guideubon

 

เชิญสักการะ สรงน้ำ 3 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดหลวงเมืองอุบล

พระเจ้าใหญ่องค์หลวง-พระแก้วไพฑูรย์-หลวงพ่อปากดำ-วัดหลวง-01.jpg

เนื่องในเทศกาลประเพณีสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ไทย ปี 2558 เป็นโอกาสดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้สักการะ สรงน้ำ และขอพร พระเจ้าใหญ่องค์หลวง หลวงพ่อปากดำ และพระแก้วไพฑูรย์ ซึ่งล้วนเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุบล อย่างใกล้ชิด ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2558 ณ วิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวง วัดหลวง

 พระเจ้าใหญ่องค์หลวง-วัดหลวง-01.jpg

สำหรับพระเจ้าใหญ่องค์หลวง พระประธานในวิหารวัดหลวง เมืองอุบลราชธานี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2324 โดยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าครองเมืองอุบลราชธานี สร้างขึ้นพร้อมกับวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแรกในเมืองอุบล เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยอิฐถือปูนปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2.5 เมตร สูง 3.5 เมตร โดยช่างมาจากหลวงพระบาง ในสมัยที่พระมหาราชครูท่านหอแก้วเป็นเจ้าอาวาส และเป็นสังฆปาโมกข์ ประธานสงฆ์แห่งเมืองอุบลราชธานี

เมื่อ พ.ศ.2492 ได้รื้อพระวิหารและซ่อมองค์พระเจ้าใหญ่องค์หลวง สร้างเรือนแก้ว และลงรักปิดทอง ทรงพุทธลักษณะพระพุทธชินราช และบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.2549 เปลี่ยนหลังคาวิหาร และลงรักปิดทองพระเจ้าใหญ่องค์หลวง สิ้นงบประมาณ “แปดแสนบาทเศษ” โดยให้ช่างมาจากราชสำนักเป็นผู้ลงรักปิดทอง ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

 พระเจ้าใหญ่องค์หลวง-พระแก้วไพฑูรย์-หลวงพ่อปากดำ-วัดหลวง-02.jpg

พระแก้วไพฑูรย์ เป็นพระแก้วเกิดจากหินธรรมชาติ อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลราชธานีมานานแต่บรรพบุรุษของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้ถวายให้เป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม เมื่อเจ้านายทางกรุงเทพมหานครมาปกครองเมืองอุบลราชธานี ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี เกรงว่าเจ้านายทางกรุงเทพฯ จะบังคับเอาพระแก้วทั้งสององค์ไปเป็นสมบัติของส่วนตัว จึงได้พากันเอาพระแก้วทั้งสององค์แยกกันไปซ่อนไว้โดยมิดชิด ไม่ยอมแพรงพรายให้รู้จักของคนทั่วไป

ต่อมาเมื่อสร้างวัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) โดย เจ้าอุปฮาชโท บิดาของ พระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงได้เชิญเอาพระแก้วทั้งสององค์ออกมาจากที่ซ่อน สำหรับพระแก้วบุษราคัมนั้นได้ถวายแด่ พระเดชพระคุณพระเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) และเป็นสัทธิวิหาริกของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เจ้านายมาจากกรุงเทพฯ คงจะมีความเกรงใจไม่กล้าที่จะขอเอาพระแก้วบุษราคัมและพระแก้วไพฑูรย์ ไปจากเมืองอุบลราชธานี

ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น ทายาทของเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีเอาไปเก็บรักษาไว้ เพราะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบรรพบุรุษ ต่อมาภายหลังจึงได้นำมาถวาย พระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดหลวง ให้เป็นสมบัติของวัดหลวงตามเดิม ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

พระแก้วไพฑูรย์ เป็นหนึ่งในแก้วอันเป็นรัตนชาติ คือ เพชรดีมณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม ทองแก่กำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์ หากจะยกองค์พระนั้นขึ้น ส่องจะเห็นเป็นคล้ายสายฝนหยาดลงมาจากฟ้า อันเป็นนิมิตหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกตามฤดูกาล

พระเจ้าใหญ่องค์หลวง-พระแก้วไพฑูรย์-หลวงพ่อปากดำ-วัดหลวง-03.jpg

 หลวงพ่อปากดำ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน เล่ากันว่าพระโอษฐ์ (ริมฝีปาก) ท่าน จะเปลี่ยนสีไปตามฤดูกาล