guideubon

 

สาววัย 44 ปี เรียน ป.ตรี ม.อุบลฯ ภาษาเวียดนาม เติมเต็มชีวิต

ดา-วนิดา-คุ้มอนุวงศ์-ภาษาเวียดนาม-01.jpg

การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด และไม่แก่เกินวัย ยังใช้ได้จริงในทุกยุคทุกสมัย เฉกเช่น วนิดา คุ้มอนุวงศ์ หรือ “ดา” นักศึกษาใหม่ วัย 44 ปี ชาวนนทบุรี ที่เชื่อมั่นในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เข้าศึกษาในสาขาภาษาเวียดนามและการสื่อสาร เรียนเต็มหลักสูตร 4 ปี ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นอายุห่างกันกว่า 25 ปี พร้อมตั้งมั่นในอุดมการณ์ที่จะต้องศึกษาให้สำเร็จจนได้ ทดแทนช่วงเวลาและโอกาสที่ขาดหายในช่วงหนึ่งของวัยเรียน กับบททดสอบที่ท้าทายของช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ เป้าหมายสูงสุดคือความสุขบนเส้นทางสายวรรณกรรม และบทกวีภาษาเวียดนาม

ดา-วนิดา-คุ้มอนุวงศ์-ภาษาเวียดนาม-02.jpg

ภายหลังเปิดภาคการศึกษา ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2559 ซึ่งนักศึกษาหลายคนเริ่มปรับตัวในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างลงตัว ทั้งการเรียน กิจกรรม เรียนรู้มิตรภาพใหม่จากเพื่อนพ้องน้องพี่ในสถาบันเดียวกัน การปรับตัวของเพื่อนต่างวัยของนักศึกษาใหม่ที่ชื่อ วนิดา คุ้มอนุวงศ์ หรือ “ดา” อายุ 44 ปี กับเพื่อนรุ่นน้องอายุ 19 ปี ห่างกันกว่า 25 ปี คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้หญิงร่างเล็ก ผมยาว มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ที่พกพาความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม อัธยาศัยดีคนนี้

ดา-วนิดา-คุ้มอนุวงศ์-ภาษาเวียดนาม-04.jpg

อนึ่ง ยังเป็นผู้มีผลงานประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งงานเขียนวรรณกรรม หนังสือ ตำราอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ ชุดกินดื่มต้านโรคมะเร็ง โรคไต ภาวะกระดูกพรุน ฯลฯ นามปากกา “วนิดา คุ้มอนุวงศ์” อีกทั้ง ยังมีผลงานทางด้านรายการโทรทัศน์หลากหลาย งานอีเว้นท์วรรณกรรม เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่ใช่ธรรมดากับการตัดสินใจมาเรียนในครั้งนี้

ดา-วนิดา-คุ้มอนุวงศ์-ภาษาเวียดนาม-03.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรียาภรณ์ เจริญบุตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ กล่าวว่า นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการศึกษาที่ไม่จำกัดอายุหรือพื้นที่ ทราบมาว่า คุณวนิดา คุ้มอนุวงศ์ ได้แรงบันดาลใจมาจาก ดร.สิริวงษ์ หงส์สวรรค์ อดีตอาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว เชื่อว่าปัจจุบันภาษาเวียดนามจะมีบทบาทในตลาดแรงงาน ซึ่งพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีความเหมาะสมในพื้นที่ตั้ง อยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนี้ ม.อุบลฯยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาทุกปี นักศึกษาเวียดนามมาเรียนที่ ม.อุบลฯ และนักศึกษา ม.อุบลฯไปเรียนที่เวียดนาม เช่นกัน เป็นโอกาสดีที่เราได้เรียนรู้ทักษะการใช้ภาษาที่เป็นต้นแบบภาษาได้เป็นอย่างดี เรียนรู้วัฒนธรรมที่ถูกต้อง จบหลักสูตรสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาคอาเซียน และประชาคมโลกอีกด้วย

ดร-รุจิวรรณ-เหล่าไพโรจน์-01.jpg

ดร.รุจิวรรณ เหล่าไพโรจน์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาภาษาเวียดนามและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯกล่าวว่า สาขาวิชาภาษาเวียดนามและการสื่อสารที่เปิดสอนในปัจจุบัน ซึ่งมีความโดดเด่นและน่าสนใจเป็นพิเศษ เป็นหลักสูตรปรับปรุงใหม่ 3+1 คือ นักศึกษาเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 3 ปี และเรียนที่ประเทศเวียดนาม 1 ปี โดยในปีการศึกษา 2559 มีนักศึกษาที่สนใจเข้าศึกษาหลักสูตรมาจากพื้นที่ทั่วประเทศ หนึ่งในนี้มีนักศึกษามีอายุแล้ว สนใจในหลักสูตร นั่นคือ นางสาววนิดา คุ้มอนุวงศ์ ที่มีความกระตือรือร้น สอบถามรายละเอียดข้อมูล และคุณสมบัติผู้เข้าศึกษา เห็นคุณค่าในหลักสูตร ซึ่งเราเชื่อว่า ม.อุบลฯ จะเติมเต็มความตั้งใจของนักศึกษาทุกคน ให้ได้รับความรู้ สามารถนำไปประกอบอาชีพ และสร้างความสำเร็จให้กับชีวิตได้ต่อไป

ดา-วนิดา-คุ้มอนุวงศ์-ภาษาเวียดนาม-05.jpg

นางสาววนิดา คุ้มอนุวงศ์ หรือ ดา บอกว่า ตนได้ตัดสินใจมาเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาภาษาเวียดนามที่ตนชอบ ซึ่งจะได้ที่จะนำความรู้ในภาษเวียดนามไปต่อยอดงานวรรณกรรมผ่านภาษาเวียดนามที่ตนชื่นชอบ ก่อนหน้านี้ตนได้ศึกษาข้อมูลมาหลากหลายสถาบันต่างๆ ทั้งเข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้นภาษาเวียดนามแต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ตนได้มากนัก พอดีได้ชมคลิ๊บบทสัมภาษณ์ของ ดร.สิริวงษ์ หงษ์สวรรค์ อาจารย์ ม.อุบลฯ ท่านได้แนะนำหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาเวียดนาม ได้อย่างน่าสนใจ ตนจึงตัดสินใจว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คือเป้าหมายที่จะเข้าศึกษา ทราบภายหลังว่า ดร.สิริวงษ์ หงษ์สวรรค์ ผู้บุกเบิกภาษาเวียดนาม ท่านเสียชีวิตก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่เดือน แต่ตนก็เชื่อมั่นว่าแม้ท่านจะไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว แต่หลักสูตรของท่านยังสามารถใช้ได้เหมือนดังเดิม และวันนี้ตนรู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “ลูกมังกร หลานนางฟ้า” รุ่นที่ 4 ม.อุบลฯ อย่างเต็มตัวแล้ว

ดา-วนิดา-คุ้มอนุวงศ์-ภาษาเวียดนาม-06.jpg

เชื่อเสมอว่าการศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด และไม่แก่เกินวัย แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมากว่า 25 ปี แล้ว ที่ตนห่างหายในการเรียนหลังจบมัธยมปลาย ด้วยครอบครัวประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงขาดโอกาสเข้าเรียนในช่วงของการศึกษา แต่ชีวิตต้องก้าวเดินต่อไป ตนจึงมีโอกาสค้นหาประสบการณ์ต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางสายวรรณกรรมที่ตนชอบ อย่างน้อยได้แบ่งเบาภาระของครอบครัว ทำให้เรากลับมายืนได้อีกครั้ง วันนี้ตนจึงอยากเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายของชีวิตอีกครั้ง นั่นคือการเรียน หลักสูตรภาษาเวียดนามฯ ที่ ม.อุบลฯ ขอบคุณสถาบันแห่งนี้ที่เปิดโอกาสให้ตนเข้าศึกษา นี่คืออีกหนึ่งบททดสอบของชีวิตที่ตนจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้ เพราะตนเชื่อว่าการศึกษาเป็นเหมือนรากชีวิต ถ้าเราไม่มีการศึกษา เราก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่เราจะอยู่ได้อย่างโอนเอน แต่หากเรามีการศึกษาแล้ว ชีวิตเราจะมีรากหลัก เติมโตเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงได้ วนิดา คุ้มอนุวงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

ดา-วนิดา-คุ้มอนุวงศ์-ภาษาเวียดนาม-07.jpg

นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เป็นแบบอย่างที่ดีของการศึกษา ในด้านแรงบันดาลใจ ที่ว่า การศึกษาไม่แก่เกินวัย และไม่มีที่สิ้นสุด ขอบคุณ “วนิดา คุ้มอนุวงศ์” ที่ทำให้หลายคนสุขใจกับบทประพันธ์ที่เธอชอบแต่ง หนังสืออาหารเพื่อสุขภาพที่เธอชอบเขียน และความสุขมิตรภาพที่ดีของน้องพี่ต่างวัย ร่วมส่งกำลังใจ หรือเยี่ยมชมผลงานของเธอค้นหาด้วย Google “วนิดา คุ้มอนุวงศ์”

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511