guideubon

 

สรุปผลศึกษา โครงการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 6

สะพานมิตรภาพ-ไทย-ลาว-อุบล-สาละวัน-01.jpg

วันที่ 17 มกราคม 2561 นายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการประชุม สรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม (ครั้งที่ 2) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบรายละเอียด โครงข่ายสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสำรวจและออกแบรายละเอียด

สะพานมิตรภาพ-ไทย-ลาว-อุบล-สาละวัน-04.jpg

จากผลการสำรวจ โครงการนี้ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำ EIA โดยพื้นที่ศึกษาความเหมาะสมมีแนวเส้นทางเลือก 3 ทาง เส้นทางที่ 1 ต.นาแวง อ.เขมราฐ เส้นทางที่ 2 ต.พลาน อ.นาตาล และเส้นทางที่ 3 ต.นาตาล อ.นาตาล ซึ่งแนวเส้นทางที่เลือกคือแนวเส้นทางที่ 3 บ.โนนตาล ม.10 ต.นาตาล อ.นาตาล จ.อุบลฯ เป็นจุดเริ่มต้นโครงการฯ เพราะมีความเหมาะสมที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีชุมชนไม่หนาแน่น สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมที่มีอยู่เดิมได้สะดวก จุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่จุดตัดถนนเข้าด่านพรมแดน บ.ปากตะพาน เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน สปป.ลาว สำหรับรูปแบบของสะพาน เป็นสะพานโค้ง ARCH ระบบ Tied Arch 

ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ไปเมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นการขนส่งทางเรือ ผ่านด่านพรมแดนบ้านปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ขนส่งสินค้าได้จำนวนน้อย เนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทาง ข้อจำกัดของน้ำหนักบรรทุกในการขนส่งทางเรือ ผู้ประกอบการที่ต้องการขนส่งสินค้าจำนวนมาก จึงเลือกใช้เส้นทางคมนาคมทางบก ซึ่งมีระยะทางไกลกว่าการขนส่งทางน้ำ ในปัจจุบันมี 2 ช่องทางได้แก่

1. ผ่านด่านพรมแดนช่องเม็ก-วังเต่า อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เข้าสู่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก มีระยะทางรวมจากบริเวณด่านพรมแดนปากแซง ถึงแขวงสาละวัน ประมาณ 315 กิโลเมตร

2. ผ่านด่านพรมแดนจังหวัดมุกดาหาร เข้าสู่แขวงสะหวันนะเขต มีระยะทางรวมจากบริเวณด่านพรมแดนปากแซง ถึงแขวงสาละวัน ประมาณ 375 กิโลเมตร

ในขณะที่การขนส่งทางเรือ จากด่านพรมแดนปากแซง ถึงแขวงสาละวัน มีระยะทางเพียง 140 กิโลเมตรเท่านั้น จากการประชุมเรื่องการพัฒนาร่วมกันเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทั้งฝ่ายประเทศไทย และฝ่าย สปป.ลาว เห็นควรว่า ให้มีการจัดทำโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงบริเวณนี้ โดยในการศึกษาต้องพิจารณาถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาทางหลวง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน (ASEAN Highway Design Standard) ฉบับล่าสุดปี ค.ศ.2012 รวมทั้งออกแบบทางหลวงให้มีขนาดเหมาะสม ตามผลการวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมและจราจร

สะพานมิตรภาพ-ไทย-ลาว-อุบล-สาละวัน-03.jpg

จากการศึกษาพิจารณาเปรียบเทียบความเหมาะสม ของรูปแบบแนวเส้นทางเลือกตามหลักเกณฑ์ข้างต้น รวมถึงการนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการดำเนินงาน ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนมาพิจารณาประกอบการคัดเลือกสรุปได้ว่า รูปแบบแนวเส้นทางเลือกที่ 3 มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากการพัฒนาโครงการตามแนวเส้นทางที่ 3 มีผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ น้อย รวมทั้งมีจุดตัดแนวเส้นทางโครงการ กับโครงข่ายคมนาคมเดิมน้อย ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถเดินทางในระหว่างการก่อสร้างได้สะดวกและปลอดภัย มากกว่าแนวเส้นทางเลือกอื่น และยังมีผลกระทบจากการโยกย้ายและการเวนคืนที่ดิน/พื้นที่เกษตรกรรมน้อย

สะพานมิตรภาพ-ไทย-ลาว-อุบล-สาละวัน-05.jpg

สำหรับปัจจัยด้านวิศวกรรมและจราจร เนื่องจากแนวเส้นทางโครงการในพื้นที่ของ สปป.ลาว วางตัวอยู่ในสันปันน้ำ โดยแนวเส้นทางเลือกที่ 3 พาดผ่านพื้นที่รับน้ำและเส้นทางการไหลของน้ำน้อยกว่าแนวเส้นทางเลือกแห่งอื่นๆ จึงได้เปรียบในปัจจัยการระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม ส่วนปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุนพบว่า แนวเส้นทางเลือกที่ 3 มีศักยภาพในด้านการพัฒนาพื้นที่ ทั้งในด้านการพัฒนาธุรกิจ การค้า และการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศสูงที่สุด ดังนั้น แนวเส้นทางเลือกที่ 3 จึงเป็นแนวเส้นทางที่เหมาะสมที่จะนำไปศึกษาออกแบบรายละเอียดในขั้นตอนถัดไป

สะพานมิตรภาพ-ไทย-ลาว-อุบล-สาละวัน-02.jpg

สรุปผลการคัดเลือกรูปแบบสะพานที่เหมาะสมของโครงการ รูปแบบที่ 2 สะพานโค้ง ARCH มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีข้อได้เปรียบกว่ารูปแบบอื่นๆ ในปัจจัยด้านความสวยงาม ด้านสถาปัตยกรรม เนื่องจากมีความโดดเด่นแต่ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ ด้วยเส้นโค้งของสะพาน มีความกลมกลืนกับแนวเทือกเขา และยังมีความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ สะพานรูปแบบโค้ง ARCH นี้ จะเป็นสะพานแห่งแรกของสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว และจะเป็นสะพานรถยนต์แห่งแรกของประเทศไทยด้วย ในขณะที่ปัจจัยด้านอื่นๆ คือจำนวนตอม่อของสะพาน ระยะเวลาในการก่อสร้าง การใช้วัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ และการบำรุงรักษานั้น จะมีข้อเสียเปรียบกว่าสะพานคอนกรีตอยู่บ้า' แต่ก็ไม่แตกต่างจากสะพานขึงและสะพานคานดึงมากนัก จะมีเพียงปัจจัยด้านความยากง่ายในการก่อสร้างเท่านั้น ที่จะมีข้อเสียเปรียบมากกว่าทางเลือกอื่น เพราะผู้รับจ้างในประเทศยังไม่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างสะพานโค้ง arch ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่มีสะพานรูปแบบนี้ก่อสร้างในประเทศไทยมาก่อน ดังนั้น รูปแบบที่ 2 สะพานโค้ง arch จึงเป็นรูปแบบสะพานที่เหมาะสม จะนำไปศึกษาออกแบบรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป 

สะพานมิตรภาพ-ไทย-ลาว-อุบล-สาละวัน-06.jpg

 ภาพเสมือนจริงอาคารด่านพรมแดนทั้ง 2 ประเทศ ใช้ลักษณะสถาปัตยกรรมล้านช้างปรับให้เรียบง่ายขึ้นเพื่อให้เหมาะกับการก่อสร้าง ส่วนประติมากรรมเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์สัญลักษณ์ของแต่ละประเทศ  สำหรับฝั่งประเทศไทย กำหนดเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี คือ ดอกบัว และหอไตรที่วัดกลาง แขวงสาละวัน สำหรับประติมากรรมฝั่ง สปป.ลาว

สะพานมิตรภาพ-ไทย-ลาว-อุบล-สาละวัน-07.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511