guideubon

 

ทำเนียบศิลปินแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี

ศิลปินแห่งชาติ-ตรา.jpg

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ.2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะที่มีคุณค่าของแผ่นดินไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันศิลปินแห่งชาติ"

ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม ได้แก่

- เงินตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ เดือนละ 20,000 บาท
สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัวตามระเบียบราชการ แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
เงินช่วยเหลือประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง
ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง
เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท
ค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณีที่เหมาะสมเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาท
เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท 

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีชาวอุบลฯ ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติแล้ว จำนวน 10 ท่าน โดยคุณพ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557 สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีไทยลูกทุ่ง คนล่าสุด ถือว่าเป็นคนอุบลฯ คนที่ 10 ที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ไกด์อุบลจัดทำเนียบ 10 ศิลปินแห่งชาติที่ชาวอุบลฯ ภาคภูมิใจ ไว้ที่นี้ครับ

ศิลปินแห่งชาติ-คนอุบล-ชาวอุบล.jpg

ทำเนียบศิลปินแห่งชาติ สำหรับคนอุบลราชธานี มีดังนี้

คำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ อุบล.jpg
1. นายคำหมา แสงงาม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ปั้นแกะสลัก) ปี 2529

นายคำหมา แสงงาม หรือ “ครูคำหมา” หรือ “จารย์ครูคำหมา” เป็นชาวบ้านชีทวน อำเภอขื่องใน ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ ทางช่างศิลป์ผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับของชาวอีสาน จนกระทั่งมีผู้ให้สมญานามว่า “ช่างเทวดา” และ “ช่างเนรมิต” โดยเป็นช่างคนเดียวของภาคอีสานที่มีความสามารถในการทำนกหัสดีลิงค์ได้อย่างสวยงาม และด้วยความโดดเด่นในฝีมือการก่อสร้างและการบูรณะถาวรวัตถุประเภทโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ฯลฯ อันเป็นสิ่งปลูกสร้างทางพุทธศาสนา ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ครูคำหมา จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อาทิ การบูรณะ องค์พระธาตุพนม การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกแบบและก่อสร้างซุ้มประตูวัด กำแพงแก้ว โบสถ์ เมรุเผาศพชั่วคราว มากมายหลายสิบแห่ง ในด้านงานแกะสลัก ท่านถือเป็นผู้บุกเบิกการแกะเทียนพรรษาที่ถือเป็นรูปแบบใหม่ในยุคนั้น มักจะรับรางวัลชนะเลิศการประกวดเทียนพรรษาจังหวัดอุบลฯ และใกล้เคียงเป็นประจำทุกปี จนถือเป็นต้นแบบให้แก่ช่างฝีมือในยุคนั้นเป็นต้นมา

พ.ศ.2528 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ได้มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะ ให้แก่ท่าน และได้รับการเชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ปั้นแกะสลัก) ประจำปี 2529

นายคำหมา แสงงาม ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2533 ขณะอายุ 99 ปี


ทองมาก จันทะลือ ศิลปินแห่งชาติ อุบล.jpg
2. นายทองมาก จันทะลือ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2529

หากจะกล่าวถึงศิลปินหมอลำระดับปรมาจารย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสาน ถึงขั้นที่เรียกว่า “แตกลำ” อันเป็นคำที่ใช้ในวงการหมอลำ ซึ่งหมายถึงผู้มีความสามารถในการลำกลอน สามารถลำได้สดๆ โดยไม่ติดขัด อีกทั้งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติที่เป็นหมอลำคนแรก เมื่อปี พ.ศ.2529 ท่านผู้นั้นก็คือ หมอลำทองมาก จันทะลือ

แม้ว่านายทองมาก จันทะลือ จะไม่ได้เป็นคนอุบลโดยกำเนิด แต่ก็มาสร้างครอบครัวและทำงานที่จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากลำกลอนแล้วท่านยังมีความสามารถในการทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง ได้แก่ โหวด อีกทั้งยังมีความสามารถในการเป่าแคน เป่าใบไม้ และด้วยความแตกฉานในกลอนลำ ท่านจึงเป็นหมอลำที่เก่งหาตัวจับยาก โดยมีเอกลักษณ์สำคัญคือการสร้างความสนุกสนานจากท่าทางลีลา ยักคิ้วหลิ่วตา ทำให้เป็นที่ถูกอกถูกใจคนดู จนได้รับการยกย่องเป็นหมอลำชั้นหนึ่งในภาคอีสาน และได้สร้างลูกศิษย์ไว้สืบสานหมอลำอีกด้วย

คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้น เรียกหมอลำทองมาก จันทะลือ ว่า “หมอลำถูทา” เนื่องจากท่านได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุ และเป็นโฆษกผู้โฆษณายาให้กับบริษัทโอสถสภาเต๊กเฮงหยู ผลงานของท่านที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและติดหูของชาวอีสานในยุคนั้น ได้แก่ โฆษณายาหม่องถ้วยทอง ที่มีถ้อยคำติดหูผู้ฟังทั่วไปว่า “ถูทา” ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกหมอลำทองมากว่า “พ่อถูทา” นับแต่นั้นมา

พ.ศ.2528 ได้รับรางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี 2529

หมอลำทองมาก จันทะลือ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2554 ด้วยโรคชรา ขณะอายุ 87 ปี


เฉลิม-นาคีรักษ์-ศิลปินแห่งชาติ-อุบล.jpg
3. นายเฉลิม นาคีรักษ์ 
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2531

นายเฉลิม นาคีรักษ์ เกิดที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการยอมรับนับถือในวงการศิลปะและศิลปศึกษาโดยทั่วไป มีผลงานดีเด่นทั้งในแบบศิลปะสมัยใหม่และศิลปะแบบประเพณีประยุกต์ ผลงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับชีวิตและประเพณีไทย มีความยึดมั่นและศรัทธาในศิลปะได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 50 ปี มีผลงานแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เคยได้รับรางวัลในการประกวดศิลปกรรมหลายครั้งและหลายแห่ง

นายเฉลิม นาคีรักษ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่ วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นเวลา 37 ปี มีศิษย์เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ได้รับราชการโดยตลอดมา จนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่างและเป็นคณบดีคณะศิลปกรรมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่าง เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษในสถาบันดังกล่าว

งานศิลปะของนายเฉลิม นาคีรักษ์ โดยหลักนั้นคืองานจิตรกรรม ซึ่งมีทั้งแนวสากลสมัยใหม่ และแนวประเพณีประยุกต์ ส่วนเทคนิคที่ใช้มีทั้งสีน้ำมัน สีน้ำ สีฝุ่น และสีพลาสติก ส่วนเนื้อหาและเรื่องราวที่เขียนนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ภาพหุ่นนิ่ง ภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล และภาพเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ผลงานสำคัญที่ได้สร้างสรรค์ไว้ได้แก่พระบรมสาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระมหากษัตริย์และเจ้านายในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์ ซึ่งประดิษฐานไว้ในสถานที่สำคัญต่างๆ หลายแห่ง

นายเฉลิม นาคีรักษ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2531

เคน-ดาเหลา-ศิลปินแห่งชาติ-อุบล.jpg
4. นายเคน ดาเหลา 
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2534

หมอลำเคน  ดาเหลา มีชื่อจริงว่า นายฮุด ดาเหลา เกิดที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี มีความสนใจในการแสดงพื้นบ้านอีสาน คือ หมอลำ ตั้งแต่เด็กๆ จึงได้เริ่มหัดเล่นหมอลำ ลิเกพื้นบ้าน และหนังประโมทัย ด้วยตัวเอง โดยอาศัยการได้สัมผัสจดจำ ลีลาการแสดงและท่องกลอนที่จดจำมาจากหมอลำคง ดาเหลา ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นหมอลำที่กำลังมีชื่อเสียงในละแวกบ้านของตน ต่อมาหมอลำคง ดาเหลา ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน หมอลำเคน ดาเหลา จึงถูกจับให้แสดงแทนพี่ชาย ขณะนั้นอายุได้ 16 ปี ด้วยความสามารถที่มีอยู่ในตัว ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีปฏิภาณและลีลาการลำที่โดดเด่น จึงสามารถแสดงหมอลำกลอนได้เป็นอย่างดี จนได้รับความนิยมในหมู่ชาวอีสานอย่างรวดเร็ว

หมอลำเคน ดาเหลา เป็นหมอลำที่มีผลงานในการแต่งกลอนที่ดีพร้อม ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ และสัมผัสตามรูปแบบการประพันธ์ โดยอาศัยประสบการณ์ในการลำและกลอนลำของครูที่ใช้ลำมาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่มิได้ขาด จึงทำให้ผลงานการแต่งกลอนลำของท่านมีความสัมพันธ์กับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้นำเอาสนำนวนภาษาอีสานหรือสำนวนผญาอีสานมาแทรกไว้ในกลอนได้อย่างดียิ่ง จึงทำให้กลอนลำมีเนื้อหาสาระ สัมผัสคล้องจองที่ดี และมีภาษาที่ลึกซึ้งกินใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

พ.ศ.2531 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2531 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

พ.ศ.2534 ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปี 2534 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) 

หมอลำเคน ดาเหลา ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 อายุ 85 ปี


ฉวีวรรณ-ดำเนิน-ศิลปินแห่งชาติ-อุบล.jpg
5. นางฉวีวรรณ ดำเนิน
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2536

นางฉวีวรรณ (ดำเนิน) พันธุ เป็นชาวอำเภอหัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ (เดิมขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี) บุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีหมอลำ ที่มีความสามารถโดดเด่นมีไหวพริบปฏิภาณด้านหมอลำที่เฉียบแหลมยิ่งคนหนึ่ง โดยได้รับการฝึกฝนเรื่องหมอลำจากบิดา ญาติ และหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีตหลายท่าน ซึ่งความจัดเจนเรื่องหมอลำที่ฝึกฝนมาตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้เป็นหมอลำที่มีความสามารถสูงทั้งด้านการแต่งกลอนลำการคิดท่วงทำนองหมอลำกลอน เขียนกลอนลำ ประดิษฐ์ท่าลำและบทร้องชุดแม่อีสาน 84 ท่า ประกอบกับเป็นบุคคลที่มีน้ำเสียงไพเราะ มีพลัง ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของแดนอีสาน และได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชมจากประชาชนว่าเป็นราชินีหมอลำ

นางฉวีวรรณ พันธุ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี 2536 นับเป็นศิลปินผู้หญิงหมอลำคนแรกของประเทศไทยที่เป็นชาวอุบล


บุญเพ็ง-ไฝผิวชัย-ศิลปินแห่งชาติ-อุบล.jpg
6. นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2540

นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย เกิดที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ฝึกฝนหมอลำตั้งแต่เยาว์วัย รับงานแสดงได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นหมอลำที่มีความสามารถ มีคารมคมคายเป็นเลิศ มีไหวพริบปฏิภาณสามารถตอบโต้กับหมอลำฝ่ายชายได้อย่างเฉลียวฉลาด เป็นหมอลำคารมกล้า กลอนลำมีสาระเชิงปรัชญาให้ข้อคิดและคติสอนใจ เป็นหมอลำหญิงคนเดียวที่ได้บันทึกแผ่นเสียงมากกว่าหมอลำหญิงในยุคเดียวกัน

นอกจากมีอาชีพแสดงหมอลำแล้ว ท่านยังได้ช่วยเหลืองานด้านต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะการร่วมมือเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ อาทิ การป้องกันโรคเอดส์ การรณรงค์โครงการอีสานไม่กินปลาดิบ ร่วมอนุรักษ์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ฯลฯ และได้ถ่ายทอดวิชาหมอลำให้กับลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก จากผลงานการแสดงและผลงานในฐานะผู้ทรงวิทยาคุณด้านการแสดงพื้นบ้าน จึงได้รับยกย่องให้เป็น “ราชินีหมอลำกลอน” ผู้สืบทอดมรดกวัฒนธรรมอีสานที่ควรค่าแก่การยกย่อง 

นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี 2540

หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 อายุ 76 ปี
 

คำพูน-บุญทวี-ศิลปินแห่งชาติ-อุบล.jpg
7. นายคำพูน บุญทวี 
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (วรรณศิลป์) ปี 2544

คำพูน บุญทวี เกิดที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล จังหวัดยโสธร (ขณะนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี) เริ่มทำงานหลายอย่างในจังหวัดภาคอีสาน เป็นหัวหน้าคณะรำวง และขายยาเร่ ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นกรรมกรรับจ้างรายวันที่ท่าเรือคลองเตย เป็นคนเลี้ยงม้าแข่ง เป็นสารถีสามล้อ จนกระทั่งสอบเป็นครูได้บรรจุที่ภาคใต้ สอนหนังสืออยู่ 11 ปี จึงเปลี่ยนไปเป็นผู้คุมเรือนจำ ลาออกจากงานราชการเมื่ออายุได้ 40 เศษๆ  เขาเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2513 เมื่อครั้งยังเป็นผู้คุม เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขาเขียน คือ "ความรักในเหวลึก" ต่อมาเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ มนุษย์ 100 คุก 

หนังสือที่ได้รับรางวัล ได้แก่ "ลูกอีสาน" ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2519 และได้รับรางวัล ซีไรท์ เมื่อ พ.ศ. 2522 และนวนิยายเรื่อง "นายฮ้อยทมิฬ" ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2520 

คำพูน บุญทวี ได้รับการยกย่อง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2544 ถึงแก่กรรมวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2546 อายุ 74 ปี

 

ฉลาดน้อย-ส่งเสริม-ศิลปินแห่งชาติ-อุบล.jpg
8. นายฉลาด ส่งเสริม 
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2548

นายฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย เกิดที่บ้านหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในวัยเด็ก ป.ฉลาดน้อย เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เป็นท้องถิ่นอีสาน จึงมีความผูกพันกับสภาพสังคมของชาวอีสานผูกพันกับธรรมชาติรอบตัว และผูกพันกับการร้องหมอลำซึ่งมีการร้องทั่วไปในสมัยนั้น สิ่งเหล่านี้จึงมีอิทธิพลต่อกลอนหมอลำของ ป.ฉลาดน้อยมาโดยตลอด

ป.ฉลาดน้อย เป็นหมอลำระดับตำนานคนหนึ่งของประเทศไทย เอกลักษณ์อันโดดเด่นคือเสียงที่ก้องกังวานที่ยากจะมีใครเลียนแบบ และมีปฏิภาณไหวพริบในการลำเรื่องต่อกลอน ซึ่งสามารถใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติได้อย่างชาญฉลาด และผสมผสานสภาพแวดล้อมธรรมชาติรอบตัวในกลอนลำได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังสามารถสร้างกลอนลำ “ทำนองเมืองอุบล” ของตนเองขึ้นมาได้ 

ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณ เป็นศิลปินดีเด่นของจังหวัดอุบลราชธานี สาขา ศิลปะการแสดง ประจำปี 2544 และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี 2548


บานเย็น-รากแก่น-ศิลปินแห่งชาติ-อุบล.jpg
9. นางนิตยา รากแก่น 
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2556

นางนิตยา รากแก่น ใช้ชื่อในการแสดงว่า บานเย็น รากแก่น เกิดที่บ้านกุดกลอย ตำบลโนนสวาง อำเภอตระการพืชผล (ปัจจุบันคืออำเภอกุดข้าวปุ้นจังหวัดอุบลราชธานี 

บานเย็นออกแสดงหมอลำครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ด้วยน้ำเสียงมหาเสน่ห์ รูปร่างหน้าตาสะสวย มีลีลาในการลำและร่ายรำที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ทองคำ เพ็งดี พระเอกและเจ้าของคณะหมอลำรังสิมันต์ หมอลำหมู่ชื่อดังในขณะนั้น ได้ชวนมาเป็นนางเอกของคณะ ต่อมา บานเย็นแยกตัวมาเป็นหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ คณะบานเย็น รากแก่น เมื่ออายุเพียง 18 ปี โดยมีงานแสดงตามจังหวัดต่างๆ และต่างประเทศอยู่หลายครั้ง เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้แสดงเพื่อสาธารณกุศลอีกมากมาย ทำให้มีชื่อเสียงในระดับประเทศและระดับโลก เนื่องจากหมอลำบานเย็นได้ประยุกต์การแต่งตัวและการโชว์อย่างอลังการ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชินีลูกทุ่งหมอลำประยุกต์" คนหนึ่งของเมืองไทย

นอกจากนี้ บานเย็นยังเป็นอาจารย์พิเศษสาขาวิชานาฏศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะการแสดงอีสานบานเย็น เพื่อถ่ายทอดศิลปะการแสดงหมอลำให้กับคนรุ่นหลัง ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน ปี 2542 และ ได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี 2543

ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หมอลำ) ประจำปี พ.ศ. 2556


พงษ์ศักดิ์-จันทรุกขา-ศิลปินแห่งชาติ-อุบล.jpg
10. นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ปี 2557

นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เกิดที่บ้านดอนใหญ่ ตำบลนาคำ อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบันเป็นอำเภอศรีเมืองใหม่) จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มต้นทำงานที่โรงเรียนอุบลวิทยากร แต่ด้วยความรักที่จะทำงานเพลงและภาพยนตร์ จึงได้ศึกษาเรียนรู้นอกระบบตามความสนใจใฝ่ฝันมาตลอด และหันมาทำงานในวงการบันเทิงอย่างจริงจัง ทำงานเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ เขียนบทละครวิทยุ เล่นละครวิทยุ สร้างภาพยนตร์ กำกับภาพยนตร์ และเขียนบทภาพยนตร์

ผลงานของนายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ที่สร้างชื่อมากคือ งานภาพยนตร์ งานแต่งเพลง ผลงานเด่นทางภาพยนตร์ อาทิ เพลงมนต์รักน้ำพอง ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ มนต์รักแม่น้ำมูล ลูกทุ่งเพลงสวรรค์ ฯลฯ ส่วนผลงานเพลงนั้น ได้แต่งเพลงออกเผยแพร่สู่สาธารณชนประมาณ 700 เพลง มีทั้งเพลงประเภทความรักของหนุ่มสาวลูกทุ่ง ประเภทศิลปวัฒนธรรมอีสาน เพลงเพื่อชีวิตสะท้อนภาพอีสาน เพลงสะท้อนภาพสังคมไทย เพลงประกอบละครภาพยนตร์ เพลงธรรมะ เพลงสถาบันต่างๆ และเพลงลูกทุ่งยุดใหม่ ผลงานที่สังคมรู้จัก เช่น ดาวบ้านนา สาละวันรำวง สาวคนโก้ ชุมแพ อีสานบ้านเฮา รอรักใต้ต้นกระโดน สาวอุบลรอรัก พี่จ๋าหลับตาไว้ ด่วน บขส. ตะวันรอนที่หนองหาน ชาติลำชี โขงชีมูลที่รัก เป็นต้น

นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ได้รับการยกย่องเป็น“ครูภูมิปัญญาไทย” รุ่นที่ 4 จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ.2548 การสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานการประพันธ์เพลงที่ได้รับความนิยมระดับชาติ หลายเพลง เช่น สาละวันลำวง สาวชุมแพ ตะวันรอนที่หนองหาน รักร้าวหนาวรม ทุ่งรัก สาวอุบลรอรัก อีสานบ้านเฮา รอรักที่ต้นกระโดน ด่วน บ.ข.ส. ดอกจานบาน ฯลฯ ซึ่ง เพลงเหล่านี้ได้สร้างนักร้องโด่งดังระดับประเทศ เช่น ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ศรคีรี ศรีประจวบ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ สนธิ สมมาตย์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น 

นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
(ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำปี 2557