับการฝึกฝน เพื่ออบรมข้อปฏิบัติให้ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ การรักษาความมุ่งมั่นตั้งใจแบบนั้นไว้ให้ได้ เป็นสิ่งที่ท่านพยายามย้ำอยู่เสมอ ผู้ที่เอาใจใส่ไม่ทอดธุระในการปฏิบัติเท่านั้น จึงจะได้รับผลและเห็นอานิสงส์จากการปฏิบัติ

ข้อมูลจาก Line Group