guideubon

 

กว่าจะเป็น อาคารเบ็ญฯ เด่นสง่า ทรงคุณค่าเบ็ญจะมะมหาราช

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-07.jpg

 
บทกลอนข้างต้นสะท้อนสภาพอาคารโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (หลังเก่า) ที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่าครึ่งศตวรรษได้เป็นอย่างดี จนศิษย์เก่าลูกเขียวแดง หรือลูกแม่ไทรงาม ทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาร่วมแรงร่วมใจ หาทางฟื้นฟูอาคารไม้ตะเคียนหินหลังนี้ ให้กลับคืนความสง่างามขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นโรงเรียนเดียวในประเทศไทยที่มีคำว่า "มหาราช" ต่อท้าย มีประวัติยาวนานตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เป็นอาคารไม้ขนาดใหญ่ 2 ชั้น มีมุข 3 มุข เป็นศรีสง่าในแดนอีสาน เป็นที่ใฝ่ฝันของเด็กนักเรียนมาทุกยุคทุกสมัยที่อยากเข้าเรียนยังสถานศึกษาแห่งนี้

ประมาณ พ.ศ.2511 กระทรวงมหาดไทย ต้องการใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าของอาคารโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เพื่อสร้างที่ทำการศาลากลางจังหวัดหลังใหม่แทนอาคารหลังเก่า (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานีในปัจจุบัน) และทำการย้ายโรงเรียนเบ็ญจะมะฯ ไปตั้งอยู่ยังถนนสรรพสิทธิ์ แถวท่าวังหินในปัจจุบัน อาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะฯ จึงถูกบดบังด้วยศาลากลางจังหวัดฯ และถูกทิ้งร้างในเวลาต่อมา

คณะศิษย์เก่าเห็นว่า อาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะฯ หลังนี้ หากไม่ได้รับการซ่อมแซมหรือบูรณะใหม่ จะต้องผุพังไปตามกาลเวลา จึงพยายามผลักดันให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ และกรมศิลปากรก็ได้ขึ้นทะเบียนอาคารไม้ตะเคียนหินหลังนี้เป้นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.2549

แม้ว่าจะมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว อาคารไม้ดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม แถมยังถูกทิ้งร้างให้อยู่ในสภาพทรุดโทรม อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลที่เข้าไปในอาคารได้ คณะศิษย์เก่า นำโดย ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในสมัยนั้น ได้เชิญชวนศิษย์เก่ารุ่นต่างๆ บริจาคเงินเพื่อทำรั้วเหล็กกึ่งถาวรล้อมรอบอาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังนี้ไว้

ชิดชัย-วรรณสถิตย์-ประกอบ-วิโรจนกูฏ-01.jpg

คณะศิษย์เก่าฯ ได้นำเรื่องอาคารไม้ดังกล่าวไปปรึกษา พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยนั้น ซึ่งท่าน พล.ต.อ.ชิดชัย ได้สั่งการให้นายสุธี มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดทำเรื่องของบประมาณเป็นพิเศษที่อยู่ในความดูแลของ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อมาซ่อมแซมอาคารไม้หลังนี้ แม้ว่าจะได้รับงบประมาณแล้ว แต่ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 งบประมาณดังกล่าวจึงถูกยกเลิกและเรียกกลับคืนในที่สุด

หลังการเลือกตั้ง พ.ศ.2551 พรรคพลังประชาชนเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล มี ฯพณฯ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และนายอนุสรณ์  วงศ์วรรณ เป็น รมต.กระทรวงวัฒนธรรม คณะศิษย์เก่าในนามสมาคมชาวอุบลราชธานี ซึ่งมี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เป็นนายกสมาคมฯ ได้ผลักดันอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้ อ.เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ซึ่งมีความคุ้นเคยกับอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น และประสานไปยังนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ อีกทางหนึ่ง ซึ่งทางกรมศิลปากรแจ้งว่าต้องใช้งบประมาณ 13 ล้านบาทเศษ โดยให้ของบประมาณผ่านไปยังกระทรวงวัฒนธรรม บทบาทนี้ พล.ต.อ.ชิดชัย รับไปประสานโดยตรงกับนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมต.กระทรวงวัมนธรรม จนได้รับงบประมาณ 13 ล้านบาทเศษ เพื่อทำการบูรณะอาคารไม้หลังเดิมจนแล้วเสร็จ มีความวามสง่าดังเดิม

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-02.jpg

เมื่อบูรณะซ่อมแซมอาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชเสร็จแล้ว ศิษย์เก่ารุ่นต่างๆ ได้แสดงความเห็นในการใช้อาคารหลังนี้อย่างมากมาย จนกระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 นายสุรพล  สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีขณะนั้น ได้จัดพิธีลงนามการดูแลรักษาโบราณสถานอาคารโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี และดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นเมืองอุบลราชธานีขึ้น

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-06.jpg

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ในฐานะนายกเบ็ญจะมะมหาราชสมาคม ได้กล่าวมอบอาคารนี้อย่างชัดเจนว่า การซ่อมแซมบูรณะอาคารไม้นี้ สำเร็จได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่าย ศิษย์เก่าทุกท่านเป็นเจ้าของร่วมกัน พี่น้องชาวอุบลราชธานีทุกคนเป็นเจ้าของที่แท้จริง เป็นสมบัติที่ต้องรักษาให้คงอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานีตลอดไป ขอให้ใช้เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับพี่น้องชาวอุบลทุกท่าน

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-09.jpg

เป็นเรื่องบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ เวลา 40 กว่าปี ที่อาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ถูกบดบังด้วยศาลากลางจังหวัดอุบลฯ กระทั่งเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ศาลากลางจังหวัดฯ ถูกเพลิงไหม้จนหมดสิ้น  แต่อาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะฯ ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ไปด้วย แต่กลับยิ่งทำให้อาคารดังกล่าวดูเด่นเป็นสง่า ไม่มีสิ่งใดมาบดบังความยิ่งใหญ่ งดงาม ยังความภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานีสืบจากนั้นมา

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-10.jpg

เรียบเรีบงข้อมูลจาก นิตยสารวันโฮม 2554
สมาคมชาวอุบลราชธานี

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511