guideubon

 

ฟื้นตำนานร้อยปี พิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์ ณ ทุ่งศรีเมือง จ.อุบล

ฟื้นตำนานร้อยปี-นกหัสดีลิงค์-อุบล.jpg

ในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2558 นี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพกิตติมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม พระอารามหลวง ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และประธานสภาวิทยาเขตอุบลราชธานี  ณ เมรุชั่วคราวปราสาทนกหัสดีลิงค์ มณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ขอเชิญชาวอุบล เข้าเฝ้ารับเสด็จ และร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพโดยพร้อมเพรียงกัน

ปราชญ์เมืองอุบล พระเทพกิตติมุนี (สมเกียรติ สมกิตติ ป.ธ.6)

อุบลฯ จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพกิตติมุนี ณ มณฑลพิธี ทุ่งศรีเมือง

กำหนดการ ออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม

พระเทพกิตติมุนี-วัดมหาวนาราม--อุบล-07.jpg

พิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพกิตติมุนี ครั้งนี้ มีที่พิเศษแปลกไปจากทุกครั้ง เพราะมีการออกเมรุปราสาทนกหัสดีลิงค์ ที่ทุ่งศรีเมือง ซึ่งว่างเว้นจากการจัดงานดังกล่าวเป็นเวลาร่วมร้อยปีจนบางท่านหรือชาวอุบลรุ่นหลังๆ อาจไม่ทราบว่า ทุ่งศรีเมือง เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีศพตั้งแต่ครั้งพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ตลอดถึงเจ้านายอุบลฯ หลายคนแล้ว

 ทุ่งศรีเมือง-อุบล-01.jpg

“ทุ่งศรีเมือง” เดิมมีชื่อว่า “ นาทุ่งศรีเมือง ” เป็นศรีของเมืองอุบลฯ ตั้งแต่ครั้งเริ่มตั้งเมือง 200 กว่าปีมาแล้ว ทุ่งศรีเมืองในต่างจังหวัด เท่าที่ทราบมีอยู่ 3 จังหวัด คือ ระยอง อุดรธานี และอุบลราชธานี ต่างก็ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเป็นที่ประดิษฐานศาลหลักเมืองเช่นเดียวกัน

ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานีใช้ประโยชน์ส่วนรวม เช่นเดียวกับสนามหลวงในกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ สนามหลวงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ ทุ่งพระเมรุ ” เพราะเป็นสถานที่ถวายพระเพลิง พระบรมศพพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูง ส่วนทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี ก็เป็นที่ประกอบพิธีศพเจ้านายพื้นเมืองและอาญาสี่ ประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ถือเป็นราชสกุลที่มาแต่เมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เมื่อท่านเหล่านี้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ให้เชิญศพขึ้นเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ หรือนกสักกะไดลิงค์ แล้วชักลากออกไปบำเพ็กุศลที่ทุ่งศรีเมืองเป็นเวลา 3 วัน จึงเผาศพ

นกหัสดีลิงค์-อุบล-07.jpg

การทำศพแบบนกหัสดีลิงค์นั้น จำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายอุบลฯ เท่านั้น ผู้ไม่ใช่เจ้านายไม่อนุญาตให้ทำศพแบบนี้ ระยะแรก การเผาศพทำที่ทุ่งศรีเมือง มาภายหลัง เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ปกครองเมืองอุบลฯ ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมือง และอนุญาตให้พระเถระที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณะภาพ ให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย โดยเริ่มจากธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เนื่องจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงศรัทธาเลื่อมใสท่านธรรมบาลว่า เคร่งครัดในธรรมวินัย มีความรู้ในปริยัติแตกฉานไม่แพ้พระเถระทางกรุงเทพฯ

เมื่อท่านธรรมบาล (ผุย) ถึงแก่มรณะภาพ (ราวปี พ.ศ.2448) เสด็จในกรมสั่งให้สร้างเมรุรูปนกสักกะไดลิงค์ถวายเป็นเกียรติยศ ให้ชักลากออกไบำเพ็ญกุศลที่ทุ่งศรีเมืองเช่นเดียวกับอาญาสี่ และนับเป็นนกตัวสุดท้าย ที่ได้รับเกียรติยศให้เผาที่ทุ่งศรีเมือง หลังจากนั้นแล้ว ไม่มีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองอีกเลย ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ก็ได้รับเกียรติยศให้ขึ้นนกตั้งแต่นั้นมา

วันรัฐธรรมนูญ-ทุ่งศรีเมือง-01.jpg

นับจากนั้นมาสถานที่แห่งนี้ ก็ใช้เพื่อจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา และประเพณีอื่นๆ ได้ใช้เป็นสนามฝึกซ้อมเสือป่า เป็นสถานที่ชุมนุมลูกเสือแห่งชาติส่วนภูมิภาครวมทั้ง การประกอบรัฐพิธีกับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ใช้เป็นสถานที่สวนสนามในวันชาติ 24 มิถุนายน และจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีในสมัยนั้น ตลอดจนใช้ทุ่งศรีเมืองเป็นสนามกีฬาประเภทต่างๆ

ปราชญ์เมืองอุบล พระเทพกิตติมุนี (สมเกียรติ สมกิตติ ป.ธ.6)

อุบลฯ จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพกิตติมุนี ณ มณฑลพิธี ทุ่งศรีเมือง

กำหนดการ ออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม