guideubon

 

ศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลฯ

บริจาคอวัยวะ-ดวงตา-อุบล-01.jpg

โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี มีศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ สภากาชาดไทย ​อยู่ในโรงพยาบาล เชิญชวนผู้สนใจแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะตาม​ QR​ code​ ที่ได้จัดทำขึ้นนี้ และช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อผู้ป่วยอวัยวะวายระยะสุดท้ายที่เฝ้ารออย่างมีความหวัง

ติดต่อศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ
โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
โทร 045-3192000 ต่อ 1703
หรือ 091-0411732

บริจาคอวัยวะ-ดวงตา-อุบล-02.jpg

10 ข้อน่ารู้ เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ

1. ภาวะสมองตายคืออะไร
ภาวะสมองตาย คือ ภาวะที่สมองและแกนสมองสูญเสียการทำงานอย่างถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ในภาวะสมองตายนี้ อวัยวะในระบบอื่นอาจทำงานได้อีกระยะเวลาหนึ่งก่อนหัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สามารถบริจาคอวัยวะได้

2. การบริจาคอวัยวะ และ การบริจาคร่างกายแตกต่างกันอย่างไร
การบริจาคอวัยวะ เป็นการบริจาคอวัยวะที่ทำงานเป็นปกติของผู้บริจาค เพื่อรักษาผู้ป่วย ขณะที่การบริจาคร่างกายเป็นการอุทิศร่างกายภายหลังการตายตามธรรมชาติเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่สำหรับการเรียนการสอนทางการแพทย์

3. สถานการณ์การปลูกถ่ายอวัยวะในปัจจุบัน
ประเทศไทยขาดแคลนอวัยวะอย่างมาก มีผู้ป่วยลงทะเบียนรอรับอวัยวะบริจาคกว่า 6000 ราย ขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะเพียงไม่ถึง 300 รายต่อปี นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
*อ้างอิงจากสถิติการรับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

4. ผู้บริจาคอวัยวะ 1 คน สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้สูงสุดกี่คน?
การบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย 1 ราย มีโอกาสสามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายและช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากถึง 8 ราย ได้แก่ หัวใจ, ปอด 2 ข้าง, ตับ, ไต 2 ข้าง, ตับอ่อน และลำไส้เล็ก นอกจากนั้นยังสามารถบริจาค ดวงตา กระดูกและผิวหนัง เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นๆได้อีกด้วย

5. คุณสมบัติของผู้บริจาคอวัยวะและการแสดงความจำนงเพื่อบริจาคอวัยวะ
ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะควรมีอายุ < 70 ปี มีการทำงานของอวัยวะที่จะบริจาคปกติ ปราศจาคโรคติดต่อและโรคมะเร็ง โดยสามารถแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดทุกจังหวัด หรือ โรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะ และโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกแห่ง

6. ทราบหรือไม่ว่า...การปลูกถ่ายอวัยวะและการเปลี่ยนอวัยวะแตกต่างกันอย่างไร?
คำว่า “ปลูกถ่าย” เป็นคำที่ถูกต้องสมบูรณ์กว่า เนื่องจาการผ่าตัดใส่อวัยวะใหม่ให้ผู้ป่วยนั้นอาจไม่จำเป็นต้อง “เปลี่ยน” หรือผ่าตัดนำอวัยวะเก่าออกด้วยเสมอไป เช่น การปลูกถ่ายไต หรือตับอ่อน ขณะที่การใส่อวัยวะใหม่บางอวัยวะจำเป็นต้องใส่อวัยวะใหม่ในตำแหน่งเดิม เช่น หัวใจ และ ตับ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดนำอวัยวะเก่าออกก่อน

7. คุณสมบัติของผู้ป่วยที่รอรับการบริจาคอวัยวะ?
คือ ผู้ป่วยที่มี การล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะนั้นอาจฉุกเฉินหรือเรื้อรัง และไม่สามารถที่จะรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดวิธีอื่น

ข้อมูลจากศูนย์ปลูกถ่ายตับศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511