guideubon

 

สปช.เปิดเวทีใหญ่สรุปความต้องการคนอุบลฯ หลังเดินสายรับฟังครบทุกอำเภอ

นิมิต-สิทธิไตรย์-สปช-อุบล-03.jpg

คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนสภาปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประจำจังหวัดอุบลราชธานี ระดับจังหวัด หลังเดินสายเปิดเวทีรับฟังมาครบ 25 อำเภอ ณ หอประชุมไพรพระยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา

ครั้งนี้ได้นำข้อเสนอบทสรุป จาก 25 เวที 25 อำเภอ ในจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 1,488 คน ซึ่งสะท้อนปัญหาความต้องการของประชาชน 18 ด้าน โดยคัดกรองเหลือเพียง 5 ด้าน คือ 1 ด้านการเมือง 2 ด้านการปกครองท้องถิ่น 3 ด้านสังคมชุมชนเด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และ 5 ด้าน การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแต่ละประเด็นได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสนใจแต่ละ ประเด็นได้เสนอความเห็น โดยแยกเป็น 8 กลุ่มย่อยซึ่งแต่ละกลุ่มสรุปพอสังเขปดังนี้

1. กลุ่มการเมืองฯ เสียงสะท้อนพบว่า ต้องการให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ ซึ่งให้เหตุผลว่าจะง่ายต่อการตรวจสอบและการตัดสินใจที่รวดเร็วเป็นธรรม โดย เสนอให้มีองค์กรระดับจังหวัดที่มีอำนาจเต็มในการจัดการปัญหาหรือมีกลุ่ม จังหวัดเข้ามาร่วมกระบวนการในภาพรวมและครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติ หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผลได้เสียของนักการเมือง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังเสนอให้มีภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อ เสริมเขี้ยวเล็บให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และเสนอให้นับคะแนนการเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้ง เพื่อตัดปัญหาการทุจริตโกงคะแนน

ในขณะเดียวกันได้มีข้อท้วงติงต่อระบบการทำงานว่า บุคลากรและเงินงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังมีข้อถกกันในประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านว่าควรให้มี วาระเพียง 4 ปีเพื่อป้องกันการผูกขาด

2 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มนี้เสนอให้ยกฐานะ อบต. ให้เป็นเทศบาลทุกแห่งทั่วประเทศ  โดยให้เหตุผลว่า อปท. มีระบบงานที่ซ้ำซ้อนและขอให้คืนงบประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นงบพัฒนาให้กับจังหวัด ในครั้งนี้ได้ให้ความเห็นสนับสนุนมาตรการลงโทษนักการเมืองทุจริต โดยให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต

ตลอดจนเสนอความเห็นให้มีองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในตรวจสอบการทำงานภาครัฐขณะเดียวกันเสนอให้มีการตั้งศาลคอรัปชั่น

นอกจากนี้ได้แสดงความเห็นว่าควรแยกระบบคุมประพฤติออกจากระบบการเมืองเพื่อ ป้องกันปัญหาการแทรกแซง ตลอดจนขั้นตอน ในการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนให้กระชับและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีอิสระในการทำงานปราศจากการครอบงำจาก อิทธิพลใดๆ

3. กลุ่มการศึกษา ได้สะท้อน ให้มีการกระจายอำนาจและลดอำนาจเขตการศึกษาให้เล็กลงโดยบางส่วนให้ไปสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมจัดตั้งศูนย์เด็กอัจฉริยะพร้อมทั้งให้จัดสรร งบประมาณ วัสดุอุปการณ์การศึกษาให้เกิดความเท่าเทียม

4. การจัดการเรียนการสอน ให้เน้นย้ำหลักสูตรชั้นประฐมวัยถึง 12 ปี เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีการเรียนรู้ได้เร็วและเป็นพื้นฐานการเรียนการสอนที่ มีคุณภาพต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้รัฐส่งเสริมระบบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเพื่อผลิต แรงงานสู่ตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ ตลอดจนให้การศึกษาแก่ผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม

5. ด้านสื่อมวลชน ศิลปะ วัฒนธรรม กลุ่มนี้ได้สะท้อนความต้องการที่เคยร่วมเวทีกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อ สารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8มีนาคม 2558 ที่ ผ่านมา ที่ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีในการก่อตั้งโครงการ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งระดับภูมิภาคและระดับชาติ ส่วนเรื่องของศิลปวัฒนธรรมได้เน้นย้ำให้เกิดการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยที่ ยั่งยืน อีกทั้งได้เสนอแนะให้ผู้ทำหน้าที่พิธีกรสื่อ TV ได้ระมัดระวังในเรื่องการแต่งการให้เหมาะสม ส่วนเรื่องศาสนา เสนอให้มีกฎหมายตรวจสอบทรัพย์สินทั้งของวัดและสมณเพศ

6. กลุ่มพลังงานและแรงงาน กลุ่มนี้เสนอให้รัฐบาลกำหนดกฎหมายและทิศทาง พลังงานแห่งชาติเพื่อพัฒนาสร้างองค์กรในกลุ่มพลังงานให้สอดคล้องกับความต้อง การและต้นทุนที่เป็นจริง นอกจากนั้นยังเร่งรัดให้ภาครัฐจัดหาพลังงานทดแทนเป็นวาระเร่งด่วน ในขณะเดียวกัน ให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย ส่วนเรื่องแรงงานเสนอแนวทางในการกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานตามสภาพความเป็น จริงแต่ละภูมิภาคซึ่งจะเป็นการผ่อนคลายปัญหาลดแรงกดดันจากนายจ้าง

7. กลุ่มสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิในโรงพยาบาลชุมชนพร้อมทั้งให้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการสร้างเสริมสุขภาพโดยจัดสรรงบประมาณให้เพียงพออย่างน้อยเพื่อป้องกันการ สูญเสียงบประมาณจากการรักษาพยาบาลที่รัฐต้องสูญเสียแต่ละปีเป็นเงินมหาศาล

8. เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้มีการเสนอให้จัดสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ ป่าไม้ให้เหมาะสมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพปัญหาและภารกิจ ที่เสี่ยงภัย ทั้งนี้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่อีกทั้งควรเร่งแยกที่ ทำกินของชาวบ้านออกจากพื้นที่ทรัพยากรของรัฐให้ชัดเจน นอกจากนั้นเสนอให้มีการตั้งองค์กรระดับชุมชนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วม กับหน่วยงานรัฐ

สำหรับในภาคบ่าย ได้มีกลุ่มมวลชน ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากทุกอำเภอเข้าร่วมเวทีเพิ่มเติมอีก ราว 1,000 คน ซึ่งคณะทำงานได้สะท้อนปัญหาในระดับจังหวัดจาก 25 เวทีที่ผ่านมาเพื่อเป็นประเด็นนำไปสู่การแก้ไขอาทิ ปัญหาขยะ ยาเสพติด ที่ดิน-ที่ทำกิน จนท.รัฐทุจริต ถนนชำรุด ป่าไม้โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบตัดไม้พยุง ซึ่งครั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานได้สะท้อนปัญหาให้คณะทำงานได้รับทราบอย่าง หลากหลาย ในขณะที่นายประทีป  กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้เดินทางมาร่วมรับฟังในรอบบ่ายจนจบกระบวนการรับปากที่จะนำปัญหาความ ต้องการของประชาชนดังกล่าวไปแก้ไขโดยประยุกต์ใช้กระบวนการทางกฎหมายและมวลชน ร่วมกับ สปช.ทำงานคู่ขนานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

สำหรับภาพรวมเสียงสะท้อนทั้ง ภาคเช้าและภาคบ่ายทุกฝ่ายเรียกร้องให้ จนท.รัฐยึดมั่นใจในความซื่อสัตย์สุจริต นำกฎหมายที่มีอยู่เดิมมาใช้โดยเคร่งครัด มีการส่งเสริมกระตุ้นการปลุกจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน อีกทั้งจัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินการในส่วนที่บกพร่องโดยมีกฎหมายรองรับ ชัดเจนต่อไป

ด้านนายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช.อุบลราชธานี ยืนยันว่าเสียงสะท้อนจากประชาชนทุกประเด็นตนจะเก็บและกลั่นกรองเข้าสู่ระบบ ตามกระบวนการต่อไป และยืนยันว่าตนจะทำหน้าที่ตามนิยามว่า “สปช.ต้องฟังเสียงประชาชน และประชาชนต้องได้ยินเสียงสปช.” จึงจะนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน