ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายสิริวชิราภรณ์
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี รวม 29 กลุ่ม และกลุ่มศิลปะชีพจังหวัดสกลนคร
ในการนี้ ได้พระราชทานหนังสือจากโครงการตามแนวพระดำริ ผ้าไทยใส่ให้สนุก ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพผู้ผลิตและผู้ประกอบการเฝ้าถวายงาน การบ้าน โดยทรงนำประสบการณ์จากการทรงงาน ทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง และพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัย พระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับคุณภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์ของสมาชิก
ในการนี้ มีรับสั่งให้ฟื้นฟูผ้าอัญญานาง ผ้าโบราณของอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้โปรดให้คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และการย้อมสีธรรมชาติ ดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดเช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์
สำหรับ การจัดนิทรรศการการแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำนินการภายใต้โครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ OTOP หรือกลุ่มอาชีพในการนำแนวคิดสมัยใหม่ มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชุมชนไทย ให้แข่งขันในตลาดสากล และมีองค์ความรู้สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดสู่คนอื่นในชุมชนได้ โดยน้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทย ให้สนุก" มาส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน
โอกาสนี้ ทรงพระราชทานลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" เพื่อเชิญไปมอบแก่ศิลปินช่างทอผ้าและหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ซึ่ง "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" นี้ เป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีลายพระราชทานหลัก จำนวน 4 ลาย ได้แก่
"ลายวชิรภักดิ์" ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร “ว” ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยตัวแรกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว,
"ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567" ที่ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานลำดับแรก "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ",
"ลายหัวใจ" สื่อถึงความรักและความห่วงใยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคทั่วประเทศ และ
"ลายดอกรักราษฎร์ภักดี" โดยทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" สื่อถึงความรักและความภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชจักรีวงศ์
โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ลายนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป