guideubon

 

คณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ปล่อยขบวน น.ศ. มอบ. จิตอาสาช่วยฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำท่วม

เครื่องกรองน้ำ-มุ้งกันยุง-สเปรย์ฉีดกันยุง-01.jpg

วันที่ 6 ตุลาคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษาจิตอาสามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) ร่วมต้อนรับ นายจำลอง พรมสวัสดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี และคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับนักศึกษาจิตอาสามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และร่วมการ Kick Off ปล่อยขบวนนักศึกษาจิตอาสาช่วยฟื้นฟูน้ำท่วม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และร่วมพิธีมอบเครื่องกรองน้ำ มุ้งกันยุง และสเปรย์ฉีดกันยุง ผ่านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อนำไปส่งต่อให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมหลังน้ำลดเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง

เครื่องกรองน้ำ-มุ้งกันยุง-สเปรย์ฉีดกันยุง-02.jpg

จากนั้นเป็นรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม และแผนการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำลดจากทาง ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้เกียรติลงพื้นที่มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่าน ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อส่งต่อไปยังผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม และร่วมกิจกรรม Kick Off ปล่อยขบวนนักศึกษาจิตอาสาช่วยฟื้นฟูน้ำท่วม และทำความสะอาดร่วมกับชาวบ้านจิตอาสาในเขตพื้นที่ชุมชนโดยรอบโรงเรียนบ้านหาดสวนยา ชุมชนหาดสวนยา ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม พร้อมทั้งให้กำลังใจทีมงาน ตลอดจนคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษาจิตอาสามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม และฟื้นฟูหลังน้ำลดต่อไป

เครื่องกรองน้ำ-มุ้งกันยุง-สเปรย์ฉีดกันยุง-03.jpg

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และที่ปรึกษา ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยายสรุปภาพรวม และรายงานผลการดำเนินงานผ่าน ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการวางแผน ประสานความร่วมมือและปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ความช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ระยะที่ 2 ความช่วยเหลือหลังน้ำลด และ

ระยะที่ 3 การรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติในอนาคต

เครื่องกรองน้ำ-มุ้งกันยุง-สเปรย์ฉีดกันยุง-04.jpg

สำหรับการดำเนินงานข้างต้น ทางมหาวิทยาลัยตั้งหน่วยรองรับ 4 ภารกิจเพื่อตอบสนองภาวะฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที เริ่มต้นจากหน่วยรับแจ้งขอความช่วยเหลือ จะรับข้อมูลจากผู้ประสบภัยประมวลผลในแต่ละวัน จากนั้นหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของแต่ละจุดส่งข้อมูลให้หน่วยทรัพยากรและสิ่งสนับสนุน บุคลากร และนักศึกษาจิตอาสาจะระดมกำลังพลบรรจุถุงยังชีพ ขนย้าย และนำส่งไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด และระดับประเทศเพื่อบริหารทรัพยากรและให้ความช่วยเหลือร่วมกัน

ในการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ ตั้งอยู่บนฐานแนวคิดที่สำคัญดังนี้

ประการที่ 1 บูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางในการดำเนินงานและรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ

ประการที่ 2 ผสานความร่วมมือจากทุกสาขาวิชาเพื่อนำความรู้จากห้องเรียนและงานวิจัยไปรับใช้สังคม เมื่อวิกฤติอุทกภัยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลักสูตร/คณะและวิทยาลัยภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต่างระดมองค์ความรู้เพื่อผลิตนวัตกรรมและลงพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนร่วมกัน

ประการที่ 3 ความช่วยเหลือที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม โดยทุกความช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยจะตั้งอยู่บนฐานคิดในการอนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคม

ประการที่ 4 สร้างการมีส่วนร่วมและจิตอาสาของนักศึกษาและบุคลากรอันเป็นลักษณะของพลเมืองที่พึงประสงค์ นักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่วยเหลือสังคมตามความถนัด ผ่านภารกิจหลายรูปแบบ

เครื่องกรองน้ำ-มุ้งกันยุง-สเปรย์ฉีดกันยุง-05.jpg

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับเงินบริจาคจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เป็นเงินจำนวน 2,708,749.47 บาท ผ่านบัญชี “ม.อุบลฯ ทำดีด้วยหัวใจ” นอกจากนี้ยังมีภาคีหน่วยงานร่วมสมทบทุน อาทิ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จำนวน 300,000 บาท สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 291,000 บาท บริษัท MK Restaurant Group จำนวน 150,000 บาท เป็นต้น รายละเอียดผู้สนับสนุนอื่น ๆ จะนำเสนอในรายงานการดำเนินงานของศูนย์ฯฉบับสมบูรณ์ต่อไป

อนึ่ง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ความสำคัญกับภารกิจหลังน้ำลด โดยมีแผนปฏิบัติงานที่สำคัญอันประกอบไปด้วย

1. การช่วยเหลือด้านฟื้นฟูสุขภาพและด้านสาธารณสุข ประกอบไปด้วยการลงพื้นที่ช่วยตรวจคัดกรองผู้ป่วย การรักษาบรรเทาอาการเบื้องต้น การเยียวยาจิตใจและรักษาสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย การจัดเตรียมและบริการยาสามัญประจำบ้านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากน้ำท่วม การจัดเตรียมและส่งมอบผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรม เช่น โลชั่นกันยุง ครีมแก้โรคน้ำกัดเท้า รวมไปถึงน้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างคราบเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน

2. การซ่อมแซม ฟื้นฟูสถานที่สาธารณะ สาธารณูปโภค และสภาพแวดล้อม ประกอบไปด้วย การสำรวจและสนับสนุนการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนประชาชนและสถานที่สาธารณะ การซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคในชุมชน การระดมจิตอาสาเพื่อทำความสะอาดชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยบูรณะ เช่น เครื่องพ่นไล่ยุง เครื่องวัดไฟฟ้ารั่ว เครื่องผลิตโอโซนต้นแบบ และเครื่องกรองน้ำเป็นต้น ทั้งนี้ในการดำเนินงานข้างต้น คณะ/วิทยาลัย รวมไปถึงสโมสรนักศึกษาและชมรมต่างๆของมหาวิทยาลัยจะร่วมภารกิจดังกล่าว

3. การช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูสภาพทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ ประกอบไปด้วย การฝึกอบรมทักษะอาชีพแบบระยะสั้น การให้ความรู้เบื้องต้นในการประสานหน่วยงานราชการในประเด็นสวัสดิการจากภาครัฐ และการแจกจ่ายเมล็ดพันธ์พืช ต้นกล้า รวมไปถึงความรู้ด้านปศุสัตว์เพื่อสร้างอาชีพหลังน้ำลดต่อไป

เครื่องกรองน้ำ-มุ้งกันยุง-สเปรย์ฉีดกันยุง-06.jpg

และเพื่อให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เมื่อยามบ้านของเราเผชิญวิกฤต มหาวิทยาลัยจึงผสานองค์ความรู้ ทรัพยากร และสรรพกำลังเพื่ออยู่เคียงข้างประชาชน ศักยภาพ และผลงานที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 30 ปีของการสถาปนามหาวิทยาลัย สะท้อนออกมาในรูปแบบของกิจกรรม ระบบความช่วยเหลือ และเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และสาธารณชนโดยทั่วกัน

ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่...เว็บไซต์ข้อมูลการดำเนินงาน www.wmis.ubu.ac.th แฟนเพจ Facebook UBUSaveUbon สรุปกิจกรรมของมหาวิทยาลัย https://web.facebook.com/UBUSAVEUBON-102481931147399/ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี http://www.ubu.ac.th/new2018/


ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511