guideubon

 

okmd ยกระดับ-เพิ่มมูลค่า สินค้าเกษตรและอาหารอุบลฯ

okmd ยกระดับ-เพิ่มมูลค่า สินค้าเกษตรและอาหารอุบลฯ

okmd-อาหารอุบล-01.jpg

วันที่ 14 กันยายน 2565 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ okmd (Office of Knowledge Management and Development) จัดกิจกรรมทดสอบตลาด ผลิตภัณฑ์ต้นแบบอาหารและสินค้าเกษตร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างโอกาสทางธุรกิจ ที่สอดรับกับเทรนด์โลกและความต้องการของผู้บริโภค ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์แสดงสินค้าโอทอป จังหวัดอุบลราชธานี

okmd-อาหารอุบล-02.jpg

โดยที่เกษตรกรรม เป็นวิถีชีวิตของสังคมไทยมาช้านาน ทำให้เกิดการสั่งสมภูมิปัญญาด้านการเกษตร ที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม และมีวัฒนธรรมอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมอินโดจีนเข้ากับวิถีดั้งเดิม นับเป็น “ต้นทุนท้องถิ่น” ที่สามารถนำมาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศและท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ okmd ตระหนักว่าความรู้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการสร้างความเติบโต ความมั่งคั่ง และสร้างงานในเศรษฐกิจทุกระดับ จึงพัฒนากระบวนการภายใต้แนวคิด “ต่อยอดอดีต” และ “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” โดยนำมาเชื่อมต่อกับนวัตกรรม เทคโนโลยี งานวิจัย องค์ความรู้สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาและสร้างโอกาสให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ด้วยกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสินค้าเกษตรและอาหาร ดังนี้

1. วิเคราะห์เทรนด์โลกและความต้องการของผู้บริโภค
2. ออกแบบแนวคิดและแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์
3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
4. ทดสอบตลาดเพื่อนำความเห็นของกลุ่มเป้าหมายมาปรับปรุง
5. ผลิตและจำหน่าย

okmd-อาหารอุบล-03.jpg

สำหรับผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่พัฒนาขึ้นในปี 2565 เป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้ 5 แนวคิด ได้แก่ 

okmd-อาหารอุบล-04.jpg

1. เกษตรสุขสันต์ (Happy Farms) โดยแบรนด์ รวมสุข

สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีศักยภาพทางการตลาดและส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาเป็นผักสดอินทรีย์ และสลัดบ็อกซ์เซต ได้แก่

- สลัดผัก
- สลัดผลไม้
- สลัดดอกไม้
- ผักสด

okmd-อาหารอุบล-05.jpg

2. อาหารเป็นยา (Farmacy) โดยร้าน Time Garden

อาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบ ภูมิปัญญา และองค์ความรู้แพทย์พื้นถิ่น ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค พัฒนาเป็นชุดข้าวและน้ำพริกปรุงตามธาตุเจ้าเรือน เสิร์ฟพร้อมผักพื้นเมืองและดอกไม้กินได้ ได้แก่

ธาตุดิน 
(ผู้ที่เกิดในเดือนตุลาคม-ธันวาคม)
เมนู : แจ่วมะเขือเทศ นึ่งปลาเนื้ออ่อน ผักพื้นถิ่นและดอกไม้กินได้ตามฤดูกาล

ธาตุน้ำ
(ผู้ที่เกิดในเดือนกรกฎาคม-กันยายน)
เมนู : น้ำพริกมะขาม ปลาทูทอด ไข่ต้ม ผักพื้นถิ่น และดอกไม้กินได้ตามฤดูกาล

ธาตุลม
(ผู้ที่เกิดในเดือนเมษายน-มิถุนายน)
เมนู : แจ่วบอง ย่างปลาทับทิม ผักพื้นถิ่น และดอกไม้กินได้ตามฤดูกาล

ธาตุไฟ
(ผู้ที่เกิดในเดือนมกราคม-มีนาคม)
เมนู : หลนเค็มบักนัด หมูแดดเดียว ผักพื้นถิ่น และดอกไม้กินได้ตามฤดูกาล

okmd-อาหารอุบล-06.jpg

3. อาหารอนาคต (Future Foods) โดยร้าน ซาว

เมนูอาหารอีสานที่สอดรับกับเทรนด์สำคัญของโลก ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารด้วยการบริโภคแมลงเป็นแหล่งโปรตีนใหม่ พัฒนาเป็นอาหารอีสานเมนูอร่อยจากแมลง ได้แก่

- แกงหน่อไม้ใส่จิ้งหรีด
- ก้อยแม่เป้ง
- เส้นก๋วยจั๊บใสดักแด้
- แจ่วแมงแคง
- ข้าวเหนียวห่อใบไม้

okmd-อาหารอุบล-07.jpg

4. อาหารอุบล : มรดกส่งต่อคุณค่า (Ubon Heritage Foods) โดยร้าน แพเลอมูน@จันทร์ดารา

อาหารพื้นถิ่นอุบลที่สืบต่อวิถีชีวิตและคุณค่าทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน พัฒนาเป็นจานอร่อยจากสายน้ำ ได้แก่

- ต้มปลาคังใส่ผักคะแยง
- หลนปลาจาว
- ทอดส้มปลาตองทรงเครื่อง
- ผัดเผ็ดปลาคัง
- ลาบปลาคัง
- ปิ้งปลายอนพร้อมแจ่ว
- เมี่ยงปลาบึก
- ข้าวเหนียวนึ่ง

okmd-อาหารอุบล-08.jpg

5. อาหารสร้างสรรค์ (Creative Foods) โดยแบรนด์ วุ้นตาลเมืองอุบล only

ของหวานท้องถิ่นที่นำมาใส่ความคิดสร้างสรรค์ และนำเสนอในรูปลักษณ์ที่ต่างไปจากเดิมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ พัฒนาเป็นของหวานอุบลนิวลุค ได้แก่

- วุ้นตาลกะทิปั่น
- วุ้นย่านางใบเตยกะทิปั่น
- ไอศกรีมรากบัว
- ไอศกรีมกระเจี๊ยบ

okmd-อาหารอุบล-09.jpg

okmd-อาหารอุบล-10.jpg

okmd-อาหารอุบล-11.jpg

okmd-อาหารอุบล-12.jpg

okmd-อาหารอุบล-13.jpg

okmd-อาหารอุบล-14.jpg