guideubon

 

ม.อุบลฯ ผลิต UBU-UVC ฆ่าเชื้อ Covid-19 มอบให้กับ รพ.ในจังหวัดอุบลฯ

COVID-19-UBU-UVC-01.jpg

วันที่ 13 เมษายน 2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำคณะผู้บริหาร และทีมวิจัย ร่วมส่งมอบบริจาคเครื่อง UBU-UVC: Smart Germicidal Irradiation Machine ควบคุมระยะไกลด้วย Application ผ่าน Smartphone ให้กับโรงพยาบาลวารินชำราบ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 โรงพยาบาลวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยรับเกียรติจาก นายแพทย์สมชัย โชคพัฒนาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร ร่วมรับมอบ เพื่อนำไปใช้งานสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

COVID-19-UBU-UVC-02.jpg

เครื่อง UBU-UVC สามารถกำจัด หรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส Covid -19 ที่อาจตกค้างในสถานที่ห้องปฏิบัติงาน หรือเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ 

COVID-19-UBU-UVC-03.jpg

ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า การผลิตนวัตกรรมเครื่อง UBU-UVC: Smart Germicidal Irradiation Machine โดยความร่วมมือของ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ ผู้ประกอบการ และบริษัทภาคเอกชน ในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเป็นเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่มีศักยภาพสูง ในการกำจัดหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งเชื้อไวรัส Covid -19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยทีมผู้พัฒนา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ร่วมกันร่วมวางแผนดำเนินโครงการ อาทิ ศ.ดร.ระพีพันธ์ ปิตาคะโส เป็นที่ปรึกษาโครงการ ผศ.ดร.นันทวัฒน์ วีระยุทธ อาจารย์ชาคริต โพธิ์งาม และ ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ ดูแลด้านการออกแบบ การออกแบบโครงสร้างของเครื่อง การคำนวณหาจำนวนและปริมาณการใช้รังสี เขียนแบบและวางแผนขั้นตอนการผลิตของเครื่องฆ่าไวรัสด้วยการฉายรังสี UVC ระบบควบคุมการทำงานและการจัดหาอุปกรณ์ และ นายอภิสิทธิ์ ศิริบูลย์ และนายธนวรรธน์ คนฉลาด ศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ นายธีระรัตน์ หิรัญหลาย นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเคมี ดูแลด้านการออกแบบและสร้างวงจรควบคุมการทำงาน การจัดทำ Software และ Application ให้สามารถควบคุมการทำงานของเครื่องด้วย Smartphone นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน บริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ ผู้ประกอบการหน่วยบ่มเพาะ อุทยานวิทยาศาสตร์ ช่วยพัฒนาขั้นตอนการผลิต โครงสร้างและองค์ประกอบฮาร์ดแวร์ของเครื่อง และห้างหุ้นส่วนจำกัด พรเจริญ วู๊ดชิพ ผู้สนับสนุนเครื่องมือวัดความเข้มแสง UVC

ในส่วนของเครื่องและระบบการทำงาน ประกอบด้วยหลอดยูวีซี (UVC ) ขนาดรวม 320 วัตต์ พร้อมระบบควบคุมด้วยเทคโนโลยี Internet of Things ผ่าน Smartphone สามารถความคุมการเปิด-ปิดเครื่อง และตั้งเวลาการทำงานระยะไกลได้ด้วยการเชื่อมต่อผ่านทางระบบ Bluetooth

COVID-19-UBU-UVC-04.jpg

โดยเครื่องนี้จะใช้หลอดไฟฟ้าชนิด UVC ที่สามารถสร้างรังสีอัลตราไวโอเล็ต มีความยาวคลื่นที่ 253.7 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงแสง UVC มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือเชื้อโรคต่างๆ โดยที่ความยาวคลื่นนี้จะสามารถทำลายโครงสร้างดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างไวรัส, แบคทีเรีย, เชื้อราและเชื้อโรคชนิดต่างๆ หยุดยั้งประสิทธิภาพในการแพร่พันธุ์และฆ่าพาหะเหล่านี้ สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ขนาด 14 - 25 ตารางเมตร ระยะเวลาที่ใช้ฆ่าเชื้อขึ้นอยู่กับระยะห่างจากผิวหลอด UVC ด้านนอกไปยังพื้นผิวที่แสงตกกระทบ จากการคำนวณพบว่าภายในรัศมี 2-3 เมตร จะใช้เวลาในการฆ่าเชื้อ 15-30 นาที

นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของทีมผู้พัฒนา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการบูรณาการความร่วมมือของหลายส่วน สร้างเครื่อง UBU-UVC : Smart Germicidal Irradiation Machine ต้นแบบ รุ่นแรกได้สำเร็จ พร้อมนำบริจาคส่งมอบให้กับโรงพยาบาล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคหรือไวรัส Covid -19 แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และผู้ใช้บริการ โดยตั้งเป้าผลิตจำนวน 6 เครื่อง เพื่อจะนำไปมอบให้กับโรงพยาบาล หน่วยงานราชการ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อาทิ โรงพยาบาลวารินชำราบ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวัชราลงกรณ และศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น พร้อมขยายสู่พื้นที่ทั่วอีสานต่อไป

หน่วยงาน หรือโรงพยาบาล สถานพยาบาล ที่สนใจให้ผลิต หรือนำไปบริจาค และทดลองใช้งาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทร. 097 992 9428 หรือ อีเมล anirut.s@ubu.ac.th

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว

COVID-19-UBU-UVC-05.jpg