guideubon

 

สาสุขอุบลฯ ประกาศจุดยืน ปลดล็อกพืชกัญชา กัญชง จากยาเสพติดให้โทษ

ปลดล็อก-กัญชา-กัญชง-01.jpg

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ณ บริเวณลานหน้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ทุกกลุ่มงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมประกาศจุดยืน ปลดล็อกพืชกัญชา กัญชง จากยาเสพติดให้โทษ เพื่อสุขภาพ และสร้างเศรษฐกิจ สร้างพลัง การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้ใช้กัญชา กัญชง อย่างรู้คุณ รู้โทษ ใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัย เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกระทรวงสาธารณสุข และถูกต้องตามกฎหมาย

ปลดล็อก-กัญชา-กัญชง-02.jpg

นายสุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ ทำให้กัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภทที่ 5 ทั้งส่วนของช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก ยกเว้น สารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งร่างกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ ( พรบ.กัญชา กัญชง ) อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป จนกว่าพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ ประชาชนที่จะปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ดูแลสุขภาพส่วนบุคคล/ในครัวเรือน รวมทั้งใช้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ต้องขออนุญาตปลูก แต่ อย. ขอความร่วมมือให้จดแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน“ปลูกกัญ” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android หรือเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th ด้วยตนเอง หรือ หากไม่สะดวก จดแจ้งด้วยตนเอง ท่านสามารถรับบริการ ณ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (OSSC) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับจดแจ้งแทน

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน“ปลูกกัญ” และเริ่มจดแจ้งได้ตั้งแต่วันนี้ (9 มิ.ย.65) เป็นต้นไป ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่กฎหมายใหม่ โดยแหล่งที่มาของกัญชา กัญชง ที่ปลูกต้องมาจาก

1. ผู้ได้รับอนุญาตเดิมร่วมกับหน่วยงานรัฐ
2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมโครงการกับกรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมาย (ก่อนวันที่ 9 มิ.ย.65) ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี มีสถานที่ปลูกกัญชาที่ได้รับอนุญาต จำนวน 20 แห่ง กัญชงจำนวน 17 แห่ง
3. โครงการปลูกกัญชา 1 ล้านต้น (สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 : สวพ.4)
4. การขออนุญาตนำเข้า (ตามกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมกำกับ ได้แก่ พืชกัญชา กัญชง ควบคุมกำกับโดย พรบ. กักพืช พ.ศ. 2507 และเมล็ดกัญชา กัญชง ถูกควบคุมตาม พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518)

ปลดล็อก-กัญชา-กัญชง-03.jpg

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้โรงพยาบาล ทุกแห่งในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน ประชาชนสามารถรับคำปรึกษาได้ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้าน และในอนาคตมีแผนขยายเวลาเปิดให้บริการอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน

สำหรับกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ (เชิงพาณิชย์) การนำกัญชามาปรุงประกอบอาหาร สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ ของกรมอนามัย ส่วนแปรรูปกัญชา หรือการนำไปเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ อย. หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในตอนท้ายว่า ควรใช้กัญชาอย่างระวัง โดยเฉพาะ การนำไปใช้ในบุคคลกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี คนไข้จิตเวช สตรีมีครรภ์/ให้นมบุตร ห้ามรับประทาน ที่สำคัญหากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที

ปลดล็อก-กัญชา-กัญชง-04.jpg

อย่างไรก็ตาม ขอให้พี่น้องประชาชน ได้เฝ้าติดตามข้อกฎหมาย ตลอดจนข้อปฏิบัติที่จะประกาศออกมาภายหลัง วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โทร 091-1644324 ในวันและเวลาราชการ หรือ Scan QR code เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อ

ปลดล็อก-กัญชา-กัญชง-05.jpg

ปลดล็อก-กัญชา-กัญชง-06.jpg

ปลดล็อก-กัญชา-กัญชง-07.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511