guideubon

 

พ่อเมืองอุบล เยือนชุมชนคนทำเทียน วัดพลแพน

เยือนชุมชน-วัดพลแพน-01.jpg

วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางไปยังวัดพลแพน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจช่างเทียน ในการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ขนาดใหญ่ ร่วมในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2560 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้ร่วมติดแผ่นเทียนพรรษาบนต้นเทียนด้วย

เยือนชุมชน-วัดพลแพน-02.jpg

สำหรับประวัติการทำต้นเทียนพรรษาของวัดพลแพน เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทช่างเทียนรุ่นใหม่ ประจำปี 2551 และ 2552 จากนั้นขยับขึ้นแข่งขันในประเภทติดพิมพ์ขนาดเล็ก ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ปี 2553 และรางวัลชมเชย ปี 2554

เยือนชุมชน-วัดพลแพน-03.jpg

ปี พ.ศ.2555 ต้นเทียนพรรษา คุ้มวัดพลแพน ก้าวขึ้นมาอีกรุ่น เข้าแข่งขันต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดกลาง ได้รับรางวัลชมเชย และปีถัดมา 2556 ก็ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ ขนาดกลาง

เยือนชุมชน-วัดพลแพน-04.jpg

ชุมชนคุ้มวัดพลแพน ตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการขยับขึ้นมาแข่งขันในรุ่นต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ.2557 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในปี 2558

เยือนชุมชน-วัดพลแพน-05.jpg

พ.ศ.2559 หรือปีที่ผ่านมา คุ้มวัดพลแพนถือว่า ประสบความสำเร็จสูงสุด ได้รับรางวัลชนะเลิศ ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ขนาดใหญ่ เข้ารับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างเต็มภาคภูมิ

เยือนชุมชน-วัดพลแพน-07.jpg

งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี ประจำปี 2560 ต้นเทียนพรรษาคุ้มวัดพลแพน เข้าร่วมประกวดอีกครั้ง ในฐานะแชมป์เก่า ที่ต้องพยายามรักษาแชมป์ไว้ให้ได้อีกปี ภายใต้การควบคุมโดยหัวหน้าช่างคนเดิม นายสุชัย จันทร์ส่อง ซึ่งขณะนี้ ต้นเทียนพรรษาของวัดพลแพน ดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่า 95% เหลือเก็บรายละเอียดงานอีกเล็กน้อยเท่านั้น

เยือนชุมชน-วัดพลแพน-06.jpg

ต้นเทียนของวัดพลแพน ด้านหน้าของต้นเทียนจัดทำเป็นรูป พระพรหมทรงหงส์ เป็นเรื่องราวของชาติที่ 10 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่พระเวชสันดรทรงม้าออกจากพระนครพร้อมกับนางมัทรี และกัณหาชาลี ซึ่งในทศชาติชาดกเรื่องนี้ แสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมีคือ บริจาคทาน อันแสดงถึงการเสียสละส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ คือ การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันจะเป็นทางให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้ดียิ่ง มิใช่เสียสละโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเหตุผล