guideubon

 

ที่มาของการจัดงาน พิธีบวงสรวงและสดุดี เจ้าคำผง

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-01.jpg

พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) บุตรของพระเจ้าตา และนางบุศดี เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2252 ที่นครเวียงจันทน์ เป็นหลานปู่เจ้าปางคำ ราชวงศ์เชียงรุ้ง เจ้าปางคำได้อพยพมาสร้างเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลำภู) หรือ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน เจ้าคำผงได้เสกสมรสกับเจ้านางตุ่ย ธิดาอุปราชธรรมเทโว อนุชาของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระประทุมสุรราช เมื่อปีพุทธศักราช 2323 อันเป็นตำแหน่งนายกองใหญ่คุมเลก (ชายฉกรรจ์,ไพร่) อยู่ที่บ้านดู่ บ้านแก ขึ้นกับนครจำปาศักดิ์

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-03.jpg

ปีพุทธศักราช 2329 ได้ย้ายครอบครัวและไพร่พลจากบ้านดู่ บ้านแก มาตั้งบ้านเมืองใหม่ ที่ตำบลห้วยแจระแม โดยพระบรมราชาอนุญาต ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองอุบล”

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-02.jpg

จากการร่วมปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว ในปีพุทธศักราช 2334 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระประทุมสุรราช (เจ้าคำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) และยกฐานะเมืองอุบลเป็น “เมืองอุบลราชธานี ศรีวนาลัย ประเทศราช”

จังหวัดอุบลราชธานีกำหนดจัดงาน สดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 เป็นต้นมา ส่วนสาเหตุที่ได้กำหนดเอาวันที่ 10 พฤศจิกายน เป็นวัน "สดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง)” นั้น มีที่มาจากบันทึกการประชุม นายบุญตา หาญวงศ์ อดีตประธาน กกต. จังหวัดอุบลราชธานี ว่า

เมื่อประมาณ 12 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้านายบุญตา หาญวงศ์ ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในการเตรียมการบวงสรวงพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงวันบวงสรวงว่า จะถือเอาวันประสูติ หรือวันถึงแก่อสัญกรรม ในที่สุด ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกัน ให้ถือเอาวันถึงแก่อสัญกรรม โดยคุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ได้ให้ข้อมูลแต่เพียงวันถึงแก่อสัญกรรม ตรงกับวันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือน 11 เท่านั้น เมื่อเปิดปฏิทิน 200 ปี ปรากฏว่า ปฏิทิน 200 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2385 ซึ่งหลังจากเจ้าคำผงได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วถึง 47 ปี (เป็นปีเดียวกันกับผู้ปกครองเมืองอุบล คนที่สอง คือ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์)

ในปี 2338 ดังกล่าว ตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2338 รศ.14 จ.ศ.1157 คศ.1795 ที่ประชุมได้มีมติให้ถือเอาวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันบวงสรวงฯ เป็นต้นมาตราบเท่าทุกวันนี้ (การนับวัน,เดือน,ปี ตามระบบ "จันทรคติ” ไม่ตรงกันในหนังสือหลายเล่ม จึงมีมติให้ถือตามระบบ "สุริยคติ” คือวันที่ 10 พฤศจิกายน 2338 เป็นข้อยุติตรงกัน)

สำหรับชื่อของการจัดงานนี้ เดิมใช้ชื่อว่า "วันบวงสรวง” พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) โดยหลักการและเหตุผลของคณะกรรมการจัดสร้างอนุสาวรีย์ระดับชาติ ที่ว่า "อนุสาวรีย์ ที่ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าๆ ให้จัดสร้างขึ้น ย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากไม่มีการบวงสรวงสังเวย ก็เปรียบเสมือนรูปปั้นธรรมดาไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญ”

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-09.jpg

ต่อมาในการประชุมเตรียมงานครั้งที่ 10 พ.ศ.2548 ที่ประชุมได้พิจารณาว่า วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักในการจัดงานก็เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง ซาบซึ้งในวีรกรรมของท่านผู้สร้างเมืองอุบลฯ ในการรบทัพจับศึกกับอริราชศัตรูผู้รุกราน ก่อนการก่อตั้งบ้านเมืองจนรุ่งเรืองทุกวันนี้ จึงให้ใช้ชื่องานว่า "สดุดีวีรกรรม พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)" สืบต่อมา

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-04.jpg

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-05.jpg

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-06.jpg

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-07.jpg

บวงสรวง-สดุดี-เจ้าคำผง-08.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511