guideubon

 

คุยกับ อดีตประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลฯ หลานหม่อมเจียงคำ

หม่อมเจียงคำ-ปรมาภรณ์-01.jpg

ไกด์อุบลรู้จัก "อาหญิง" นางปรมาภรณ์ ศรีสินวรากูล มาเกือบสิบปีแล้วครับ สมัยอาหญิง ดำรงตำแหน่งประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี เหตุที่เรียกว่า อาหญิง เพราะเรียกตามที่ ผช.ปชส.อบ. พาเรียกครับ ตอนนั้นทราบแต่ว่าท่านเป็นลูกของนายอำเภอชิน (อดีตนายอำเภอวารินชำราบ) และเป็นน้องของท่านนิธิศักดิ์ ราชพิตร (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี)

ในโอกาสงานเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ไกด์อุบลทราบข่าวมาว่า อาหญิง หรือนางปรมาภรณ์ มีศักดิ์เป็นหลานของหม่อมเจียงคำ ด้วย จึงได้สอบถามและได้ความมาเล่าต่ออีกที ดังนี้ครับ

เมื่อคราวที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จฯมาทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ต่างพระเนตร พระกรรณ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่อุบลราชธานี นั้น หม่อมเจียงคำ ได้เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2436 และเข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองดั้งเดิม ต่อมามีโอรส 2 องค์ คือ

1. หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ( ปัจจุบันพระนามท่านเป็นชื่อถนนที่อุบลราชธานี) มีบุตร- ธิดา 3คน คือ

- หม่อมราชวงศ์ นายแพทย์พัชรีสาณ ชุมพล(ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาล สมิติเวช สุขุมวิท 49)

- หม่อมราชวงศ์หญิง แพทย์หญิงพวงแก้ว สุนทรเวช

- หม่อมราชวงศ์ จาตุรีสาณ ชุมพล

2. หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล สมรสกับ หม่อมเจ้าหญิง สีดาดำรวง (พระขนิษฐา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ใน รัชกาลที่ 7) และประทับที่วังศุโขทัยมีบุตร 2 คน คือ

- หม่อมราชวงศ์ ศักดิสาณ ชุมพล

- หม่อมราชวงศ์ พฤทธิสาณ ชุมพล

หม่อมเจียงคำ เป็นน้องสุดท้องในจำนวน 9 คน มีพี่สาวคนที่ 7 ชื่อ นางดวงคำ ซึ่งนางดวงคำ ได้สมรสกับ ขุนราชพิตรพิทักษ์  มีบุตร 1คน คือ นาย ชิน ราชพิตร

นายชิน ราชพิตร คือ บิดาของอาหญิง หรือนางปรมาภรณ์ และหม่อมเจียงคำ จึงมีศักดิ์เป็นน้าสาวของคุณพ่ออาหญิงนั่นเอง

สรุปแล้ว คุณย่าอาหญิง คือ นางดวงคำ มีน้องสาวแท้ๆ คือ นางเจียงคำ พวกเราจะเรียกหม่อมเจียงคำว่า หม่อมใหญ่ 

และเสด็จฯ ในกรม (กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์) ได้ทรงสู่ขอน้องสาวแท้ๆ ของคุุณยายทวด คือ นางบุญยืน บุญรมย์ (ญาติทางคุณแม่) ด้วย พวกเราจะเรียกหม่อมบุญยืนว่า หม่อมยาย 
 
สมัยเด็กๆ ลูกหลานที่อุบลฯ ที่ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ก็อาศัยอยู่ที่วังเพชรบูรณ์ รวมทั้งอาหญิงด้วย 
 
เอาไว้มีโอกาส จะขอให้อาหญิงเล่าให้ฟังถึงเรื่องสมัยเรียน และความทรงจำเกี่ยวกับหม่อมเจียงคำด้วยครับ