guideubon

 

เสียขาไป 1 ข้าง เพราะใจยังสู้ เธอจึงอยู่อย่างมีความสุข

จุฑารัตน์-บุญจริง-01.jpg

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น มีคุณพ่อเป็นช่างแกะสลักเทียนที่มีชื่อเสียงในจังหวัดอุบลราชธานี และชีวิตของเธอก็คงจะเหมือนกับเพื่อนๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย ที่มีความฝันกันไว้ว่า จะตั้งใจเรียนให้จบปริญญาตรีโดยเร็ว เพื่อจะได้ออกมาหางานทำ ไม่เป็นภาระกับทางบ้านอีกต่อไป แต่ฝันของเธอต้องสะดุดลงในเทอมสุดท้าย เมื่อประสบอุบัติเหตุถึงขนาดต้องตัดขาทิ้งหนึ่งข้าง หากเป็นคนอื่น อาจจบชีวิตการเรียนไว้เพียงเท่านั้น แต่เธอไม่ยอมแพ้โชคชะตา กลับลุกขึ้นสู้ จนปัจจุบันนี้ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป ไกด์อุบลอยากให้ทุกท่านรู้จักเธอมากกว่านี้.... "เปิ้ล" จุฑารัตน์ บุญจริง

จุฑารัตน์-บุญจริง-02.jpg

"เปิ้ล" น.ส.จุฑารัตน์ บุญจริง วัย 36 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นผู้แนะนำการลงทุน ที่บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) สาขาอุบลราชธานี แม้จะเคยตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่ต้องสูญเสียขาข้างซ้ายไปจากอุบัติเหตุถูกรถชน เมื่อปี 2544 ขณะกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่4 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (การประชาสัมพันธ์) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี แต่ความพิการไม่สามารถทำให้ความสุขในชีวิตของเธอลดลง เธอผ่านเหตุการณ์เลวร้ายนั้นมาได้ และมีวิธีสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้อย่างไร

จุฑารัตน์-บุญจริง-03.jpg

"เปิ้ล" บอกเล่าเหตุการณ์ชีวิตของตนให้ฟังว่า หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ชีวิตพลิกผัน วินาทีแรกที่รู้ว่าตนเองต้องถูกตัดขา เสียใจแต่ก็ร้องไห้ไม่ออก นอนนิ่งคิดว่าต่อไปเราจะอยู่อย่างไร จะกลับมาเดินได้ไหม กลัวจะเป็นภาระให้พ่อแม่ต้องดูแล กลัวเรียนไม่จบ กลัวและกังวลไปหมด แต่โชคดีที่เราเคยดูรายการเจาะใจ เทปนึงที่มีน้องอ้อม เด็กที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังแห้งตกสะเก็ดคล้ายดักแด้เป็นแขกรับเชิญ น้องเค้าอาการหนักถึงขั้นเดินไม่ได้ ใช้ชีวิตแบบต้องรักษาตัวไปตลอด แต่เค้าก็ยังคิดบวก มีกำลังใจดี พร้อมต่อสู้กับโรคที่เค้าเป็นอยู่ เราเลยได้คิดว่าเราโชคดีแค่ไหนที่ยังไม่ตาย เสียแค่ขาไปข้างเดียว เดี๋ยวก็กลับมาเดินได้

จุฑารัตน์-บุญจริง-04.jpg

ตอนนั้นเห็นพ่อ ผู้ชายที่เราเห็นว่าเข้มแข็งที่สุด ต้องมาเสียน้ำตาต้องเสียใจกับเรา พ่อบอกกับหมอว่าตัดขาผมไปใส่ให้ลูกได้ไหมครับ ใครได้ยินคงคิดว่าพ่อบ้าหรือเสียสติไปแล้วแน่ๆ แต่เรารู้ว่าหัวอกคนเป็นพ่อ ย่อมเจ็บปวดที่เห็นลูกต้องตกอยู่ในสภาพนี้ พ่อไม่ร้องไห้ให้เห็นต่อหน้า แค่ตาแดงๆ เวลามาเยี่ยม มีคนที่บ้านแอบมาบอกว่า พ่อกลับบ้านนั่งกอดรองเท้าเปิ้ลร้องไห้อยู่คนเดียว ส่วนแม่ก็เสียใจมากเช่นกัน แต่แม่เก็บอาการเก่ง ได้แต่คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ เสมอ

จุฑารัตน์-บุญจริง-05.jpg

ตอนนั้นเรื่องคิดสั้น ทำร้ายตัวเอง ไม่มีในความคิดเลยค่ะ บอกตัวเองเลยว่า เราจะมาตายตอนนี้ไม่ได้ ต้องเข็มแข็ง ต้องกลับมายืนให้ได้เร็วที่สุด เพราะยังไม่ได้ทำอะไรให้พ่อแม่ได้ภาคภูมิใจเลย ยังไม่มีโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่เลย เรียกได้ว่า ความรักและกำลังใจจากครอบครัวช่วยเยียวยา ทำให้เราเข้มแข็งได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อเราเข้มแข็ง เราเองก็กลายเป็นกำลังใจให้ครอบครัวกลับมาเข้มแข็งได้เช่นกัน

จุฑารัตน์-บุญจริง-06.jpg

พอเรามีสติ และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในวันนั้นเลย ทำให้เราคิดทุกอย่างไปในทางบวกหมด เพื่อนฝูงและญาติๆ หลายคนมาเยี่ยมมาให้กำลังใจ หลายคนร้องไห้เสียใจไปกับเรา แต่กลายเป็นคนไข้ที่ต้องคอยปลอบคนที่มาเยี่ยม ว่าเราไม่เป็นอะไรมากหรอก แค่ตัดขาไปข้างหนึ่ง เดี๋ยวก็กลับมาเดินได้แล้ว ตอนนั้น พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี แค่ 3 คืน ก็ได้กลับบ้าน ทำให้รู้ว่า ถ้าสภาพจิตใจเราเข้มแข็ง มีกำลังใจดี ก็ทำให้ร่างกายเราฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่เปิ้ลเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าต่อให้คนเป็นร้อยเป็นพันส่งกำลังใจมาให้ ก็ไม่ทำให้เรากลับมาเดินได้ ถ้าตราบใดที่ใจเรายังไม่สู้ ฟูมฟาย ยังท้อแท้ กำลังใจที่สร้างจากตัวเราเองนี่แหละที่สำคัญที่สุด

จุฑารัตน์-บุญจริง-07.jpg

"เปิ้ล" ใช้เวลาพักฟื้นเพียงแค่ 3 เดือน ก็สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งด้วยขาเทียม ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาสำหรับการเริ่มหัดเดินใหม่ และต้องเจอกับอาการเจ็บปวด จากการที่ร่างกายยังไม่ชินกับขาเทียม แต่ความกระหายอยากที่จะเดินด้วย 2 ขา เหมือนเดิมมันมีมากกว่า ทำให้เกิดความพยามฝึกเดินอยู่บ่อยๆ จนเริ่มคุ้นชิน และเดินได้ดีในที่สุด โดยช่วงแรกๆ จะเปลี่ยนขาบ่อยมาก เพราะตอขาจะค่อยๆ ลีบลง จนปัจจุบันใส่ขาเทียมที่เหมาะกับตัวเอง ทำให้เดินได้คล่อง และใกล้เคียงกับคนปกติที่สุด

จุฑารัตน์-บุญจริง-08.jpg

ทุกวันนี้เปิ้ลมีความสุขกับสิ่งที่เหลืออยู่ คิดเสมอว่า ถึงจะพิการแต่เราไม่ใช่ผู้ด้อยโอกาส เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง เรายังใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป มีหน้าที่การงานดี มีสังคมและคนรอบข้างดีๆ เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ใคร ได้ดูแลและตอบแทนพ่อแม่อย่างที่ตั้งใจไว้ มีโอกาสก็ออกท่องเที่ยวบ้างเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิต ส่วนวันว่างจากการทำงานก็มักจะเข้าครัวทำอาหารและขนม แค่นี้ชีวิตก็มีความสุขได้ แต่ถ้าวันไหนชีวิตต้องเจอเรื่องทุกข์ใจ ก็จะคิดเสมอว่า เรื่องแย่ๆ และเลวร้ายที่สุดเรายังผ่านมาได้ เพราะฉะนั้น ปัญหาต่างๆ เราก็ต้องผ่านมันไปได้เช่นกัน

จุฑารัตน์-บุญจริง-09.jpg

จากการที่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดวันเสาร์ที่ 2 เดือนพฤศจิกายนของทุกๆ ปี ให้เป็น ‘วันคนพิการแห่งชาติ’ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้พบปะ สังสรรค์ แสดงความสามารถในด้านต่างๆ และเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ เกี่ยวกับการบำบัด รักษา การป้องกันและฟื้นฟู สมรรถภาพ รวมทั้งเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นถึงศักยภาพ ศักดิ์ศรี และคุณค่าของคนพิการ เปิ้ลในฐานะคนพิการคนหนึ่ง อยากฝากถึงทุกคนว่า หลายๆ คนยังมีทัศนคติเกี่ยวกับคนพิการแบบไม่เข้าใจ ยังมองคนพิการด้วยความสงสาร และต้องการสงเคราะห์ แต่คนพิการต้องการแค่ความเข้าใจ อยากให้มองเขาแบบคนปกติ และให้โอกาสในการทำทุกอย่างเหมือนคนปกติ อย่ามองแค่รูปลักษณ์ภายนอก ทุกคนมีศักยภาพในแต่ละด้านแตกต่างกัน คนพิการไม่ได้อยากเป็นภาระให้ใคร ทุกคนย่อมมีคุณค่าในตัวเองค่ะ "เปิ้ล" น.ส.จุฑารัตน์ บุญจริง กล่าวกับไกด์อุบลด้วยแววตาของคนที่มีความสุขและเข้าใจในชีวิต

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511