guideubon

 

อุบลฯ ผนึกกำลัง ต้านโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง

โรคใบด่าง-มันสำปะหลัง-01.jpg

วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล (โรงงานผลิตเอทานอล และแป้งมันสำปะหลัง ต.นาดี อ.นาเยีย) ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี / สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 และเกษตรกรชาวไร่มันปะหลังในพื้นที่ตำบลหนองกินเพล อ.วารินชำราบ จำนวน 100 ราย เปิดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังให้ความรู้ และระดมมาตรการป้องกัน นำร่องโครงการตำบลต้านโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ

โรคใบด่าง-มันสำปะหลัง-03.jpg

การอบรมในวันนี้ มุ่งเน้นสร้างความตระหนักให้เกษตรกรเข้าใจ วิธีการจัดการกรณีพบเจอโรคฯ โดยนำร่องอบรมพื้นที่ ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ เนื่องจากเป็นตำบลที่มีการปลูกมันสำปะหลัง และเป็นแหล่งที่มีผู้นำท่อนพันธุ์มาจำหน่ายแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งในจังหวัด พร้อมจะขยายการสร้างความรู้ไปยังพื้นที่ตำบลอื่นๆ ในจังหวัดที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลังในเดือนต่อไป

โรคใบด่าง-มันสำปะหลัง-02.jpg

การอบรมในวันนี้ได้รับเกียรติจาก นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร / นางสาวกัณฑ์พร กรรณสูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล / ตัวแทนจากเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี และหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรมันสำปะหลังอินทรีย์ อ.วารินชำราบ ร่วมวงแลกเปลี่ยนประเด็นที่มาโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง

โรคใบด่าง-มันสำปะหลัง-04.jpg

ปัจจุบันสถานการณ์โรคฯ ในจังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่เป็นที่น่าวิตก จากการสำรวจของส่วนราชการพบเจอแปลงที่เป็นโรคฯ ที่ต.โซง อำเภอน้ำยืน และต.โคกสะอาด อำเภอน้ำขุ่น จำนวน 2 ราย 20 ไร่ พร้อมมีมาตการจัดการเรียบร้อยแล้ว (ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร) ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่อำเภอพื้นที่ภายในจ.อุบลราชธานี ยังไม่พบเจอโรคฯ แต่เพื่อความไม่ประมาท และความยั่งยืนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมในการหามาตราการป้องกันไม่โรคเข้ามาในพื้นที่ ด้วยการที่เกษตรกรจะต้องช่วยกัน ร่วมกับมาตราการภาครัฐ ที่ออกมาป้องกันอย่างจริงจัง

โรคใบด่างมันสำปะหลังมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) สามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ หากพบต้นมันที่เป็นโรคต้องทำลายทิ้งทันที เกษตรกรชาวไร่มันฯ พบอาการของโรคฯ สามารถติดต่อแจ้งได้ที่ เกษตรอำเภอ หรือเกษตรตำบลประจำอำเภอ / เจ้าหน้าที่ของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร 081 967 2288

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511