guideubon

 

นศ. ม.อุบลฯ เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย โครงงาน"กล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน"

หมอนขิด-ยางพารา-บ้านศรีฐาน-อุบล-01.jpg

นักศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดโครงงาน "กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" ปี 10 จากผลงาน 330 โครงการ ใน 99 สถาบันทั่วประเทศ สามารถผ่านสู่รอบ 5 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ ก้าวสู่รอบชิงชนะเลิศ ตัดสินวันที่ 22 เมษายน 2559 ซึ่งทีมที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลกว่า 850,000 บาท

โครงงาน "กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" เป็นโครงการที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้เพิ่มพูนทักษะความรู้ มีการแสดงออกทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้นักศึกษาได้นำเอาความรู้และประสบการณ์ ที่ได้รับจากสถาบันมาพัฒนาชุมชนที่อาศัยอยู่หรือเข้าถึงได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา (ปี 2558) ทีทีมนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่งข้อเสนอโครงการ“การเคลือบสระน้ำเลี้ยงปลาด้วยน้ำยางธรรมชาติ” สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 มาครอง

หมอนขิด-ยางพารา-บ้านศรีฐาน-อุบล-02.jpg

สำหรับในปีนี้ ได้ส่งโครงการ “หมอนขิดจากน้ำยางพารา ต่อยอดภูมิปัญญาบ้านศรีฐาน” เข้าร่วมประกวด จากผลงาน 330 โครงการ ใน 99 สถาบันทั่วประเทศ คัดเลือกเหลือ 40 โครงการ 20 โครงการ และ 5 โครงการ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งทีม ม.อุบลฯ สามารถนำความสำเร็จอีกครั้ง ในรอบชิงชนะเลิศ

หมอนขิด-ยางพารา-บ้านศรีฐาน-อุบล-04.jpg

ความสำเร็จในครั้งนี้ อาศัยความร่วมมือจากทุกระดับ ทั้งระดับ มหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชา ตลอดจนอาจารย์ นักศึกษา และชุมชน ซึ่งมี นายโยธิน ศรีไทย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง มหาวิทยาลัยอุบลราชาธานี เป็นหัวหน้าโครงการ และ อาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง ดร. ศันศนีย์ ศรีจันทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

หมอนขิด-ยางพารา-บ้านศรีฐาน-อุบล-05.jpg

อาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า หมอนขิดจากน้ำยางพารา เป็นโครงการต่อยอดภูมิปัญญาบ้านศรีฐาน ซึ่งชุมชนบ้านศรีฐาน เป็นชุมชนที่มีการสืบทอดวิถีการผลิตหมอนขิด โดยใช้นุ่นจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลานาน ขณะนี้กลุ่มแม่บ้าน ประสบกับปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ อันเนื่องมาจากใยนุ่นในขั้นตอนการผลิต ประกอบกับนุ่นเป็นวัตถุดิบที่กำลังจะขาดแคลน และมีราคาแพง ในกรณีที่มีการสั่งซื้อ

หมอนขิด-ยางพารา-บ้านศรีฐาน-อุบล-06.jpg

กลุ่มนักศึกษาจึงได้เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ ที่จะนำยางพาราที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ทดแทน โดยแนวความคิดนี้ถือเป็นการบูรณาการ ระหว่างสิ่งที่เรียนกับชีวิตจริงได้อย่างกลมกลืน โดยนำความรู้เรื่องเทคโนโลยีการยาง มาทดลองทำไส้หมอนขิดจากยางพารา เพิ่มมูลค่าของยางพารา และหวังให้ทดแทนนุ่นที่มีฝุ่น สร้างตลาดใหม่ให้กับกลุ่มผู้รักสุขภาพ และชาวต่างประเทศ

ในส่วนของการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการความรู้ทุกสาขา นำโดยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะบริหารศาสตร์ สาขาการตลาด ส่วนนักศึกษาที่นำเสนอ ได้แก่

หมอนขิด-ยางพารา-บ้านศรีฐาน-อุบล-03.jpg

- นางสาวพรรทิวา นามบุญ นักศึกษา ชั้นปี 4 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง
- นางสาวฟาริดา แสนศรี นักศึกษา ชั้นปี 4 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง และ
- นางสาวอภิชญา คำทวี ชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์

นี่คือผลงานอีกหนึ่งความภาคภูมิในของนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สามารถบูรณาการการเรียนร่วมกับการพัฒนา มาสู่การการสืบทอดวิถีการผลิตหมอนขิด ส่งเสริมอาชีพ เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น ได้อย่างลงตัว

หมอนขิด-ยางพารา-บ้านศรีฐาน-อุบล-07.jpg

ร่วมส่งกำลังใจให้กับทีม นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการแข่งขันโครงงาน "กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" ปี 10 ในรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 22 เมษายนศกนี้