guideubon

 

ตำหนักวังสงัด ที่ประทับของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ กับหม่อมเจียงคำ

หม่อมเจียงคำ-วังสงัด-01.jpg

ทุกวันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี จะมีงานพิธีเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ซึ่งชาวอุบลฯ ร่วมกันจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี และเมื่อเอ่ยถึงหม่อมเจียงคำ ก็จะมีหลายท่านสงสัยว่า เมื่อครั้ง หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ถวายตัวเป็นชายาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อเดือนมีนาคม รศ.112 (พ.ศ.2436) นั้น ท่านประทับที่ใดในจังหวัดอุบลราชธานี

หม่อมเจียงคำ-สรรพสิทธิ-อุบล-01.jpg

ไกด์อุบลได้อ่านบทความเรื่องความเป็นมาของวังสงัด จากคำบอกเล่าของคุณผลา สิงหัษฐิต (ณ อุบล) ขณะที่สัมภาษณ์ (พ.ศ.2551) คุณผลา มีอายุ 78 ปี ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของอำมาตย์ตรีพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากคุณปู่วิภาคย์พจนกิจ ซึ่งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ตำหนักวังสงัด หลังจากที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้เสด็จนิวัติคืนสู่ประทับที่วังสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร

วังสงัด-พระวิภาคย์พจนกิจ-01.jpg
อำมาตย์ตรี พระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต)
เลขานุการในพระองค์ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

ตำหนักวังสงัด หรือที่คนทั่วไปรู้จัก เรียกสั้นๆ ว่า "วังสงัด" ตั้งอยู่ทิศเหนือ ถนนพโลรังฤทธิ์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งศรีเมือง อำภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วังสงัดมีเนื้อที่ 7 ไร่ ลักษณะวังเป็นอาคารไม้สักและไม้เนื้อแข็ง มี 3 ชั้น มีมุกกลางซึ่งกว้างมาก มีบันไดกว้างประมาณ 7 เมตร มีบันไดประมาณ 15 ขั้น มีห้องโถงชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 กว้างขวางมาก หลังคามุงด้วยสังกะสีอย่างหนา ตัวอาคารเป็นสีน้ำตาล สีไม่ธรรมชาติ ห้องบรรทมอยู่ทางทิศตะวันออก มีบันไดเวียนอยู่ทางทิศตะวันตก มีประตูหน้าต่างมากมาย อากาศถ่ายเทได้ดี

ตำหนักวังสงัดนี้ สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ.112 เป็นที่ประทับของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธประสงค์และหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นเวลา 17 ปี ก่อนที่จะนิวัติคืนสู่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

หม่อมเจียงคำ-สรรพสิทธิประสงค์-01.jpg

ทำไมจึงได้ชื่อว่า ตำหนักวังสงัด ก็เพราะว่าเป็นที่สงบเงียบ อากาศดี มีต้นไม้นานาพันธุ์ สวนผลไม้มากมาย และตั้งอยู่ใจกลางเมืองอุบลฯ ด้วย ผลไม้ที่อยู่รอบบริเวณวังสงัด อาที ต้นมะม่วง, ต้นกระท้อน, ต้นมะพร้าว, ต้นไผ่ตง ต่างๆ ผลไม้เหล่านี้ ท่านโปรดให้เก็บและแจกญาติ พี่น้อง ลูกหลาน ได้ทานกันอย่างทั่วถึง

ที่ดินบริเวณวังสงัด จำนวน 7 ไร่นี้ เป็นกรรมสิทธิ์ของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น บุตโรบล) ซึ่งเป็นบิดาของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์และหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา และพระโอรส ได้เสด็จนิวัติกลับกรุงเทพฯ พระองค์ท่านได้มอบหมายให้คุณพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) เป็นผู้ดูแลเก็บผลประโยชน์

ในปี พ.ศ.2478 อาจารย์ A.P. เอเบิล ฝรั่งมิชชั่นนารี ได้มาขอเช่าเพื่อจัดการศึกษาระดับประถม เรียกว่า โรงเรียนมิชชั่น มีนายเปรย โทณะสุต เป็นครูใหญ่ ค่าเช่าเดือนละ 500 บาท และต่อมาประมาณปี พ.ศ.2483 เกิดสงครามอินโดจีน โรงเรียนมิชชั่นจึงเลิกลาไป

หม่อมเจียงคำ-วังสงัด-02.jpg
คณะครูโรงเรียนวิไลวัฒนา ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเมื่อประมาณปี 2496 (ถ่ายที่บันไดตำหนักวังสงัด)
โรงเรียนวิไลวัฒนา มีครูใหญ่คนแรกและคนเดียว คือ ครูปรียา ถิระกิจ (ยืนที่ 3 จากซ้าย ผู้ผ้าพันคอ)

หลังจากนั้น เจ้าศรีรัฐ ณ จำปาศักดิ์ บิดาของคุณครูมาลี เจริญศรี (สกุลเดิม ณ จำปาศักดิ์) ได้มาขอเช่าวังสงัดจากพระวิภาคย์พจนกิจ เพื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอนนักเรียน ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมปีที่ 6 ให้ชื่อว่า โรงเรียนวิไลวัฒนา โดยมีครูปรียา ถิระกิจ (ชุมสาย ณ อยุธยา) เป็นครูใหญ่คนแรกและคนเดียว ทางโรงเรียนเสียค่าเช่าเดือนละ 500 บาท โดยมีคุณผลา (สิงหัษฐิต) ณ อุบล เป็นผู้เก็บค่า แล้วนำไปให้คุณปู่วิภาคย์พจนกิจ เก็บไว้เสียภาษีบำรุงเทศบาลอุบลฯ ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ได้ประทานพระวิภาคย์พจนกิจไว้เพื่อดูแลหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (หม่อมแม่ของพระองค์) ซึ่งป่วยมารักษาตัวอยู่ที่บ้านพักของคุณพระวิภาคย์พจนกิจ ถนนพิชิตรังสรรค์ ใกล้กับวัดป่าน้อย (วัดมณีวนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านพักหลังนี้

หม่อมเจียงคำ-วัดสุทัศนาราม-01.jpg

อีกหลายปีต่อมา อาคารตำหนักวังวงัดได้ทรุดโทรมมาก คุณผลาได้เล่าว่า คุรผลาได้เดินทางไปเข้าเฝ้าหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ที่วังสุโขทัยด้ยตนเอง และได้เล่าถึงตำหนักวังสงัดที่ชำรุดทรุดโทรม เกรงว่าเมื่อโดนลมแรงจะพังลงล้ม ทำลายทรัพย์สินที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเสียยหายได้ หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล จึงได้ขอความเห็นจากคุณผลาว่า จะทำอย่างไรดี คุณผลาจึงได้ทูลตอบให้ข้อเสนอว่า ควรรื้อถอนตำหนักวังสงัดแล้วถวายวัดสุทัศนาราม สร้างเป็นกุฏิถวายวัดสุทัศนาราม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ท่านก็เห็นด้วย เพราะอัฐิหม่อมแม่ของท่าน ก็ได้เก็บไว้ที่วัดสุทัศนารามแห่งนี้ ทางวัดสุทัศนารามจึงมีกุฏิไม้ ซึ่งสร้างโดยไม้จากตำหนักวังสงัดที่ปรากฎอยู่ที่วัดสุทัศนารามในปัจจุบัน

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511