guideubon

 

เบ็ญจะมะมหาราช โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอิสาณ

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-อุบล-01.jpg
ขอบคุณภาพโดย น.ส.สิริกมล นวลมณี

อาคารเก่าที่ท่านเห็นอยู่นี้ เดิมใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชครับ ภายหลังทางจังหวัดฯ ต้องการใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี แทนหลังเดิมที่คับแคบลง (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) โรงเรียนเบ็ญจะมะฯ จึงย้ายไปที่ใหม่ยังที่ตั้งปัจจุบัน และปล่อยอาคารเดิมทิ้งร้างจนอยู่ในสภาพทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานได้ โชคดีที่มีโครงการบูรณะขึ้นใหม่ เหมือนชุบชีวิตอาคารโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ไกด์อุบลขอพาท่านย้อนสู่อดีต ความเป็นมา กว่าจะเป็นอาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังนี้ครับ

โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เดิมเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอิสาณ ตามที่พระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งยังเป็นพระสาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอิสาณได้จัดตั้งขึ้นที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2451

ต่อมาสมัยที่พระยาศรีธรรมสุกราช ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอิสาณ สืบต่อจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มีความคิดว่าจะสร้างโรงเรียนตัวอย่างสำหรับมณฑลขึ้นเป็นเอกเทศ ไม่ให้อยู่ในวัดเหมือนเมื่อก่อน เพื่อกุลบุตรกุลธิดาจะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเต็มที่ โรงเรียนจึงย้ายมาทำการที่อาคารเรียนหลังใหม่ มุมทุ่งศรีเมือง ด้านทิศตะวันออก (บริเวณโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี ปัจจุบัน) เรียกอาคารใหม่ว่า “ตึกเหลือง” ประกอบพิธีเปิดวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2458 โดย จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ  กรมหลวงพิษณุโลก ประชานาถ  และได้ประทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนตัวอย่าง ประจำมณฑลอุบลราชธานี เบ็ญจะมะมหาราช” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และได้โอนนักเรียนคฤหัสถ์จากโรงเรียนอุบลวิทยาคม มาเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่ โรงเรียนจึงถือวันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันสถาปนาโรงเรียน”

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-อุบล-03.jpg

พ.ศ. 2462-2474 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทำให้มีนักเรียนมากขึ้น คุณพ่อสุวิชช คูณผล ปราชญ์เมืองอุบล เล่าว่า พ.ศ. 2477 ในสมัยอาจารย์น้อม วนะรมย์ เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ได้เสนอจังหวัดและกระทรวงศึกษาธิการเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ ต่อมาจังหวัดได้รับงบประมาณเงิน 4 หมื่นเศษ สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นอีก ในบริเวณกรมทหารเก่า ซึ่งย้ายไปตั้งอยู่ที่อำเภอวารินชำราบ โรงเรียนหลังที่กล่าวนี้คือ หลังที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง หรือด้านหลังของศาลากลางจังหวัด (ปัจจุบันอาคารศาลากลางจังหวัดถูกเผาไปแล้ว) 

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-อุบล-04.jpg

 งบประมาณ 4 หมื่นบาท ในสมัยนั้น นับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ เป็นที่ตื่นเต้นของชาวบ้านชาวเมืองมาก นับว่าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่สร้างในเนื้อที่ 40 กว่าไร่ ทิศเหนือจรดถนนสุรศักดิ์และวัดไชยมงคล ทิศใต้จรดถนนศรีณรงค์และวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน) ทิศตะวันออกจรดถนนอุปราชและทุ่งศรีเมือง ทิศตะวันตกจรดบ้านประชาชนและป่าช้าโรมันคาทอลิก

ตัวอาคารอยู่ตรงกลางของเนื้อที่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสนามและเสาธงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพูนดินมีขาเสาธงสี่ขา ตั้งอยู่หน้าอาคารเรียน มาถนนรอบสนามฟุตบอลออกไปทางด้านหน้าโรงเรียน ด้านหน้าของอาคารทั้งสองข้างมีถนนเดินเข้าสู่โรงเรียน ด้านหลังเยื้องไปทางทิศใต้มีโรงพลศึกษา ด้านหลังมีบ้านพักครู โรงพัสดุ บ้านพักภารโรง และใช้เนื้อที่หลังสุดสำหรับงานเกษตรกรรมจนจรดป่าช้าโรมันคาทอลิก

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-อุบล-05.jpg

ตัวโรงเรียนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานที่ก่อด้วยซีเมนต์ ด้านหน้ามีมุข 3 มุข เรียงกัน หลังคาเป็นกระเบื้อง ตัวอาคารโครงสร้างเป็นไม้เนื้อแข็งและไม้สักทองทั้งหมด ทั้งพื้นเพดานและฝาผนัง พื้นเข้าลิ้นสนิทจนเป็นเนื้อเดียวกัน น้ำที่หกจากชั้นบนไม่สามารถจะไหลลงมาชั้นล่างได้ ประตูหน้าต่างไม้สักหมดทุกบาน มีบันไดขึ้นลงจากชั้นล่างสู่ชั้นบนทั้งสองข้าง

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-อุบล-06.jpg

ตัวอาคารทาสีไข่ไก่ทั้งด้านนอกและด้านใน เพดานทาสีขาว กรอบประตูหน้าต่างคาดเส้นพื้นผนังและคิ้วไม้ด้วยสีน้ำตาลแดงคล้ำ มีฟุตบาทก่อด้วยซีเมนต์รอบตัวอาคาร มีถังน้ำสร้างด้วยซีเมนต์ขนาดใหญ่ 2 ถังไว้รองรับน้ำฝนให้นักเรียนไว้ดื่มกิน ทางขึ้นลงมี 2 ทาง ด้านหน้าและหลังด้านละ 2 ทาง ด้านละทาง

การก่อสร้างประณีต และยอดเยี่ยมมากเป็นที่นิยมยกย่องแก่ผู้พบเห็น ต่อมาภายหลังเปลี่ยนมาทาสีอาคารเป็นสีฟ้าอมเท่าตลอดทั้งหลัง อาคารทั้ง 2 ชั้นมีห้องเรียน 20 ห้อง ห้องประชุม 1 ห้อง อยู่ตอนกลางชั้นบน ห้องพักครู 1 ห้อง อยู่ชั้นล่างตอนกลาง ห้องครูใหญ่และห้องธุรการอยู่มุขกลางชั้นล่าง ห้องสมุดอยู่มุขกลางชั้นบน ห้องประชุมบางครั้งใช้เป็นห้องวิทยาศาสตร์อยู่ตอนกลางชั้นบน

ผู้ออกแบบอาคารคือ พระสาโรจน์ รัตนนิมาน สถาปนิกประจำกระทรวงศึกษาธิการ ท่านบอกว่ารากฐานของโรงเรียนหลังนี้มั่งคงแข็งแรงมาก ถ้าเครื่องไม้ชำรุดพังลง จะรื้อไม้ออกแล้วก่อตึกบนฐานเดิมได้เลย แต่ไม่ปรากฏว่าโรงเรียนได้เกิดความชำรุดเสียหายแต่อย่างใด ยังคงใช้การได้เป็นเวลานาน พื้นคงแบบสนิท ประตูหน้าต่างยังคงสภาพเดิม นับว่ามั่นคงแข็งแรงหาอาคารใดเทียบได้ยาก ผู้รับเหมาก่อสร้างคือ นายหงส์ แซ่อาย (บิดาของนาง นิภา สายชาลี ครูโรงเรียนวิไลวัฒนา ภรรยานาย จารึก สายชาลี ครูโรงเรียนอุบลวิทยาคม) ร่วมลงทุนกับนายเชยเป็นคนจีน ใช้เวลาก่อสร้างเกือบปี ทราบว่าการรับเหมาก่อสร้างอาคารหลังนี้ขาดทุนเป็นจำนวนมาก และนายเชยได้หายหน้าหายตาไปเลย

เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ พระสารศาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นมาเป็นประธานในพิธีเปิดใน พ.ศ. 2478 นั่นเอง ในนามโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชตามเดิม ในการทำพิธีเปิดมีฉลองร้านออกร้านแข่งขันกีฬา และมหรสพ 3 วัน 3 คืน เป็นที่สนุกสนานครึกครื้นพอสมควร จึงนับเป็นโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังที่ 2 ต่อมา พ.ศ. 2480 อาจารย์น้อม วนะรมย์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนได้ก่อสร้างหอประชุมเป็นโรงยาว โรงการฝีมือเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอาคาร

ที่สำคัญที่สุด ท่านได้นำเอาต้นไทรมาปลูกไว้ด้านหลังโรงเรียนใกล้กับแท้งก์น้ำโดยให้นักเรียนทุกคนร่วมปลูก และท่านได้กล่าวว่า ลูกเบ็ญจะมะทุกคนคือลูกไทรงาม ใครจะลบหลู่ดูหมิ่นไม่ได้ ถ้าใครลบหลู่ดูหมิ่นไม่นับถือขอให้มีอันเป็นไป เป็นการสาปแช่งในขณะที่ทำการปลูกนั้น หลังจากนั้นต้นไทรต้นนั้นก็เจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน โดยศิษย์เบ็ญจะมะมหาราชทุกคน ก็จะเรียกตัวเองว่าเป็น "ลูกไทรงาม" และถือเอา "ต้นไทร" งามนั้นเป็นที่เคารพมาจนถึงปัจจุบัน