guideubon

 

วันคล้ายวันประสูติ พระโพธิสัตว์กวนอิม

วันประสูติ-พระโพธิสัตว์กวนอิม-01.jpg

ตามปฏิทินจีน ถือเอาวันที่ 19 เดือนยี่ เป็นวันคล้ายวันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 31 มีนาคม 2564 ในจังหวัดอุบลราชธานีก็มีรูปหล่อพระโพธิสัตว์กวนอิม หรือเจ้าแม่กวนอิม อยู่หลายแห่ง หากจะไปสักการะ ไกด์อุบลขอแนะนำ พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว ที่มูลนิธิสว่างบูชาธรรม อ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

วันประสูติ-พระโพธิสัตว์กวนอิม-02.jpg

สำหรับพระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว มูลนิธิสว่างบูชาธรรม อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี แกะสลักจากหยกขาวทั้งชิ้น มีความสูงเฉพาะองค์ 5 เมตร อัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2556 และประกอบพิธีสมโภชในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2559

ผวจ.อุบล ประธานพิธีสมโภชศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม เชิญชวนมาเที่ยวชม

ศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม แลนด์มาร์คใหม่เมืองอุบล

สักการะเจ้าแม่กวนอิม ไหว้เทพเจ้า แก้ปีชง เสริมดวงรับตรุษจีน

ด้านตำนานเรื่องพระโพธิสัตว์กวนอิม เดิมเป็นเทพธิดาซึ่งต้องการช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยแก่มวลมนุษย์  ในชาติสุดท้ายจึงจุติลงมายังโลกมนุษย์นาม เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน เป็นพระราชธิดาองค์เล็กของกษัตริย์แห่งอาณาจักรซิงหลิง พระนามว่า พระเจ้าเมี่ยวจวง กับพระนางเซี่ยวหลิน (พระนางเป๋าเต๋อ) มีพระพี่นาง 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงเมี่ยวอิม และเจ้าหญิงเมี่ยวหยวน

วันประสูติ-พระโพธิสัตว์กวนอิม-03.jpg

ในเยาว์วัย เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ทรงเป็นพุทธมามกะ รู้แจ้งในหลักธรรมลึกซึ้ง ตั้งพระทัยแน่วแน่จะบำเพ็ญภาวนา เพื่อหลุดพ้นสังสารวัฏ ทรงออกบวชวันที่ 19 เดือน 9 พระเจ้าเมี่ยวจวงไม่เห็นด้วย จึงบังคับให้เลือกราชบุตรเขย เพื่อจะได้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป แต่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านไม่สนพระทัยเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ อันจอมปลอม แม้จะถูกพระบิดาดุด่าอย่างไร พระองค์ก็ไม่เคยนึกโกรธเคืองแต่อย่างใด

วันประสูติ-พระโพธิสัตว์กวนอิม-04.jpg

ต่อมาเจ้าหญิงสามพระองค์ได้ถูกขับไปทำงานหนักในสวนดอกไม้ เช่น หาบน้ำ ปลูกดอกไม้ ทั้งนี้เพื่อทรมานให้เปลี่ยนความตั้งใจ แต่ก็มีเหล่ารุกขเทวดามาช่วยทำแทนให้ทั้งหมด เมื่อพระเจ้าเมี่ยวจวงเห็นว่าไม่ได้ผล จึงรับสั่งให้หัวหน้าแม่ชี นำเจ้าหญิงทั้งสามไปอยู่ที่วัดนกยูงขาว และให้เอางานของแม่ชีทั้งวัดมอบให้เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านทำพระองค์เดียว แต่พระองค์มีพระทัยเด็ดเดี่ยว ไม่เกี่ยงงานการต่างๆ ก็มีเหล่าเทพารักษ์มาช่วยทำแทนให้อีก พระเจ้าเมี่ยวจวงเข้าพระทัยว่า พวกแม่ชีไม่กล้าเคี่ยวเข็ญใช้งานหนัก ก็ยิ่งทรงกริ้วหนักขึ้น สั่งให้ทหารเผาวัดนกยูงขาวจนวอดเป็นจุณไป พร้อมกับพวกแม่ชีทั้งวัด มีแต่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านเท่านั้นที่ปลอดภัยรอดชีวิตมาได้

วันประสูติ-พระโพธิสัตว์กวนอิม-05.jpg

พระเจ้าเมี่ยวจวงทรงทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้นำตัวเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านไปประหารชีวิต เทพารักษ์คอยคุ้มครองเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านอยู่ โดยเนรมิตทองทิพย์เป็นเกราะห่อหุ้มตัว คมดาบของนายทหารจึงไม่อาจระคายพระวรกาย ดาบหักถึง 3 ครั้ง 3 ครา พระเจ้าเมี่ยวจวงทรงกริ้วยิ่งนัก โดยเข้าพระทัยว่านายทหารไม่กล้าประหารจริง จึงให้ประหารนายทหารแทน แล้วรับสั่งให้จับเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านไปแขวนคอ ทว่าผ้าแพรที่แขวนคอก็ขาดสะบั้นลงอีก ทันใดนั้นปรากฏมีเสือเทวดาตัวหนึ่งได้นำเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านขึ้นพาดหลังแล้วเผ่นหนีไปที่เขาเซียงซัน ต่อมา เทพไท่ไป๋ได้แปลงร่างเป็นชายชรามาโปรดเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ชี้แนะเคล็ดวิธีการบำเพ็ญเพียรเครื่องดับทุกข์ จนสามารถบรรลุมรรคผลสำเร็จธรรม วันที่ 19 เดือน 6 ข้างฝ่ายพระเจ้าเมี่ยวจวงเข้าพระทัยว่า เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านถูกเสือคาบไปกินเสียแล้ว จึงไม่ได้ติดใจตามราวีอีก

ต่อมาไม่นานบาปกรรมที่พระองค์ก่อไว้ส่งผล เกิดป่วยด้วยโรคร้ายแรง ไม่มียารักษาให้หายได้ เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านได้ทรงทราบด้วยญาณวิถีว่า พระเจ้าเมี่ยวจวงกำลังประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ด้วยความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ มิได้ถือโทษโกรธการกระทำพระบิดาแม้แต่น้อย ทรงได้สละดวงตาและแขนสองข้าง เพื่อรักษาพระบิดาจนหายจากโรคร้าย

ว่ากันว่า ภายหลังสำเร็จอรหันต์ ได้ดวงตาและพระกรคืน เคยแสดงปาฏิหาริย์เป็นปางกวนอิมพันมือ เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านนั้น ตอนแรกเป็นชาวพุทธ ตอนหลังเทพไท่ไป๋ได้มาโปรด ชี้แนะหนทางดับทุกข์ เหตุนี้พระโพธิสัตว์กวนอิมจึงเป็นเทพทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายเต๋าในเวลาเดียวกัน

ส่วนรูปเคารพพระโพธิสัตว์กวนอิมมักมีเด็กชายและ เด็กหญิงหรือสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาอยู่เคียงข้างเสมอ โดยถูกเรียกทับศัทพ์เป็นคำจีนว่า กิมท้ง คือเด็กชายผู้ที่ทุบศีรษะเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านจนดวงปราณละสังหารได้นั้นเอง และ เง็กนึ้งคือสาวใช้ผู้ปวารณาเป็นข้ารับใช้พระองค์ขณะเป็นภิกษุณี

บางตำนานว่า กิมท้ง คือ บุตรชายคนรองแห่งเทพถือเจดีย์ (บิดาแห่งนาจา) นามว่า "ซ่านไฉ่"ซึ่งถวายตัวเป็นพุทธสาวกแห่งพระโพธิสัตว์กวนอิม และส่วนเง้กนึ้ง บางตำนานกล่าวว่าคือ ธิดาพญามังกร นามว่าหลงหนี่ซึ่งเป็นพระธิดาแห่งเจ้าสมุทรผัวเจี๋ยหลัวปวารณาตนเป็นสาวกของพระโพธิสัตว์กวนอิม

แต่บางตำนานว่า ซ่านไฉ่ กับ หลงหนี่เป็นพระโพธิสัตว์ โดยมีเทวตำนานดังนี้ ตอนที่เจ้าหญิงหลงหนี่อายุได้ 8 พรรษาได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ บังเกิดเห็นดวงตาเห็นธรรมจึงเสด็จขึ้นจากวังบาดาล ยังชมพูทวีปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และถวายตัวเป็นสาวก และต่อมาไม่นานสำเร็จมรรคผลเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนซ่านไฉ่นั้นเป็นบุตร 1 ใน 500 คนแห่งผู้เฒ่าฝูเฉิง เกิดเห็นว่าทุกสรรพสิ่งเป็นสิ่งไม่เที่ยงมาแต่ไหนแต่ไร ด้วยเหตุนี้จึงสนใจศึกษาพระธรรมโดยได้รับคำชี้แนะจากพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และได้รับการสั่งสอนจากภิกษุ ถึง 53 รูป ผ่านอุปสรรคต่างๆจนบรรลุสู่การเป็นพระโพธิสัตว์.

ในเรื่องของการไม่กินเนื้อของคนไทยเชื้อสายจีนนั้น ได้อิทธิพลมาจากสื่อซีรี่ย์กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม ที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2528 ที่ว่า พระเจ้าเมี่ยวจวง หรือพ่อของเจ้าแม่กวนอิมไปเกิดใหม่ ได้กลายเป็น ‘วัว’ เพราะกรรมที่ท่านทำไม่ดีเมื่อตอนที่เกิดเป็นคน จึงเกิดกลายเป็นสัตว์เดรัจฉานและต้องเกิดเป็นแบบนี้ไปเป็นร้อยเป็นพันชาติ เจ้าแม่กวนอิมจึงไม่บริโภคเนื้อวัว เพราะนึกถึงพ่อของตน จึงไม่อยากทานพ่อของตนเองเป็นอาหาร  

คนไทยเชื้อสายจีนเลยเชื่อกันไปว่า ถ้าสัตว์ที่ตัวเองกินเป็นพ่อของเจ้าแม่กวนอิม ก็เกิดกลัวว่าอาจจะได้ทานเนื้อวัวซึ่งเป็นวัวตัวที่พ่อของเจ้าแม่กวนอิมกลับชาติมาเกิดในระยะร้อยๆ พันๆ ปีที่ท่านต้องชดใช้กรรมก็ได้ และเพื่อความสบายใจสำหรับคนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม จึงตัดปัญหาโดยไม่ทานเนื้อวัวเลย ซึ่งนี่คือความเชื่อที่คนไทยเชื่อและถูกส่งต่อๆ กันมา

วันประสูติ-พระโพธิสัตว์กวนอิม-06.jpg

วันประสูติ-พระโพธิสัตว์กวนอิม-07.jpg

วันประสูติ-พระโพธิสัตว์กวนอิม-08.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511