guideubon

 

สถาบันฯ ภาค 7 อุบลฯ จับมือ สปป.ลาว พัฒนาฝีมือแรงงานมุ่งสู่ ASEAN

แรงงาน-อุบล-จำปาสัก-01.jpg

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 อุบลราชธานี (สพภ.7 อุบลฯ) จัด “โครงการสร้างทักษะแรงงาน/วิชาชีพ จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย และแขวงจำปาสัก  แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รองรับประชาคมอาเซียน” ฝึกอบรมทักษะแรงงานให้แก่ครูฝึก/กำลังแรงงาน แขวงจำปาสัก  แขวงสาละวัน จำนวน 60 คน ใน 3 สาขาช่าง ได้แก่ สาขาก่ออิฐฉาบปูน ช่างทำประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม และช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2558 ณ สพภ.7 อุบลฯ

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ท่านคำแปง เปี่ยงวรวงศ์ หัวหน้าแผนกแรงงานและสวัสดิการสังคม แขวงจำปาสัก และท่านบุญยง ภาษี  หัวหน้าแผนกแรงงานและสวัสดิการสังคม แขวงสาละวัน ให้เกียรติเป็นประธานร่วมพิธีเปิด “โครงการสร้างทักษะแรงงาน/วิชาชีพ จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย และแขวงจำปาสัก  แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รองรับประชาคมอาเซียน” ในวันที่  27 เมษายน 2558  ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ร่วมพิธีเปิด   โดยมี นายวิชัย      ผิวสอาด  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 อุบลราชธานี กล่าวรายงาน  

แรงงาน-อุบล-จำปาสัก-02.jpg

 

การฝึกทักษะแรงงานดังกล่าว เป็นโครงการที่   สอดรับกับนโยบายและยุทธศาสตร์เร่งด่วนของรัฐบาล คือ ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย พ.ศ.2558 ทั้งนี้เนื่องจากการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น จำเป็นต้องอาศัยกำลังแรงงานทุกประเภท   ทั้งแรงงานไร้ฝีมือ  แรงงานกึ่งฝีมือ  และแรงงานฝีมือ เนื่องจากแรงงานถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลงทุน        การเคลื่อนย้ายแรงงานจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่ง หรือจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ที่มีความต้องการกำลังแรงงานนั้นเป็นเรื่องปกติ ดังเช่น จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย กับแขวงจำปาสัก และแขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกัน มีช่องทางผ่านแดนไปมาหาสู่กันหลายช่องทาง ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดน เข้ามาทำงานอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นการพัฒนาแรงงานของทั้ง 2 ประเทศ ให้มีฝีมือ มีทักษะ มีความสามารถ ไม่ว่าแรงงานเหล่านั้นจะทำงานภายในประเทศ  หรือไปทำงานในต่างประเทศ หากเขาเป็นแรงงานฝีมือที่มีความรู้ ย่อมได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมไม่ว่าจะทำงานอยู่ ณ ประเทศใด

ดังนั้น ในอนาคตที่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปลายปี 2558 การแข่งขันกันในการสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น แรงงานฝีมือ จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือกันแบบทวิภาคี     เพื่อพัฒนากำลังแรงงานให้เป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ มีคุณสมบัติเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

หากกำลังแรงงานของเราเป็นผู้มีทักษะฝีมือและความสามารถ หากเขาทำงานภายในประเทศ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมและบริการนั้นมีขีดความสามารถในการแข่งขัน  หรือแม้ว่าเขาไปทำงานในต่างประเทศก็จะเป็นการส่งออกแรงงานฝีมือ และสร้างรายได้กลับมายังประเทศของเรา ที่สำคัญคือ เขาจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบในการจ้างงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน