guideubon

 

ม.อุบลฯ แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงาน

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม-ด้านพลังงาน-01.jpg

วันอังคารที่ 28 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดงานแถลงข่าวผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปี 2563 ครั้งที่ 1 ณ Joint Space ถนนเทพโยธี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม-ด้านพลังงาน-02.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แถลงผลงานวิจัยและมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.กุลเชษฐ์ เพียรทอง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ นายจริง ดินเชิดชู ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด พลังเทวดา นักวิจัยที่ได้รับรางวัล “Thailand Energy Awards 2019” จากกระทรวงพลังงาน

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม-ด้านพลังงาน-03.jpg

โดยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรม หม้อไอน้ำชีวมวลประสิทธิภาพสูง เตาชีวมวลทรงกระบอก และเครื่องผลิตลมร้อน ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน (Innovation on Alternative Energy) ผลงาน หม้อไอน้ำชีวมวลประสิทธิภาพสูงใช้ขี้เลื่อยสำหรับ SME ในงานประกวดด้านพลังงาน ระดับประเทศ Thailand Energy Award 2019

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม-ด้านพลังงาน-04.jpg

เตาชีวมวลทรงกระบอก หรือ เตาเทวดา คือ เตาเหล็กทรงกระบอก ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลบดละเอียด อัดแน่น เป็นชั้น ๆ ลงในเตา มีช่องอากาศเข้าด้านล่าง และปล่องเปลวไฟด้านบน และเครื่องผลิตลมร้อน “พลังเทวดา” เป็นเครื่องผลิตลมร้อน ที่ออกแบบมาพิเศษให้ทำงานร่วมกับเตาชีวมวลทรงกระบอก โดยลมร้อนสามารถนำไปใช้ในขบวนการอบแห้งต่าง ๆ ได้ เหมาะกับงานในระดับ SME หรือ วิสาหกิจชุมชนขนาดใหญ่ ๆ สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานของงานอบแห้งได้มากกว่า 10 เท่า เทียบกับการใช้แก๊ส LPG หรือ ไฟฟ้า และสามารถควบคุมอุณหภูมิและสภาวะในห้องอบแห้งได้เป็นอย่างดี ลดระยะเวลาในการอบแห้งได้มากกว่า 5 เท่า ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มกำลังการผลิตได้มาก

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม-ด้านพลังงาน-05.jpg

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้รับรางวัล “2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยานาโน/ตัวดูดซับนาโน เพื่อท้องฟ้าสดใสไร้มลพิษ เป็นการศึกษาเชิงทฤษฎีด้วยการการคำนวณเคมีควอนตัมของตัวเร่งปฏิกิริยา/ตัวดูดซับชนิดต่าง ๆ ด้วยวิธีทางเคมีคำนวณที่มีความแม่นยำสูง ได้แก่ วิธี Density Functional Theory

ซึ่งผลการศึกษาของโครงการวิจัยชิ้นนี้ จะสามารถนำมาใช้เพื่อคัดกรอง (screening) ชนิดของตัวเร่งปฏิกิริยา/ตัวดูดซับ ที่จะมีการพัฒนาชิ้นงานในระดับห้องปฏิบัติการจริง เพื่อช่วยในการออกแบบพัฒนาวัสดุดูดซับในการกำจัดสารที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีประสิทธิภาพสูงพอสำหรับการนำไปใช้ในภาคสนามต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการวิจัยและการให้บริการวิชาการ มียุทธศาสตร์ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นและพัฒนาสู่ระดับสากล และให้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและยกระดับเศรษฐกิจของอีสานใต้ มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่และยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่ได้จริง ซึ่งผลงานวิจัยที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาและสามารถนำไปใช้งานได้จริง

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม-ด้านพลังงาน-06.jpg

ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็น ที่ครอบสวิตซ์ไฟเรืองแสงในที่มืดจากยางพารา ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติยา วงษ์ขันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์

แบบจำลองบ้านประหยัดพลังงาน (Saving Energy Building) ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์

อุปกรณ์ต่อพ่วงระบบเครือข่ายแบบมีเซอร์วิส ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวิน นามมั่น อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม-ด้านพลังงาน-07.jpg

และการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในครัวเรือนแบบยั่งยืน ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม-ด้านพลังงาน-08.jpg

ผลงานวิจัยเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และนำผลการศึกษาและโครงการไปขยายผลกับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป

ดังนั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงานวิจัยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อผู้ที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายการวิจัยร่วมกันในอนาคตที่สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป

ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว