guideubon

 

พระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 ยึดเหนี่ยวจิตใจ รปภ.ราชภัฏอุบลฯ

ชาญณรงค์-เพชรฤทธิ์-รปภ-ราชภัฏอุบล-01.jpg

วันที่ 7 ธันวาคม 2560 เป็นที่ทราบกันดีว่า พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมอบให้แก่พสกนิกรชาวไทยในหลากหลายเรื่องนั้น ล้วนแล้วแต่มีคติสอนใจ ที่ปวงชนชาวไทยน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุข ความสำเร็จ และความเจริญ เปรียบเสมือนเป็น 'คำสอนของพ่อ’ ที่ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่า ดังเช่นที่ นายชาญณรงค์ เพชรฤทธิ์  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นำมาใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่อง “หลักความซื่อสัตย์สุจริต” และ “ความพอเพียง”

ชาญณรงค์-เพชรฤทธิ์-รปภ-ราชภัฏอุบล-02.jpg

นายชาญณรงค์ เพชรฤทธิ์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวกับไกด์อุบลว่า เช้าวันหนึ่ง ขณะเดินทางจากบ้านพัก เพื่อพามารดาไปพบแพทย์ตามที่นัด ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ตามปกติ และเมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ระหว่างเดินทางกลับ เขาเหลือบไปเห็นกระเป๋าสตางค์ใบหนึ่งหล่นอยู่บนถนน จึงหยุดรถ แล้วเดินเข้าไปหยิบกระเป๋าสตางค์ใบนั้นขึ้นมา มองไปรอบข้างไม่พบผู้ใด จึงเก็บกระเป๋าสตางค์นั้น แล้วรีบขับรถมาทำงานเข้าเวรที่ป้อมยาม ประตู 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยทันที

ชาญณรงค์-เพชรฤทธิ์-รปภ-ราชภัฏอุบล-03.jpg

เมื่อมาถึงที่ทำงาน นายชาญณรงค์ เรียกเพื่อนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มาร่วมเปิดกระเป๋าสตางค์ที่เก็บได้เพื่อหาข้อมูลของเจ้าของกระเป๋า ในกระเป๋ามีเอกสารสำคัญหลายอย่าง เงินจำนวนหนึ่ง และโชคดีที่มีนามบัตรพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของกระเป๋า “นายสมพงษ์ พิมพา” อยู่ด้วย เขาไม่รอช้า รีบโทรศัพท์ไปตามหมายเลขโทรศัพท์นั้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความห่วงว่าเจ้าของกระเป๋าอาจกำลังกระวนกระวายใจที่กระเป๋าสตางค์หาย และอาจต้องการใช้เอกสารหรือบัตรต่างๆ ที่อยู่ภายในกระเป๋า เมื่อเจ้าของกระเป๋าสตางค์ทราบว่ากระเป๋าสตางค์ของตนหายไปจริงๆ จึงรีบมาติดต่อรับที่ป้อมยาม ประตู 1 ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีเพื่อนๆ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เข้าเวรขณะนั้นเป็นพยาน เจ้าของกระเป๋าสตางค์ได้มอบเงินสดจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นสินน้ำใจตอบแทนความดีและซื่อสัตย์แก่ชาญณรงค์... เขากล่าวขอบคุณแต่ปฏิเสธไม่รับเงินนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า “นึกถึงใจเขา ใจเรา” หากเป็นเราก็คงดีใจที่มีคนเก็บได้และนำส่งคืน อีกอย่างตนคิดเพียงว่า “หากเงินจำนวนหนึ่งที่จะให้ตนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่จะต้องนำไปใช้หนี้หรือใช้อย่างอื่น ผู้ให้ก็ต้องเดือดร้อนที่จะต้องไปหาเงินมาทดแทนส่วนนั้นขาดหายไป เป็นการสร้างความลำบากให้กับผู้อื่น”

ชาญณรงค์-เพชรฤทธิ์-รปภ-ราชภัฏอุบล-04.jpg

ทุกๆ วัน นายชาญณรงค์ เพชรฤทธิ์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหนุ่ม วัย 41 ปี ต้องมาเข้าเวรปฏิบัติงาน ณ ป้อมยาม ประตู 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเมื่อนั่งประจำที่ มองผ่านกระจกป้อมยามออกไป สิ่งที่เขามองเห็นอยู่เบื้องหน้าตลอดทุกครั้ง คือ พระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้พระราชทานนาม “ราชภัฏ” ที่หันมาทางป้อมยาม ทำให้เขาได้ระลึกถึงหลักคำสอนและพระบรมราโชวาทของพระองค์ โดยเฉพาะ “หลักความซื่อสัตย์สุจริต” และ “ความพอเพียง” ที่นำมาใช้ในการทำงานและการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

ชาญณรงค์-เพชรฤทธิ์-รปภ-ราชภัฏอุบล-05.jpg

ประกอบกับในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยจะได้รับมอบหมายให้ตรวจตรารถจักรยานยนต์ของนักศึกษาและบุคลากรที่จอด ณ จุดจอดรถบริเวณต่าง ๆ ทั่วมหาวิทยาลัย เพื่อคอยสังเกตว่า มีรถจักรยานยนต์คันใดลืมกุญแจรถทิ้งไว้ รวมทั้งลืมกระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือไว้ในช่องใส่ของหน้ารถ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยจะเก็บกลับไปป้อมยาม โดยเขียนโน้ตทิ้งไว้ที่รถจักรยายนต์ ด้วยเพราะรถจักรยานยนต์ กระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มีค่ามีราคาสำหรับนักศึกษา บางครั้งการรีบเร่งเข้าห้องเรียนให้ทันเวลา อาจทำให้เกิดการหลงลืมได้อยู่บ่อยครั้ง

ชาญณรงค์-เพชรฤทธิ์-รปภ-ราชภัฏอุบล-06.jpg

หลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 และงานที่ทำอยู่ประจำวัน ได้ซึมซับเข้าไปในตัวของ ชาญณรงค์ เพชรฤทธิ์ อย่างภาคภูมิ โดยเฉพาะ “หลักความซื่อสัตย์สุจริต” เพราะเขาเชื่อว่า “เป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง” ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวมตามโอกาสอีกด้วย

ชาญณรงค์-เพชรฤทธิ์-รปภ-ราชภัฏอุบล-07.jpg

ชาญณรงค์ เล่าว่า ตั้งแต่เล็กจนโต สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสมากนักอย่างเขา การได้ฟังพระบรมราโชวาทที่สถานีโทรทัศน์เปิดเป็นประจำทุกวันหลังข่าวภาคค่ำ คือ แหล่งเรียนรู้และซึมซับหลักการดำเนินชีวิตและการทำงานที่สำคัญของเขา และเขาเชื่อว่า แม้วันนี้ที่ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว แต่หากเราทุกคนน้อมนำหลักคำสอน ความพอเพียง พออยู่ พอกิน และคงไว้ซึ่งความดี ความซื่อสัตย์สุจริต ที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้มาใช้ในการดำเนินชีวิตแล้ว คนไทยคงมีความสุขมากขึ้น สังคมไทยเราก็คงน่าอยู่มากขึ้น... “ผมเชื่อว่า พระองค์ท่านยังทรงมองเราอยู่ทุกวัน”

นายชาญณรงค์ เพชรฤทธิ์ นับเป็นบุคคลากรตัวอย่าง ตามแนวทางปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่ไม่เพียงมุ่งพัฒนาให้นักศึกษาเป็นบุคคลที่มีคุณภาพต่อสังคมเท่านั้น บุคคลากรในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ หรือพนักงาน ก็ต้องเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมอีกด้วย

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511