guideubon

 

พิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรม เจ้าคำผง ประจำปี 2560

สดุดีวีรกรรม-เจ้าคำผง-01.jpg

นับแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ "พระประทุม" เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมือง "อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช" เมื่อปีพุทธศักราช 2335 หากนับถึงปัจจุบัน ปีพุทธศักราช 2560 ก็ได้ 225 ปี อันแสดงให้เห็นว่า เมืองอุบลราชธานี มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาอันยาวนาน มีความเจริญก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน มีขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม ประชาชนชาวเมืองอุบลราชธานี เป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ จนเป็นที่ยอมรับกันว่า "อุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์"

อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช-01.jpg

สาเหตุที่เมือง "อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช" มีคำว่า "ราชธานี" ต่อท้ายนั้น หมายถึงเป็นเมืองอาสาข้าหลวงเดิม เพราะถ้ามีราชสงครามมาติดพันประเทศชาติ เมืองอุบลก็จะตามเสด็จไปปราบปรามทุกครั้ง ในฐานะเป็นประเทศราช ส่วนคำว่า "ประเทษราช" สันนิษฐานว่า คงถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 3 (ไกด์อุบล : 222 ปีอุบลราชธานี)

เมืองอุบลราชธานี-01.jpg

อีกประการหนึ่ง เจ้าพระตาและเจ้าพระวอ บรรพบุรุษผู้ก่อสร้างเมืองอุบล เป็นโอรสเจ้าปางคำ เจ้านายเวียงจันทน์ สืบเชื้อสายมาจากนครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า มีฝีมือเข้มแข็งกล้าหาญ เคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหนองบัวลุ่มภู สืบต่อจากเจ้าปางคำผู้เป็นบิดา หลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้านายเชื้อสายพระราชวงศ์ของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ คือ การได้ปกครองเมืองหนองบัวลุ่มภู ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีไพร่พลมาก ดังปรากฏเมืองหน้าด่านทั้ง 4 คือ เมืองภูเขียว ภูเวียงผ้าขาว และพันนา การได้ดำรงตำแหน่งในอาชญาสี่ หรืออาญาสี่ (เจ้าเมือง อุปราช ราชวงศ์ ราชบุตร) เมื่อถึงแก่อสัญกรรม มีการทำพิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์ ซึ่งจัดให้เฉพาะตำแหน่งอาชญาสี่เท่านั้น และเมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าประเทศราช ต่างจากเมืองเขมรป่าดง เช่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 6 ได้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2459 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล "ณ อุบล" อันหมายถึงเชื้อสายเจ้านายอุบลราชธานีแต่โบราณ (ไกด์อุบล : 222 ปีอุบลราชธานี)

สดุดีวีรกรรม-เจ้าคำผง-03.jpg

พระประทุมสุรราช (เจ้าคำผง) บุตรพระตา อพยพไพร่พลจากบ้านห้วยแจระแม มาตั้งอยู่ที่ ดงอู่ผึ้ง ในปลาย พ.ศ.2322 แล้วขนานนามเมืองว่า "เมืองอุบล" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเมืองหนองบัวลุ่มภูอันเป็นชื่อบ้านเดิม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ "พระประทุม" เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมือง "อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช" เมื่อวันจันทร์แรม 13 ค่ำเดือน 8 จุลศักราช 1154 ตรงกับวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พุทธศักราช 2335 และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2338 สิริอายุได้ 85 ปี (ไกด์อุบล : 222 ปีอุบลราชธานี)

ทุกวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานี รวมไปถึงชาวยโสธรและอำนาจเจริญ (แยกตัวออกจากจังหวัดอุบลราชธานีในภายหลัง) กำหนดให้เป็นวันประกอบพิธีบวงสรวง พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ตั้งแต่ประมาณปี 2540 เป็นต้นมา  และในปี 2549 ได้เปลี่ยนชื่องานเป็น งานสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)

สดุดีวีรกรรม-เจ้าคำผง-06.jpg

กำหนดการ งานสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ประจำปี 2560

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง

9.00-21.00 น. การจัดแสดงนิทรรศการ เนื่องในงานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรม พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) บริเวณทุ่งศรีเมือง

18.30-19.30 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ ศาลาจตุรมุข ทุ่งศรีเมือง

19.30-22.00 น. พิธีปฏิบัติธรรม ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง

สดุดีวีรกรรม-เจ้าคำผง-05.jpg

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ณ วัดหลวง และบริเวณทุ่งศรีเมือง

06.00 น. พิธีกรเชิญประธานในพิธี (ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี) ประกอบพิธีไหว้พระเจ้าองค์หลวง และพิธีสักการะอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าคำผง ณ วัดหลวง

07.00 น. เคลื่อนขบวนอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองตามแบบโบราณ และขบวนหน่วยงานต่างๆ จากวัดหลวง มายังอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) บริเวณทุ่งศรีเมือง

07.30 น. ประธานในพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ 9 รูป ณ ศาลาจตุรมุข ทุ่งศรีเมือง หน่วยงานต่างๆ เริ่มวางขันหมากเบ็ง

08.15 น. พิธีกรเชิญหน่วยงานหลัก 20 หน่วย งานวางขันหมากเบ็ง

09.00-11.00 น. ประธานในพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จุดธูปเทียน ประกอบพิธีบวงสรวง / เปลี่ยนผ้าแพร สักการะด้วยมาลัยกร และวางขันหมากเบ็ง / กล่าวสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)

สดุดีวีรกรรม-เจ้าคำผง-02.jpg

พราหมณ์อ่านโองการและลั่นฆ้องชัย / การแสดงรำสดุดีถวายสักการะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี / การฟ้อนถวายมือจากประชาชนชาวอุบลราชธานี อำนาจเจริญและยโสธร

เสร็จพิธี

13.00-16.00 น. การจัดนิทรรศการวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี

16.00-18.00 น. การเสวนาเรื่อง งานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี 11 พฤศจิกายน หน้าอนุสาวรีย์แห่งความดีชาวอุบลราชธานี

หมายเหตุ : มีการจัดแสดงนิทรรศการ บริเวณทุ่งศรีเมือง ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.00-21.00 น.

การแต่งกาย แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง
- สุภาพบุรุษ สวมเสื้อราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน หรือสวมเสื้อผ้าพื้นเมือง
- สุภาพสตรี สวมเสื้อแขนกระบอก มีสไบเฉียง ผ้าซิ่นกาบบัว หรือผ้าซิ่นลายล่องมีเชิง
- หน่วยงานต่างๆ แต่งกายตามเครื่องแบบของหน่วยงาน

การวางขันหมากเบ็ง หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐภาค เอกชน และประชาชน จัดวางขันหมากเบ็งเพื่อถวายสักการะ อนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 หน่วยงานละ 1 คู่