guideubon

 

จุดประกายพิธีรำลึก..! อนุสาวรีย์แห่งความดี จากปี 2550-2563

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-01.jpg

จากประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 และมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่นักประวัติศาสตร์ และส่วนที่เกี่ยวข้องบันทึกรวบรวมไว้เป็นหลักฐานที่ชัดเจน คือ อนุสาวรีย์แห่งความดี (Monument of Merit) ที่เหล่าเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงความดีของชาวอุบลราชธานี ณ ทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และสนามบินญี่ปุ่น สร้างโดยเชลยศึก ฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อสนับสนุนการรบให้กองทัพญี่ปุ่น ที่บ้านหนองไผ่ ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

เชลยศึกญี่ปุ่น-อนุสาวรีย์แห่งความดี-02.jpg

ทายาทเชลยศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามรอยอนุสาวรีย์แห่งความดี

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ต่างประเทศ คือในพิพิธภัณฑ์สงคราม ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ( Imperial War Museum) ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก นายเรย์ วิทนอล ( Mr.Ray Withnall ) ทายาทเชลยศึก ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสืบค้นงานด้านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 กับจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายชัยวัฒน์ อังคีรส เป็นผู้ประสานงาน และขอความอนุเคราะห์ภาพถ่าย ซึ่งได้ภาพที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งมาลงในหนังสือที่ระลึกงานวันแห่งความดี จังหวัดอุบลราชธานี และถ้าหากซื้อ ราคาแพงมาก จึงขอขอบคุณทั้งสองท่านที่จัดหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางในการสืบค้นและใช้ประโยชน์

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-02.jpg

ความสำคัญ : อนุสาวรีย์ความดี กับการสานต่อจุดประกายพิธีรำลึกถึงถึงความดีของชาวอุบลราชธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งมีชาวต่างประเทศ นำโดยนายโรเบิร์ต ลองริดจ์ (Mr.Robirt G.F.longridge) และ Mr.Thomas Raymond Porter) ทายาทเชลยศึกสัมพันธมิตร คุณสุรัสวดี นาคเลอร์ (ล่ามและผู้ประสานงาน) พร้อมชาวต่างประเทศ ประมาณ 30 คน และ มี นายสุวิชช คูณผล ข้าราชการบำนาญ คุณกมลวรรณ เรืองขจร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวอุบลราชธานี นายชาญชัย จินตนกุล ผู้จัดการราชธานีเคเบิลทีวีอุบลราชธานี(RTV) นายสุเทพ แก้ววรสูตร บรรณาธิการวารสารหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี นายปัญญา แพงเหล่า (ผู้ประสานงาน) พร้อมชาวอุบลราชธานี ประมาณ 20 คน ได้มารวมกันเพื่อร่วมพิธีรำลึกถึงความดีของชาวอุบลราชธนี ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี

โดยมีนายโรเบิร์ด ลองริดจ์ นำพวงมาลา (Wreath) วางที่อนุสาวรีย์ และ ผู้ร่วมพิธีเข้าแถวยืนสงบนิ่ง 2 นาที ( เวลา 11:00-11:02 น.) ต่อจากนั้น Mr.Thomas Raymond Porter ได้มอบช่อดอกไม้ให้กับนายสุวิชช คูณผล เพื่อขอบคุณในนามชาวอุบลราชธานี ที่บรรพชนเคยให้การช่วยเหลือเชลยศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จแล้วมีการบันทึกภาพประวัติศาสตร์และพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้สัมภาษณ์สาระสำคัญและเหตุการณ์ พร้อมนำเหรียญกล้าหาญจากสมรภูมิต่างๆ ให้ชื่นชมในวีรกรรมของเหล่าทหารกล้าด้วย นับเป็นการจุดประกาย และเชื่อมรอยต่อพิธีการรำลึกถึงความดีให้มีความยั่งยืนต่อไป

การดำเนินงานขับเคลื่อนสืบสานของภูมิพลังเมืองอุบลราชธานี มีนายสุวิชช คูณผล และคณะจิตอาสามอบหมายให้นายนิกร วีสเพ็ญ เป็นผู้ประสานงานและวางแผนจัดงานระดับจังหวัด หรือระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ จึงระดมพลังจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วม เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มณฑลทหารบกที่ 22 องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ กองบิน 21 ตำรวจภูธรจังหวัด ตำรวจตระเวนชายแดน องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี และหน่วยงานสถานศึกษาต่างๆ และนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้เป็นวาระงานประจำปีของจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีชาวอุบลราชธานี และชาวต่างประเทศ ร่วมจัดงานอย่างเป็นทางการขึ้นใน ปี 2551 และกำหนดชื่องาน ว่า…วันรำลึกแห่งความดี..

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-03.jpg

การจัดงานวันรำลึกแห่งความดี จังหวัดอุบลราชธานี จาก ปี 2550-2563 มีประธานในพิธี ประกอบด้วย
- ปี 2550 นายสุวิชช คูณผล ข้าราชการบำนาญ
- ปี 2551 นายสุรพล สายพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
- ปี 2552 นายวิโรฒ มีแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
- ปี 2553-2554 นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าการจังหวัดอุบลราชธานี
- ปี 2555 นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
- ปี 2556 นายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
- ปี 2557 นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
- ปี 2558-2559 นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
- ปี 2560-2562 นายสฤษดิ์ วิทูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และ
- ปี 2563 นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-04.jpg

และในส่วนของชาวต่างประเทศ ปี 2550-2557 มีการมอบหน้าที่ให้ นายโนเบิร์ด ลองริจด์ (Mr.Robert G.F.longridge ) เป็นประธานและผู้ประสานงาน ปี 2550-2557 และจาก ปี 2558 - ปัจจุบัน มีนายไมค์ แชฟแมน ( Mr.Mike Chapman) เป็นหัวหน้าและผู้ประสานงานกับชาวต่างประเทศเข้าร่วมงาน รวมทั้งจัดลำดับพิธีการและเป็นผู้นำกล่าว รำลึกถึงคุณงาม ความดี ของชาวอุบลราชธานี อีกด้วย …

บทบาทและการสืบสานด้านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 กับจังหวัดอุบลราชธานี ยังเป็นภารกิจของของชาวอุบลราชธานี โดยมีคณะทำงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษา ค้นคว้าเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ และมีผู้รับผิดชอบหลากหลาย เช่น นายสุวิชช คูณผล ผศ. เกษม บุญรมย์ รศ.ประจักษ์ บุญอารีย์ นายชัยวัฒน์ อังคีรส ผศ.สุเชาว์ มีหนองหว้า นายสมพงษ์ โลมะรัตน์ นางอรทัย วัฒนสมศรี นายชำนาญ ภูมลี นายนิกร วีสเพ็ญ ผศ.อาคม วามะลุน ดร.กิตติรัตน์ สีหบัณฑ์ ผศ.ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ ผศ.ดร.สุปิยา ทาปทา นายนิคม ทองพิทักษ์ ดร.วุฒิ ลีนาม ผศ.สานิตย์ โภคาพันธ์ นายอุทัย พลพวก นายนพภา พันธ์เพ็ง นายสุชัย เจริญมุขยนันท์ นายสมชาติ เบญจถาวรอนันท์ นายปัญญา แพงเหล่า รวมทั้งเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้ต่อไป

จากการจัดงานที่ผ่านมา นับว่ามีความราบรื่น เรียบร้อย ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นการจัดงานแบบผสมผสานทั้งไทยและสากล ต่อมาจึงได้ปรับเรื่องเวลาและสาระสำคัญให้ลงตัว โดยกำหนดชัดเจน คือ จากเวลา 08:30 -10:30 น. เป็นพิธีการแบบไทย จัดลำดับการวางพวงมาลา มีดนตรีบรรเลง และมีการร้องเพลง ซึ่งบางครั้งจะไปเหลื่อมเวลาของชาวต่างประเทศด้วย

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-05.jpg

ส่วนเวลาแบบสากลที่ชาวต่างประเทศกำหนดไว้ คือ เวลา 10:30-11:02 น. โดยชาวต่างประเทศจะให้ความสำคัญพิธีการช่วงนี้มากที่สุด มีการกล่าววัตถุประสงค์ การวางพวงมาลา และกล่าวรำลึกถึงคุณงามความดี และยืนสวบนิ่ง 2 นาที พิธีเสร็จสมบูรณ์

ประการสุดท้ายขอกล่าวถึง ผู้ที่มีบทบาทและร่วมงานกับชาวไทยและชาวต่างประเทศในจังหวัดอุบลราชธานีมาเป็นเวลานานถึง 22 ปี (2537-2559) คือ Mr.Thomas Raymond Porter ซึ่งได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี 2535 เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่จังหวัดกาญจนบุรี และ ปี 2537 ย้ายมาสอนที่ สถาบันสอนภาษา EGC สาขาอุบลราชธานี ตลอดระยะเวลาที่อยู่อุบลราชธานี จะเป็นผู้ประสานงานกับทายาทเชลยศึก และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การประสานกับทายาทเชลยศึก และชาวต่างประเทศ ให้มาร่วมกันรำลึกถึงความดีของชาวอุบลราชธานี โดยเริ่มจุดประกายต่อยอด ณ อนุสาวรีย์ความดีให้มีความยั่งยืนในปี 2550 และชาวจังหวัดอุบลราชธานี ชาวต่างประเทศก็ได้จัดงานวันแห่งความดีต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

Little-Mother-Ubon-01.jpg

นายทอม พอร์ตเตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2482 และเสียชีวิต เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 อายุ 77 ปี โดยมีพิธีฌาปนกิจศพ ที่วัดพลแพล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-06.jpg

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-07.jpg

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-08.jpg

พิธีรำลึก-อนุสาวรีย์แห่งความดี-09.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511