guideubon

 

อุบลฯ ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

แม่วัยใส-ท้องก่อนวัย-01.jpg

วันที่ 12 มีนาคม 2561 กลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุมสำนักงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายเธียรชัย พุทธรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การแลกเปลี่ยนแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

โดยที่องค์กรอนามัยโลก เปิดเผยข้อมูลการประเมินถึงช่วงอายุที่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ คือ 20 ปีขึ้นไป เพราะมีร่างกายที่สมบูรณ์แล้ว และสามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ แต่ในขณะที่วัยรุ่นไทย อายุต่ำกว่า 20 ปี กลับมีสถิติคลอดลูกเฉลี่ยวันละ 286 คน หรือปีละ 104,289 คน

แม่วัยใส-ท้องก่อนวัย-02.jpg

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเฝ้าระวังการทำแท้งในโรงพยาบาล ของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ปี 2556-2559 พบว่า 36.1% ของคนที่ทำแท้ง คือ นักเรียน นักศึกษา โดยมีสาเหตุมาจาก ปัญหาเรื่องเงิน เรียนยังไม่จบ เป็นอุปสรรคต่ออาชีพ ไม่พร้อมแต่งงาน และมีบุตรพอแล้ว

ผลกระทบจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทำให้แม่วัยรุ่นอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้ง การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเกิดภาวะซึมเศร้า ในรายของทารกที่คลอดออกมา จะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า หรือเด็กอาจถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายในที่สุด

แม่วัยใส-ท้องก่อนวัย-04.jpg

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ล่าสุด มี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มาช่วยแก้ไขปัญหาแล้ว โดยกำหนดให้วัยรุ่นอายุ 10-20 ปี สามารถรับบริการ และขอคำปรึกษาได้ฟรีกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยกฎหมายกำหนดให้ โรงพยาบาลหรือสถานบริการ ต้องช่วยเหลือให้คำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ ทั้งการคุมกำเนิด และการวางแผนครอบครัว สำหรับวัยรุ่นอายุ 10-20 ปี โดยสามารถรับบริการได้ทุกโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ทั้งนี้ การคุมกำเนิด ที่สามารถขอรับบริการได้ฟรี สำหรับวัยรุ่นอายุ 10-20 ปี คือ การใช้ยาฝังคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร โดยฝังไว้ใต้ผิวหนัง ท้องแขน มีทั้งแบบชนิด 3 ปี และ 5 ปี

แม่วัยใส-ท้องก่อนวัย-03.jpg

นอกจากนี้ สถานศึกษา จะต้องจัดสอนเพศศึกษา ช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ให้เรียนได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องลาออก รวมทั้งหน่วยงานสวัสดิการสังคม จะต้องดูแล ฝึกอาชีพ จัดหางานให้แก่วัยรุ่นตั้งครรภ์ และการจัดหาครอบครัวทดแทนให้ในรายที่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้เองอีกด้วย

วัยรุ่นที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ แนะนำว่า อย่ายุติการตั้งครรภ์เอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อยามาใช้เอง หรือใช้บริการคลินิกเถื่อน ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ดี หรือปัญหาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นโรคเอดส์ มีทางออกแน่นอน สามารถขอรับคำปรึกษากับสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร. 1663

สำหรับเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้ว 94% ของวัยรุ่นอยากเรียนต่อ ตาม พ.ร.บ. มีการวางระบบการดูแลและสวัสดิการไว้ ดังนี้

แม่วัยใส-ท้องก่อนวัย-06.jpg

1. สถานศึกษา ต้องเป็นด่านแรกที่จะให้ความดูแลช่วยเหลือเด็ก ว่าจะทำอย่างไร หากเด็กตั้งครรภ์ต่อ จะทำอย่างไร หรือหากยุติการตั้งครรภ์ ต้องทำอย่างไร และจะได้รับการศึกษาต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้เด็กต้องหมดอนาคต ซึ่งหากเกินความสามารถที่โรงเรียนจะดูแลได้ก็ต้องส่งมายังระบบสาธารณสุขในการให้การดูแล

2. เมื่อส่งต่อมายังระบบสาธารณสุข คือ คลินิกวัยรุ่น จะต้องให้คำปรึกษา คำแนะนำว่าเด็กควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อ โดยมีการเสนอทางเลือกในแต่ละทาง และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง เช่น หากตั้งครรภ์ต่อจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร มีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร หากเรียนจะเป็นอย่างไร เมื่อคลอดออกมาแล้วจะได้รับการดูแลอย่างไร สามารถเลี้ยงลูกได้หรือไม่ เลี้ยงไม่ได้จะมีใครเข้ามาช่วยดูแล หรือหากเลือกยุติการตั้งครรภ์ก็จะมีการพิจารณาว่าสามารถยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งจะมีเกณฑ์กำหนดอยู่

นอกจากนี้ ยังต้องดูแลด้วยว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ เช่น การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือแม้แต่การฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งการฝังยาคุมกำเนิดจะให้ผลในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ระยะยาวหลายปี ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรับประทานยา เพราะสามารถลืมได้ เป็นต้น เรียกได้ว่ามีการเสนอทางเลือกการให้บริการจริงๆ

แม่วัยใส-ท้องก่อนวัย-07.jpg

3. การส่งต่อไปยัง พม. ช่วยดูแลเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ เช่น หากคลอดลูกออกมาแล้วไม่สามารถเลี้ยงได้ จะต้องมีการหาครอบครัวหรือพ่อแม่บุญธรรมช่วยเลี้ยง ขณะที่สถานศึกษาต้องให้โอกาสเด็กได้ศึกษาต่อจนจบ จนกระทั่งมีงานทำ จึงรับตัวเด็กกลับมาเลี้ยงเองเมื่อสามารถเลี้ยงดูบุตรได้แล้ว ขณะเดียวกัน มท. ที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องกำหนดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลตรงนี้ด้วย

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511