guideubon

 

เกี่ยวกับราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์

ubrugames46-02.jpg

กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2513 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขัน 8 มหาวิทยาลัย มีการจัดการแข่งขันมาแล้วรวม 45 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 46 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน

ก่อนปี พ.ศ. 2500 การแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยยังมีไม่มากนัก มีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการแข่งขันเพียง 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในการแข่งขันในครั้งนั้นยังไม่ได้เรียกว่า กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย รวมทั้งรูปแบบการแข่งขันก็ไม่ได้รวมการแข่งขันกีฬาหลายชนิดมาแข่งพร้อมกันอย่างเช่นปัจจุบัน

ubrugames46-05.jpg

จนกระทั่ง พ.ศ. 2513 ได้มีการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขัน ให้มีการรวมเอากีฬาชนิดต่างๆ มาแข่งพร้อมกัน โดยใช้เวลาจัดการแข่งขันประมาณ 1 สัปดาห์ ในการจัดการแข่งขันครั้งแรกนั้น มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 8 มหาวิทยาลัยใน 12 ชนิดกีฬา

ปัจจุบัน การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและสมัครใจจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการจัดการแข่งขัน

ubrugames46-04.jpg

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเกียรติจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรก โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ. 2558 และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเป็นแห่งที่สอง ซึ่งนับว่าเป็นมหาวิทยาลัย “ราชภัฏ” แห่งแรก ที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ทางด้านตะวันออกสุด และเป็นพื้นที่ที่เห็นแสงอาทิตย์จังหวัดแรกของประเทศ ใช้ชื่อการแข่งขันว่า "ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์" กำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 11-20 มกราคม 2562

ubrugames46-03.jpg

สัญลักษณ์การแข่งขัน "ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์" ออกแบบเป็นลายสานรูปดวงอาทิตย์ ที่สื่อความถึงจังหวัดอุบลราชธานี และลายสานที่สื่อถึง “ความสามัคคี” อันเป็นเป้าหมายของการแข่งขันกีฬา และสื่อถึง “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งเป็นปณิธานของมหาวิทยาลัยราชภัฏในการเป็น “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” สีของเส้นสาน ใช้สีตามตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้พระราชทานนามมหาวิทยาลัย “ราชภัฏ”