guideubon

 

งานเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา

หม่อมเจียงคำ-อุบล-01.jpg

จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับกองทุนเครือข่ายแห่งบุญ หม่อมเจียงคำอนุสรณ์ กำหนดจัดงานเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีบูชาพระคุณ ในวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2561 ณ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ภาพเก่าลงสีใหม่-หม่อมเจียงคำ-03.jpg
ภาพโดย ศิลปิน S. Phormma's Colorizations

หม่อมเจียงคำ-อุบล-02.jpg

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เกิดเมื่อ พ.ศ.2422 ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นธิดาคนที่ 9 ของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น บุตโรบล) กับนางดวงจันทร์ ได้เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองดั้งเดิม ถวายตัวเป็นหม่อมห้ามในพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลาวกาว (อิสาณ) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2436 มีโอรส 2 องค์คือ ม.จ.อุปลีสาณ ชุมพล และ ม.จ.กมลีสาณ ชุมพล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481 สิริอายุ 59 ปี อัฐิของท่านบรรจุที่ด้านหน้าอุโบสถวัดสุทัศนาราม

หม่อมเจียงคำ-อุบล-03.jpg

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลสำคัญ ที่เป็นแบบอย่างสร้างคุณงามความดีเป็นมรดกตกทอดให้กับพี่น้องชาวอุบลราชธานี ท่านเป็นบุคคลต้นแบบที่ได้ส่งเสริม สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม รวมทั้งวัฒนธรรมไทยอีสาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่า เป็นวัฒนธรรมของไทยที่อยู่คู่กับเมืองอุบลราชธานี ให้กับพี่น้องชาวอุบลราชธานีได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา จนอุบลราชธานีได้ชื่อว่าเป็น เมืองแห่งนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม

วันเด็กแห่งชาติ-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.jpg

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตแล้ว ท่านยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการเสียสละ มีความกตัญญูกตเวที บำเพ็ญประโยชน์ในด้านการรวบรวมทรัพย์สินที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดและของญาติๆ ยกให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่แผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้

  1. บริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี (ศาลากลางจังหวัดฯ หลังแรก) และศาลหลักเมือง
  2. บริเวณที่ตั้งเทศบาลนครอุบลราชธานี (สโมสรข้าราชการพลเรือนเดิม)
  3. บริเวณทุ่งศรีเมืองและโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี
  4. บริเวณที่ตั้งศาลจังหวัด, ศาลแขวง และบ้านพักผู้พิพากษา
  5. บริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี
  6. บริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (ถูกไฟไหม้ ปี 2553), อาคารโรงเรียนเบญจะมะฯ ไปจนถึงบริเวณที่ตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
  7. บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งหม่อมเจ้าชายทั้ง 2 องค์ ผู้เป็นบุตร ได้ที่ตกทอดมาเป็นมรดก จำนวน 27 ไร่ ประทานให้แก่ทางราชการเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เสด็จพ่อและหม่อมแม่ เมื่อ พ.ศ. 2474

หม่อมเจียงคำ-อุบล-04.jpg

กำหนดการจัดงาน เชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2561 ณ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

เวลา 06.30 น. จัดตั้งขบวนแห่ขันหมากเบ็ง เชิดชูเกียรติและรําลึก หม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

เวลา 07.00 น. - แห่ขบวนขันหมากเบ็ง เชิดชูเกียรติและรําลึกหม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา มายังวัดสุทัศนาราม (ตามเส้นทางที่กําหนด)

เวลา 07.30 น. หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา พร้อมกัน ณ อุโบสถวัดสุทัศนาราม ลงทะเบียนร่วมงานและวางขันหมากเบ็ง

เวลา 08.00 น. - ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธานในพิธีเดินทางมาถึงบริเวณพิธีในอุโบสถ

เวลา 09.00 น. ส่วนราชการ หน่วยงาน บุคคล วางขันหมากเบ็ง ตามลําดับ

- ประธานวางขันหมากเบ็ง จุดเครื่องทองน้อย บริเวณสถานที่บรรจุอัฐิ (ด้านล่างหน้าอุโบสถ) กล่าวเชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา (โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี)

- มอบโล่รางวัล “หม่อมเจียงคํา”

- ลํากลอนเชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา (โดยอาจารย์ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม) ฟ้อนรําเชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา (โดย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์)

- เสร็จพิธี

หมายเหตุ

แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองอุบล /ย้อนรอยหม่อมเจียงคํา / หรือชุดสุภาพ