guideubon

 

ผลิตผลราชภัฏอุบลฯ สู่คนข่าวระดับ ประเทศ (ทาระ)

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-01.jpg

“ข่าวสาร” กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต นักข่าวและนักหนังสือพิมพ์มีความสำคัญในฐานะคนกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข่าวสารที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนไปยังผู้อ่าน เปรียบได้กับกระจกที่สะท้อนสังคมในทุก ๆ ด้าน อีกทั้งยังเป็นอาชีพในฝันของหลาย ๆ คน และโดยเฉพาะในปัจจุบันที่เป็นยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารเจริญรุดหน้า การทำหน้าที่ของนักข่าว - สื่อมวลชน จึงเป็นที่ท้าทายและมีคำถามถึงมาตรฐานและความเป็นมืออาชีพจากสังคมทั่วไป เนื่องในโอกาสวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปีที่ถือเป็น “วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2498 จึงถือเอาเรื่องราวความฝันและความตั้งใจของนักสื่อสารมวลชนหนุ่มชาวอุบลราชธานีคนหนึ่ง มาถ่ายทอด – แบ่งปัน เพื่อเป็นแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่สนใจในงานด้านสื่อสารมวลชน

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-03.jpg

“ประเทศ ทาระ” นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ แห่งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ “NBT2HD” ที่หลายท่านอาจเคยพบเจอในหน้าจอโทรทัศน์ ช่อง 2 - NBT2HD ทำหน้าที่ผู้ประกาศ “ข่าวต้นชั่วโมง” ผู้ประกาศข่าว “NBT NEWS ภาคดึก” และพิธีกรในการถ่ายทอดสดนอกสถานที่ของสถานี ฯ หลายงาน อาทิ พิธีกรการถ่ายทอดสดงานสโมสรสันนิบาตของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) พิธีกรการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และอีกมากมายหลายงานนับไม่ถ้วน

เริ่มต้นความฝันที่นักศึกษานิเทศศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบล ฯ

ประเทศ ทาระ กับชีวิตเด็กต่างอำเภอที่มีความฝันต่างจากเพื่อน ๆ รอบตัว และต่างจากทุกคนในครอบครัว ที่คุณแม่อยากให้รับราชการเหมือนญาติ ๆ ฝั่งพ่อ ที่ส่วนใหญ่เป็น “ครู” เมื่อจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เลือกสอบเข้าเรียนต่อสาขาวิชานิเทศศาสตร์ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี (ชื่อในขณะนั้น) เป็นรุ่นที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2544 เริ่มต้นความฝันบันไดไปสู่นักข่าว - ผู้ประกาศข่าว ซึ่งประเทศยอมรับว่า “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ารักในสิ่งที่เลือกมาเรียนจริงหรือไม่? และยังต้องทำให้ครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่รู้สึกภูมิใจและเห็นด้วยกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์ที่เราเลือกมาเรียนด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงหนึ่งที่มีความสุขมาก ๆ”

สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐาน คือ เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ “ผมอ่านหนังสือเยอะมาก ๆ เพราะเชื่อว่าการที่เราอ่านเยอะ ๆ เราจะมีต้นทุนทางความรู้มากกว่าคนอื่น ๆ และมันจะทำให้เรามีชุดความคิดที่ดูเป็นระบบระเบียบมากกว่า” นิสัยนี้ส่งผลมาถึงการเรียนและการทำงานต่อมา โดยเฉพาะงานข่าวที่ต้องเรียบเรียงและนำเสนออย่างเป็นระบบ ต้องมีการจัดระเบียบทางความคิดที่ดี ประเทศกล่าวต่อว่า “ผมมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์ ดร.นิภา ชุณหภิญโญกุล ที่คอยให้คำแนะนำดูแลผมเป็นอย่างดี ท่านเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้ผมประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ อาจารย์สอนทุกอย่าง ทั้งความรู้ในอาชีพ สอนนิสัย สอนมารยาทและการวางตัว พาทำกิจกรรมนักศึกษา รู้สึกประทับใจและมีความสุขทุกครั้งที่นึกถึงขณะที่เรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี” 

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-04.jpg

อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องคว้าโอกาสฝึกฝนทุกอย่าง

ในขณะที่เรียนนิเทศศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ต้องทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งกิจกรรมของมหาวิทยาลัย กิจกรรมของคณะ และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะในหลักสูตร รางวัลหนึ่งที่ภาคภูมิใจมาก คือ “ชนะเลิศการประกวดดีเจทูบีนัมเบอร์วัน ระดับประเทศ” ที่กว่าจะได้รางวัลนี้มาก็ต้องผ่านการแข่งขันหลายด่าน ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ระดับจังหวัด ระดับภาค ที่เขาชนะเลิศมาทุกรอบ และต้องไปแข่งกับผู้ชนะตัวแทนภาคอื่น ๆ รางวัลนี้มีส่วนสำคัญที่ต่อมาทำให้ได้รับ “รางวัลนักศึกษาดีเด่นพระราชทาน”

“รางวัลนี้ ทำให้ครอบครัวเริ่มเห็นและเข้าใจว่าเราสามารถประสบความสำเร็จได้แล้วในระดับหนึ่ง” จากนั้นช่วงเรียนชั้นปีที่ 4 ได้เข้าประกวดคัดเลือกดีเจระดับจังหวัดเพื่อให้มีโอกาสเซ็นต์สัญญาทำงาน จากที่ได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้วทำให้ครั้งนี้กดดันพอสมควร เพราะได้รางวัลระดับประเทศมาแล้ว แต่ไปแข่งในระดับจังหวัด “ยอมรับว่าเครียด และมีหลายคนเตือนว่าถ้าแพ้มานี่ รางวัลใหญ่ที่ได้มาจะถูกลดคุณค่าลงนะ” เขาเปลี่ยนแรงกดดันเป็นพลังขับให้ฝ่าฟันเอาชนะมาได้ แล้วก็ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ต้องแบ่งเวลาระหว่างช่วงกลางวันที่ต้องไปเรียน ต้องมีเวลาสำหรับฟังเพลงมากขึ้น หาข้อมูลมากขึ้นเพื่อไปจัดรายการวิทยุในช่วงกลางคืนต่อ 

ก้าวสู่เส้นทางอาชีพที่ใฝ่ฝัน

“สำหรับผมแล้ว นักข่าวเป็นอาชีพที่มีความท้าทายและมีความสำคัญต่อคนในสังคมเป็นอย่างมาก เพราะนักข่าวต้องนำเสนอเหตุการณ์ข้อเท็จจริง ซึ่งสื่อก็เปรียบเสมือนห้องเรียนของสังคม เชื่อมั่นว่าหากมีนักข่าวที่ดีและสื่อที่ดี ประเทศชาติ ก็จะดีตามไปด้วย”

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-05.jpg

แม้ว่าจะมีโอกาสได้สัมผัสงานวิทยุ แต่ยังไม่ทิ้งความฝันแรกเริ่มคือการเป็นผู้ประกาศข่าว - นักข่าว โดยเมื่อเรียนจบแล้ว ประเทศได้รับโอกาสจาก “โสภณเคเบิ้ลทีวี” ให้เรียนรู้การทำงานในสายงาน “นักข่าว” โดยมี “อาร์ต - สุธน ประกอบพร” (ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวช่อง 5) เป็นพี่เลี้ยงที่สอนทุกอย่าง และในที่สุดก็ฝึกฝนจนได้เป็น “ผู้ประกาศข่าวเย็นของโสภณเคเบิ้ลทีวี” ที่ทำแบบฟรีแลนซ์ ต่อมาก็ได้มาทำงานและเรียนรู้ที่ “ศูนย์ข่าวประชาสังคม” ที่มีขอบเขตงานที่รับผิดชอบกว้างขึ้น ได้เรียนรู้มากมายหลายหน้าที่ งานข่าวก็มีความเข้มข้นมากขึ้น ช่วงนั้นเป็นทั้งผู้เขียนข่าว ผู้ประกาศข่าวของ RTV 

งานต่าง ๆ ที่ทำในแวดวงนักข่าว - สื่อมวลชนนี้เอง ที่ทำให้เขาได้รับข่าวสารและตัดสินใจสมัครสอบเข้ารับราชการกับกรมประชาสัมพันธ์ ได้บรรจุทำงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จ.อุบลราชธานี ทำหน้าที่ผลิตรายการให้กับสถานี ฯ ในรายการ “รายการ 8 โมงเช้า ข่าว NBT” จากนั้นทำงานตามหน้าที่ในสายงานเรื่อยมา จนได้รับโอกาสให้ย้ายเข้าไปทำงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ “NBT2HD” กรุงเทพมหานคร และเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตานับถึงปัจจุบัน โดยยกเอา “กิตติ สิงหาปัด” และ “สุทธิชัย หยุ่น” เป็นแบบอย่างในการทำงาน

ประเทศบอกว่า “ได้ทำงานที่ตนเองใฝ่ฝัน เมื่อทำข่าวออกมาแล้วมีคนดู คนชื่นชม คนชอบข่าวของเรา การออกไปทำข่าวแต่ละข่าวนั้น เราจะได้สัมผัสถึงความสุข ความภาคภูมิใจ และสนุกในการทำงานอยู่เสมอ ๆ” 

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-02.jpg

เมื่อต้องเป็นสื่อมวลชน “มืออาชีพ”

ประเทศ มองว่าการทำงานสื่อ หลีกเลี่ยงความกดดันและปัญหาอุปสรรคไม่ได้เลย โดยเฉพาะการทำงานที่มีเส้นตาย มีเงื่อนไขและข้อจำกัด รวมถึงต้องทำงานที่ใช้ทักษะหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสูง ต้องเอาตัวรอดได้ ในฐานะสื่อของรัฐก็ต้องย่อยเรื่องยาก ๆ เช่น นโยบายของรัฐ ให้เป็นภาษาที่ง่าย ให้เป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าใจได้ ซึ่งบางเรื่องเป็นโจทย์ที่ยากมาก ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้

“ผมเชื่อว่าปัญหาอุปสรรคทุกอย่างมันเกิดขึ้นมาได้ มันก็ต้องมีจุดที่เราสามารถจบมันหรือแก้มันได้ หรือถ้าแก้ไม่ได้จริง ๆ ก็แค่ยอมรับมันแล้วค่อยหาทางอีกที ที่อยากบอกคือ อย่าไปจมอยู่กับปัญหานานจนเกินไป และอย่าเอาเวลาในชีวิตทั้งหมดไปเทใส่ในงาน อาจจะพูดง่ายแต่ก็ทำยาก เพราะงานข่าว งานสื่อ บางครั้งก็หาเวลาหยุดไม่ได้ แต่ถ้าไม่หยุดเราจะเครียด หลายคนชีวิตครอบครัวก็แทบจะจบลงไปเลยก็มี เราต้องแบ่งเวลาให้ครอบครัวและให้ตัวเราเองด้วย เราต้องมีโอกาสพักผ่อน (บ้าง) ได้ทำในสิ่งที่เรารักเราชอบ มีงานอดิเรก เพื่อที่จะให้เรามีไอเดียใหม่ ๆ มีความสร้างสรรค์ในงานต่อไป”
“นักข่าวควรเป็นบุคคลที่อ่อนน้อมถ่อมตน สมถะ ก้มหน้าก้มตาตั้งใจทำหน้าที่ของตนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อประชาชน เพื่อชุมชน และเพื่อประเทศชาติ ไม่เรียกร้อง ไม่สร้างอภิสิทธิ์ใด ๆ” 

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-06.jpg

ฝากถึงน้อง ๆ เยาวชนที่มีความใฝ่ฝันอยากทำงานสื่อสารมวลชน

1. หากคิดจะเรียนนิเทศศาสตร์ : นิเทศศาสตร์ให้อะไรหลาย ๆ อย่างมากกว่าที่คิด ไม่ใช่ว่าจะเป็นเพียง “นักข่าวไส้แห้ง” หรือ “เต้นกินรำกิน” ซึ่งอาจเป็นชุดความคิดเก่า ๆ นิเทศศาสตร์กว้างกว่านั้น สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ หรือจะสร้างอาชีพใหม่จากความรู้ด้านนี้ก็ได้ ตัวอย่างมากมายที่มีทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นยูทูปเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ศาสตร์ของการสื่อสารทั้งนั้น ตอนนี้โลกมันหมุนไปเร็วมาก ทุกองค์กรยังมีความจำเป็นจะต้องใช้บุคลากรที่จบจากสายงานนี้ หรือถ้าน้อง ๆ อยากเป็นข้าราชการ ก็รอสอบบรรจุเข้ามาที่กรมประชาสัมพันธ์แบบพี่ก็ได้

2. นิสัยแห่งความสำเร็จของงานด้านนี้ : น้อง ๆ ต้องมีความกระตือรือร้นและใฝ่รู้ให้มาก ๆ ถ้าอยากประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในสายงานข่าว จำเป็นจะต้องมีนิสัยรักการอ่าน เพราะการอ่านคือพื้นฐานของการเป็นผู้สื่อข่าว และอาจจะต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกาศข่าว สามารถเล่าข่าวให้น่าสนใจได้ในที่สุด และถ้าทำได้ให้ดูข่าวหลาย ๆ ช่อง เปรียบเทียบว่าแต่ละช่องเขามีวิธีการนำเสนออย่างไร? ถ่ายภาพอย่างไร? สัมภาษณ์แหล่งข่าวด้วยคำถามอะไร? ตัดต่ออย่างไร? ผู้ประกาศนำเสนอแบบไหน? ซึ่งแน่นอนว่าข่าวเดียวกันแต่การนำเสนอแต่ละช่องจะมีความแตกต่างกันอยู่ จากนั้นให้ลองเลือกดูว่าแบบไหนที่เราชอบ ก็ดูให้บ่อย ๆ จะทำให้เราเริ่มชอบ และมีแรงบันดาลใจที่จะทำให้ได้มาตรฐานระดับนั้นต่อไป

3. สุดท้ายที่ต้องมี คือ “ใหม่ สด เสมอ” ต้องมีความพร้อม มีความรู้ “ใหม่” ตลอดเวลา คือ การอัปเดตตัวเองอยู่ตลอด ต้อง “สด” คือ มีความสดชื่น ความกระตือรือร้นในทุกจังหวะและทุกโอกาสที่เราได้รับ ให้คนที่ดูผลงานสัมผัสได้เลยว่ามีความสดแฝงอยู่ในผลงานของเรา และสุดท้าย “เสมอ” คือ ต้องทำทั้งหมดนี้ให้ต่อเนื่องกัน จนกลายไปเป็นนิสัยและมันจะติดตัวเราไปในที่สุด 

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-07.jpg

เป้าหมายในอนาคต

ประเทศ บอกว่า “ผมอยากทำสื่อออนไลน์ที่เป็นช่องของตัวเองเพื่อนำเสนอข่าว โดยเฉพาะข่าวสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีผลกระทบต่อเราทุกคน แต่ก็ยังเป็นข่าวที่เราสนใจกันน้อยที่สุด อยากให้เป็นอีกทางเลือกของคนเสพสื่อทางโซเชียลมีเดีย”

“ในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ มันมีสิ่งที่แบ่งระหว่างคนข่าวมืออาชีพ กับ มือสมัครเล่น คือ คุณภาพของข่าว ความน่าเชื่อถือ และความรับผิดชอบต่อการนำเสนอ เพราะการนำเสนอข่าวมีผลกระทบโดยตรงต่อทุกคนในสังคม” ประเทศ ทาระ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าว : งานประชาสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-08.jpg

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-09.jpg

ประเทศ-ทาระ-ราชภัฏอุบล-10.jpg