การก่อสร้าง ศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี
นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระประทุมสุรราช (เจ้าคำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ และยกฐานะเมืองอุบลเป็น “เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล ประเทษราช" เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1151 ตรงกับปี พ.ศ.2335 แล้วก็ตาม เมืองอุบลฯ ก็ยังไม่มีศาลหลักเมืองไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน กระทั่งต้นปี พ.ศ.2515 พลตำรวจตรี วิเชียร ศรีมันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้น พร้อมด้วยผู้มีชื่อเสียงในจังหวัดอุบลราชธานีหลายท่าน ได้ไปกราบนมัสการเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นพระสงฆ์ผู้ใหญ่ชาวอุบลฯ ซึ่งเป็นที่เคารพโดยทั่วไป เพื่อปรึกษาหารือว่า
“ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดใหญ่ หัวเมืองเอกมาตั้งแต่อดีตกาล มีชื่อว่า “ ราชธานี ” เพียงแห่งเดียว มีความเจริญรุ่งเรืองมานาน แต่ยังไม่มีการยกเสาหลักเมือง ให้เป็นมิ่งขวัญแก่ประชาราษฎร สำหรับยึดถือเป็นหลักชัยทางจิตใจ ให้มีความมั่งคง เชื่อในหลักบ้านหลักเมือง เป็นการผดุงกำลังใจให้แน่วแน่ในการดำรงชีพ โดยอนุภาพของหลักเมือง จะเป็นหลักชัยให้ประชาราษฎรในบ้านเมืองอุบลฯ อยู่เย็นเป็นสุข รุ่งเรืองสถาพรตลอดกาล จึงเห็นสมควรสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ณ ที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ กลางเมืองอุบลราชธานี ”
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ พิเคราะห์พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง แต่ให้สอบถามความเห็นชาวบ้านชาวเมืองส่วนใหญ่ ให้เป็นการพร้อมเพรียงกันก่อน อย่าให้เกิดการขัดแย้งหรือมีปัญหาตามมาในภายหลัง เมื่อดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆ พร้อมแล้ว จึงกำหนดวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมือง ในวันที่ 27 สิงหาคม 2515 โดยเจ้าพระคุณสมเด็จมหาวีรวงศ์ ให้ฤกษ์และเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์
กรมศิลปกรได้ออกแบบเสาหลักเมืองเป็นยอดบัวตูม โดยใช้ไม้ราชพฤกษ์ เมื่อการก่อสร้างศาลหลักเมืองฯ เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว นายเดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุฎมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2519
เมื่อมีการก่อสร้างศาลหลักเมือง ก็จะต้องมีการประกอบพิธีอัญเชิญเทวดา เข้าสิ่งสถิตในหลักเมืองเป็นพิธีสำคัญ ต่อมาปี พ.ศ. 2531 เรือตรีดนัย เกตุศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบราชธานีร่วมกับนายประจวบ ศรีธัญรัตน์ นายกเทศมาตรีเมืองอุบลราชธานี และนายบำเพ็ญ ณ อุบล อดีตอัยการขั้นฎีกาเขต 4 ขอนแก่น พร้อมกับหลักชัยไม้เท้าผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวบ้านชาวเมืองอุบลฯ ทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกัน จัดขบวนแห่อัญเชิญวิญญาณ “ เสด็จเจ้าหอคำ ” ญาติผู้ใหญ่ชั้นสูง หรือตาทวดของเจ้าคำผง เข้าสิงสถิตย์หลักเมืองอุบล เมื่อเดือนกรกฎาคม 2531 ก่อนวันเข้าพรรษา คือวันแห่ต้นเทียน 2 วัน
ตามฮีตสิบสองมีว่า พอเมื่อเดือนเจ็ด ให้พากันบูชาเทวดาอารักษ์หลักเมือง ทั้งมเหศักดิ์ด้วย เพื่อขอความคุ้มครองจากเทวดาอารักษ์ มเหศักดิ์เมือง ปู่ตาเมือง ให้ปกปักรักษาบ้านเมือง ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีเหตุเภทภัยต่างๆ มากล้ำกราย ในปี พ.ศ.2531 สมัยเรือตรีดนัย เกตุสิริ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จึงกำหนดให้ทุกวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 7 ของทุกปี ให้จัดพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง เป็นประเพณีสืบต่อกันมา สำหรับปีนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565
กำหนดการโดยสังเขป
จากที่ทำข่าวมาทุกปี
เวลา 06.00 น. - คณะกรรมการการจัดงาน พนักงาน แขกผู้มีเกียรติ ประชาชน
เวลา 06.50 น. - ประธานในพิธี ( ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ) เดินทางมาถึงบริเวณพิธี
เวลา 07.00 น. - ประธานประกอบพิธีบูชาพระรัตนตรัย พระอาราธนาศีล รับศีล
- ประธานในพิธี และแขกผู้มีเกียรติ ทำบุญตักบาตรพระเถระจำนวน 9 รูป
เวลา 08.09 น. - ประธานประกอบพิธีผูกผ้าสามสี และคล้องพวงมาลัย
- พราหมณ์เชิญประธานในพิธีจุดธูป เทียนชัยคู่
- พราหมณ์สวดอัญเชิญเทพ เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
- พราหมณ์เชิญประธานในพิธีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จุดธูปเทียนบูชาเครื่องสังเวย
- พราหมณ์เชิญประธานในพิธี จุดเทียนบายศรี
- พราหมณ์ประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ และบวงสรวง
- พิณ แคน และปี่พาทย์ บรรเลง
- ผู้ทรงเจ้ารำบวงสรวง
เวลา 10.00 น. - ปู่ตาแผ่นดิน รำเบิกส่งกระทงเบิกบ้านเบิกเมืองเมื่อถึงเวลาอันสมควรเบิกออก
- เสร็จพิธี