guideubon

 

ต้นเทียนทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี สร้างขึ้นในโอกาสพิเศษ

ต้นเทียนเฉลิมพระเกียรติ-ทุ่งศรีเมือง-อุบล-01.jpg

วันที่ 14 เมษายน 2561 ระยะนี้มีกิจกรรมที่ทุ่งศรีเมืองกันบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จะเรียกสถานที่จัดงานตรงต้นเทียนว่า ลานเทียนทุ่งศรีเมือง ถือเป็นแลนด์มาร์ค หรือสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ใครได้เห็น ก็จะรู้ทันทีว่า อยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งหากสังเกตุ เว็บไซต์ไกด์อุบล จะเรียกชื่อสถานที่ตรงนี้ว่า "ต้นเทียนเฉลิมพระเกียรติ" ทุกครั้ง เนื่องจากการก่อสร้างมีที่มาว่า สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542

ต้นเทียนเฉลิมพระเกียรติ-ทุ่งศรีเมือง-อุบล-03.jpg

ต้นเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของทุ่งศรีเมือง มีขนาดความสูง 22 เมตร หรือ 72 ฟุต (ปีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในหลวงรัชกาลที่ 9) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.40 ฐานเป็นรูปวงรีแบบไข่ ขบวนต้นเทียนจำลอง เรื่อง พระมหาชนก พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงนิพนธ์จากการดัดแปลงจากชาดกในทศชาติ เรื่อง "พระมหาชนก" ที่แสดงถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความพากเพียรของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยชาติพระพุทธเจ้า

ต้นเทียนเฉลิมพระเกียรติ-ทุ่งศรีเมือง-อุบล-04.jpg

ขบวนต้นเทียนจำลอง นำตอนสำคัญของพระมหาชนก มาทำเป็นรูปแบบ คือ พระมหาชนกราชกุมาร เดินทางไปทะเล เรือแตก คนทั้งหลายจมน้ำในทะเลถึง 7 วัน ด้วยความอดทนอย่างไม่ลดละ ทำให้นางมณีเมขลาที่ท้าวโลกบาลทั้ง 4 ได้มอบให้ดูแลมหาสมุทร เกิดความเห็นใจ จึงได้อุ้มพระมหาชนกมาถึงเมืองมิถิลานครอย่างปลอดภัย จากเหตุการณ์ตอนนี้ จึงเป็นคติธรรมแห่งความสพเร็จ กล่าวคือ "การใดจะสำเร็จได้ด้วยความเพียร แม้กระทั่งความตายยังรอดพ้นมาได้" พระราชนิพนธ์นี้ จึงนับว่าเป็นกุศโลบายสำคัญสำหรับเหตุวิกฤตทางเศรษฐกิจไทย ที่ตกต่ำอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2540 ที่คนไทยต้องใช้ความอดทนความเพียรพยายาม ร่วมแรงร่วมใจเพื่อผ่านพ้นวิกฤตให้จงได้

รูปแบบ เป็นการนำศิลปะที่แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี ผสมผสานกับศิลปะของไทยโดยทั่วไป โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ

1. สระน้ำ มีขนาดกว้าง 4 เมตร ลักษณะรูปวงรีแบบไข่ ลึก 1 เมตร มีลวดลายบัวแดงแบบอุบลประดับ

2. เรือสำเภา ยาว 16 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร หัวเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร ซึ่งเป็นลักษณะนาคแบบอุบล คือ ส่วนหงอน ส่วนปลายยอดของพญานาค จะทำเป็นลายช่อสะบัด เหมือนรูปหางไหลเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไป เหมือนกับลมพัดดูเคลื่อนไหว และที่ส่วนหน้าอกก็จะมีปีกอยู่ส่วนของลำเรือ และหางเรือจะประดับด้วยลวดลายแบบอีสาน คือ ลวดลายจะเน้นเป็นรูปคล้ายเลขหนึ่งไทย ที่ม้วนตัวเข้าที่ดูค่อนข้างป้อมอวบอ้วน ประกอบภาพปรกที่ส่วนหัว และภาพเทวดาที่ส่วนท้าย

3. ภาพบุคคล เป็นภาพบุคคลที่อยู่ในเรือสำเภา และบุคคลที่ว่ายน้ำที่ประกอบด้วย ภาพพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำ และลูกเรือกำลังถูกสัตว์น้ำกัดกินและกำลังจมน้ำอยู่

ต้นเทียนเฉลิมพระเกียรติ-ทุ่งศรีเมือง-อุบล-05.jpg

4. ต้นเทียน ประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 5 ส่วน คือ

- ฐานล่างสุด เป็นรูป "พญาหงส์" หมายถึง สัตว์ที่แสดงถึงความนุ่มนวลอ่อนหวาน ความสง่างามของกษัตริย์ แบกรับขันหมากของอีสาน รับฐานครุฑ หมายถึง กษัตริย์ไทย ซึ่งบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระโพธิสัตว์

- ฐานชั้นที่ 2 เป็นรูป "พญาครุฑ" เป็นเทพในศาสนาของพราหมณ์ ซึ่งเป็นพาหนะของกษัตริย์ลัทธิไวษณพนิกาย

- ฐานชั้นที่ 3 เป็นภาพดอกบัวที่มีลักษณะเป็นบัวกลีบยาว ซึ่งหมายถึงอุบลราชธานี หรือตัวแทนความเป็นจังหวัดอุบลราชธานี

- ส่วนลำต้น เป็นภาพตอนสำคัญของทศชาติบารมี ประกอบกับลวดลายแบบอีสาน คือ ลวดลายกนกที่ขมวดคล้ายกับเลขหนึ่งไทย ที่ดูอวบอ้วน และดูช่องไฟค่อนข้างแน่น

- ส่วนยอด เป็นภาพของสถาปัตยกรรมแบบเมืองอุบล ที่ลอกแบบมาจากเจดีย์ทรงแจกันเหลี่ยมที่วัดพระธาตุสวนตาล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

เริ่มการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 3,409,703 บาท

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511