guideubon

 

นามสกุลเก่าแก่ของคนอุบล

นามสกุลเก่าแก่ของคนอุบล-01.jpg

นับจากปี พ.ศ.2335 ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้พระประทุมราชวงศา เป็น "พระประทุมวรราชสุริยวงษ์" และเสริมนามเมืองอุบลขึ้นเป็น "เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลประเทศราช" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.2557 กาลเวลาผ่านมา 222 ปี เมืองอุบลราชธานี จึงเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองกันมากมาย

ชาวอุบลหลายคนมีนามสกุลเก่าแก่ ใช้กันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณตา บางท่านอาจสงสัยว่า นามสกุลที่ใช้อยู่มีที่มาที่ไปอย่างไร ตามไปดูครับ

พระอุบลเดชประชาลักษณ์-อุบล-01.jpg
พระอุบลเดชประชาลักษณ์ 
(ท้าวโพธิสาร-เสือ  ณ อุบล)
อดีตผู้ว่าราชการเมืองอุบลราชธานี

สกุล ณ อุบล เป็นที่สืบมาจาก เจ้าประทุมวรราชสุริวงศ์ (คำผง) และเจ้าธรรมเทโว แห่งนครจำปาศักดิ์ทางฝ่ายมารดา สายพระอุปฮาดสุดตา พระอุปฮาดสุดโท ผู้ขอรับพระราชทานนามสกุลคือ พระอุบลเดชประชาลักษณ์ (เสือ)

สกุล สุวรรณกูฏ เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากพระพรหมราชวงศา (ท้าวกุทอง) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ผู้ที่ขอรับพระราชทานนามสกุล พระปริคุฏคามเขต (โหง่นคำ)

สกุล พรหมวงค์นนท์ เป็นสกุลที่สืบมาจากพระรางวงค์เมืองอุบลราชธานี คือ พระโพธิสาร และพระราชวงศ์ทางฝ่ายมารดา ผู้ขอรับราชทานคือ พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู) ซึ่งเป็นหลานพระพรหมราชวงศา (พรหม)

สกุล บุตโรบล เป็นสกุลที่สืบมาจากพระราชบุตรสุ่ย และพระราชบุตรคำ เมืองอุบลราชธานี สืบเนื่องมาจากเจ้าโครต และเจ้าสีหาพลสุข บุตรพระเจ้าตา ผู้รับพระราชทานสกุลคือ พระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง)

สกุล สิงหัษฐิต เป็นสกุลที่สืบมาจากพระเกษโกมนสิงห์ขัตติยะ ซึ่งเป็นหลานพระพรหมราชวงศา (กุทอง) ผู้ขอรับพระราชทานนามสกุลคือ พระวิภาคย์พจนกิจ (หนูเล็ก)

สกุล ทองพิทักษ์ เป็นสกุลที่สืบมาจากพระอุปฮาดสุดตา ซึ่งเป็นพี่ชายของพระพรหมราชวงศา (กุทอง) บุตรของพระอุปฮาดสุดตา คือ เท้าไกรยราช (พู) ซึ่งเป็นหลานของพระพรหมราชวงศา (กุทอง) เป็นผู้ขอรับพระราชทานนามสกุล

สกุล อมรดลใจ เป็นสกุลที่สืบมาจากอมรดลใจ (อ้ม สุริยวงศ์) ซึ่งเป็นบุตรของพระพรหมราชวงศา (กุทอง) ที่ขอรับพระราชทานให้เป็นเจ้าเมืองระกาพืชผลท่านแรก และเป็นเขยของเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านางคำผุย ผู้รับพระราชทานนามสกุล นายกองโทเก่ง

สกุล แสนทวีสุข เป็นสกุลที่สืบมาจากเสนาเมืองในตำแหน่งแสน ซึ่งเป็นนายทหารคู่ใจของพระวอ ที่ได้อพยพมาจากเมืองหนองบัวลุ่มภูพร้อมกัน คือ ท่านแสนเทพ และท่านแสนนาม ตำแหน่งแสนนี้ เป็นตำแหน่งชั้นพญากำกับการทหารและพลเรือน มีตำแหน่งพญาเมืองแสน และตำแหน่งพญาเมืองจันทร์ เป็นนามสกุลของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สกุล ศุภสร เป็นสกุลที่สืบมาจากพระเถระผู้ใหญ่เมืองอุบลราชธานี ได้แก่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) ผู้นำการศึกษาภาษาไทยเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนอีสาน

สกุล โสมะเกษตริน เป็นสกุลของชาว อ.เหล่าเสือโก้ก ที่สืบมาจากขุนเทพวงษาที่ขอพระราชทานนามสกุลร่วมกับพระไพศาลเวชกรรมซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งขุนเทพวงษามิได้เป็นชาวเหล่าเสือโก้ก แต่พระไพศาลเวชกรรมมีภูมิลำเนาเกิดที่บ้านเหล่าเสือโก้ก มีหลักฐานว่าดำรงตำแหน่งเป็นเทศาปกครองมณฑลร้อยเอ็ด และต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ยังสกุล อีกหลายสกุล เช่น บัวขาว วนะรมย์ ไชยกาล บุญรมย์ บุณยรัตพันธุ์ สายแวว  แสนอ้วน อมรสิน

สำหรับพ่อค้าพาณิชย์นั้น ก็มีพ่อค้าใหญ่ชั้นเศรษฐีเมืองอุบลราชธานีอยู่หลายท่าน เช่น สกุล โกศัลวัฒน์ ซึ่งเป็นนามสกุลของหลวงวัด สกุล ศรีธัญรัตน์ ของหลวงศรีโภคา และสกุล โกศัลวิทย์ สกุล สุรพัฒน์ ของขุนพิพัฒน์ ซึ่งล้วนแต่พ่อค้าชาวจีนที่มาค้าขายในเมืองอุบลราชธานี ได้ช่วยเหลือทางราชการจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายภาษีอากร นับว่าชาวจีนท่านเหล่านี้ ได้สร้างคุณงามความดีให้แก่บ้านเมือง ตามที่ปรากฏชาวจีน แซ่แต้ และแซ่ตั้ง เป็นผู้ที่มาตั้งการทำมาหากินในเมืองอุบลราชธานีครั้งแรก