guideubon

 

อาชีวะอุบลฯ แกะสลักน้ำแข็ง “ปลานิลพ่อหลวง” น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

อาชีวะอุบล-น้ำทิพย์-ปลานิลของพ่อหลวง-01.jpg

วันที่ 5 ธันวาคม 2563 ณ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ กรุงเทพมหานคร ดร.พงษ์ศักดิพล ทาแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นำทีมแชมป์แกะสลักหิมะนานาชาติที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขัน ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 4 ปีซ้อน รังสรรค์ความงดงามจากการแกะสลักน้ำแข็งเป็นวันที่สอง ด้วยผลงาน “น้ำทิพย์” และ“ปลานิลพ่อหลวง” สวยงดงามอวดสายตาของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมงาน “วัยใสปล่อยพลัง ปังสุดใจ” เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2563 ที่ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี มีกำหนดโชว์การแกะสลักน้ำแข็งในระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2563

อาชีวะอุบล-น้ำทิพย์-ปลานิลของพ่อหลวง-05.jpg

ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานที่ครูและนักเรียน นักศึกษา ประกอบด้วย นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ หัวหน้าคณะวิชาศิลปกรรม นายสุระชาติ พละศักดิ์ หัวหน้าแผนกวิชาวิจิตรศิลป์ นำนักเรียน นักศึกษา สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ ประกอบด้วย นาย อำพล ธรรมทอง นายพลรบ รูปคม ทั้งสองได้รับรางวัลจากการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ พร้อมด้วยรุ่นน้องที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นครั้งแรก ได้แก่ นายชวลิต นามมุรี นายพรสวรรค์ วิจิพงษ์ นายสุภาพ ชารีเครือ และนายศรพิชัย นวลศรี ทั้งหมดเป็นนักเรียน นักศึกษา สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ คณะวิชาศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้รังสรรค์อย่างสุดฝีมือ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

อาชีวะอุบล-น้ำทิพย์-ปลานิลของพ่อหลวง-02.jpg

โดยผลงาน “ปลานิลพ่อหลวง” จึงมีแนวคิดมาจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์ นักพัฒนา ที่มีหัวใจหลักในการทรงงานเพื่อประเทศคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ด้วยโครงการในพระราชดำริทั้งสิ้น 4,447 โครงการ และหนึ่งในนั้นคือโครงการปลานิลพระราชทาน

อาชีวะอุบล-น้ำทิพย์-ปลานิลของพ่อหลวง-03.jpg

โดยหลังจากที่พระองค์ได้รับพระราชทานพันธุ์ปลานิลจาก สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งประเทศญี่ปุ่น จึงได้ โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลครั้งแรกที่บ่อในสวนจิตรลดา จากนั้นจึงขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้แก่ราษฎร แล้วปลานิลได้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างอาชีพสร้างรายได้ ส่งผลให้ปวงพสกนิกรชาวไทยดำรงชีวิตอยู่แบบพอเพียง สงบสุข ร่มเย็น เจริญรุ่งเรืองสืบไป

อาชีวะอุบล-น้ำทิพย์-ปลานิลของพ่อหลวง-04.jpg

และอีกผลงานชื่อว่า “น้ำทิพย์” มีแนวคิดมาจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีสายพระเนตรอันยาวไกลและทรงมีน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ ดุจดั่งน้ำทิพย์ที่หลั่งไหลชโลมจิตใจชาวไทยทั่วผืนหล้า เรื่องราวพระราชกรณียกิจนานัปการ โครงการในพระราชดำริน้อยใหญ่ที่ยังคงผลิดอกออกผลอย่างงดงาม สร้างคุณประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติ ทำนุบำรุง และรักษาแผ่นดินไทยให้เจริญรุ่งเรือง เป็นร่มโพธิ์ใหญ่ให้พสกนิกร ชาวไทยทุกภาคส่วน อยู่อย่างผาสุกร่มเย็นตลอดมาสมเป็น “สุวรรณภูมิ” ดั่งที่พระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้

ทั้งนี้หากย้อนไปเมื่อปี 2560 ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้นำผลงาน Water-Fish-Paddy Field-Rice” หรือ "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว" รังสรรค์ปลานิลพ่อหลวงได้อย่างงดงามอ่อนช้อย บนก้อนหิมะสูง 3 เมตร ในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นปีแรกที่เข้าร่วมการแข่งขัน ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เยาวชนคนอีสาน ลูกหลานพันธุ์ข้าวเหนียว อาชีวศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก สามารถคว้าแชมป์แกะสลักหิมะนานาชาติ ด้วยรางวัล TOP GRADE AWARDS ทีมที่มีคะแนนรวมสูงสุดจาก 57 ทีม 15 ประเทศทั่วโลก ที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีนั้น นำชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับอาชีวศึกษาไทยและประเทศไทยได้สำเร็จ

ในปี 2561 ได้รับ รางวัล First Prize (รางวัลที่ 1) และรางวัล Best Technique Award (รางวัลทักษะฝีมือเทคนิคการแกะสลักยอดเยี่ยม) ส่วนปี 2562 และปี 2563 ได้รับรางวัลที่ 2

อาชีวะอุบล-น้ำทิพย์-ปลานิลของพ่อหลวง-06.jpg

อาชีวะอุบล-น้ำทิพย์-ปลานิลของพ่อหลวง-07.jpg