guideubon

 

งานเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำ ประจำปี 2566

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-01.jpg

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ลานหม่อมเจียงคำ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีการจัดงานเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำชุมพล ณ อยุธยา ประจำปี 2566 ครั้งที่ 16 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหลล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี /ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการกองทุนเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำอนุสรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ร่วมในพิธี

ภายในงานมีพิธีทางพระพุทธศาสนา ทอดผ้าบังสุกุล ถวายปัจจัยเครื่องไทยธรรม และการวางขันหมากเบ็ง ตามวิถีของชาวอีสานที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน รวมถึงการกล่าวคำเชิดชูเกียรติ ที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านการอุทิศทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน ตั้งเป็นสถานที่ราชการของจังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนเชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา อย่างสมเกียรติ และมอบรางวัลหม่อมเจียงคำ ประจำปี 2566 โดยในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัล จำนวน 5 ท่าน ได้แก่

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-02.jpg

1. นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง
2. นางกลิ่นขจร แก้วกัญญา
3. นางปาริชาติ สุภิมารส
4. นางสาวอุบลกาญจน์ โหตระไวศยะ
5. นางวิยะดา อุนนะนันทน์

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-03.jpg

คำกล่าวยกย่องเชิดชูเกียรติ และรำลึกหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ท.จ. ประจำปี 2566 (ปีที่ 16) โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 ณ ลานหม่อมเจียงคำ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นหม่อมในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยุค ร.ศ.112 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ฝ่ายใน เมื่อ พ.ศ.2455

ชาติกำเนิดของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา สืบเชื้อสายมาจากบรรพชนที่มีประวัติไว้ คือ เจ้าปางคำ ผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู) อยู่ในลำดับเครือญาติชั้นที่ 2 เป็นธิดาของท้าวสุรินทร์ชมพู (หมั้น) กับนางดวงจันทร์ เป็นหลานท้าวสุ่ย ราชบุตรเมืองอุบลราชธานี

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-04.jpg

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงดำเนินการปรับปรุงประเทศ ทั้งในส่วนกลางและหัวเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองล่างฝ่ายตะวันออก ได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ มาประทับที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.2436 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงพอพระทัย นางเจียงคำ ธิดาท้าวสุรินทร์ชมพู จึงขอมาเป็นชายา ต่อญาติผู้ใหญ่ คือ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) พร้อมด้วยญาติผู้ใหญ่ มีความยินดี จึงอนุญาตนางเจียงคำเป็นหม่อม

ทรงมีโอรสร่วมกัน 2 องค์ คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน ชุมพล และหม่อมเจ้า กมลีสาน ชุมพล

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-05.jpg

คุณูปการ

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นผู้เสียสละพื้นที่ดินเป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของท่านและคณะญาติ มอบให้เป็นมรดกของชาวอุบลราชธานี ได้แก่

แปลงที่ 1 เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
แปลงที่ 2 เป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี
แปลงที่ 3 เป็นบริเวณทุ่งศรีเมือง และโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี (เดิมเป็นโรงเรียนนารีนุกูล)
แปลงที่ 4 บริเวณที่ตั้งศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลแขวงอุบลราชธานี และบริเวณบ้านพักผู้พิพากษา
แปลงที่ 5 เป็นบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
แปลงที่ 6 เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหลังเดิม อยู่ด้านทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง (ก่อนตั้งศาลากลางหลังเดิม เป็นที่ตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังเดิม
แปลงที่ 7 เป็นที่ดินที่ท่านได้มอบเป็นมรดกของโอรส - พระองค์ ซึ่งต่อมาโอรสได้มอบให้ทางราชการเมื่อ พ.ศ.2475 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-06.jpg

แบบอย่างกุลสตรี เมืองอุบลราชธานี

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้รับการถ่ายทอดการประพฤติปฏิบัติตนของบรรพชนมาเป็นอย่างดี ได้แก่ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความเคารพ ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีน้ำใจ ความสง่างาม ความเป็นผู้ดี และวิถีความเป็นแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ผ่านการแสดงออกทางกิริยาท่าทาง ในลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม คือ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาพศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล งานช่างฝีมือดั้งเดิม การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว จนกลายเป็นมรดกของกุลสตรีเมืองอุบลราชธานี ตราบมาเท่าทุกวันนี้

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-07.jpg

การถึงแก่อนิจกรรม

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้ปฏิบัติหน้าที่ชายา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสาธารณชน

และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จนิวัตรกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2453 หม่อมเจียงคำได้ตามเสด็จด้วย และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ สิ้นพระชนม์ หม่อมเจียงคำ จึงกลับมาพักที่วังสงัด เมืองอุบลราชธานี จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481

จังหวัดอุบลราชธานี จึงขอยกย่องเชิดชูเกียรติ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา แบบอย่างกุลสตรีของชาวอุบลราชธานี ไว้ ณ ที่นี้

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-08.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-09.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-10.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-11.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-12.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-13.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-14.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-15.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-16.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-17.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-18.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-19.jpg

วันรำลึก-หม่อมเจียงคำ-2566-20.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511