guideubon

 

วางแผนมา 20 ปี เกษียณวันนี้ มีอาชีพรองรับ

ไพจิตร-นักรำ-ราชภัฏอุบล-01.jpg

วันที่ 1 ตลุาคม ของทุกปี สำหรับมนุษย์เงินเดือนแล้ว ก็คือวันเริ่มต้นทำงานของเดือนใหม่ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากเดือนที่ผ่านๆ มา แต่สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปี แล้ว กลับเป็นวันที่มีความหมายที่สุด เพราะหมายถึงวันที่ไม่ต้องออกจากบ้านไปที่ทำงานอีกแล้ว หลายๆ คนเลือกที่จะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน บางคนหางานอดิเรกทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย เข้าร่วมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุต่างๆ เพื่อไม่ให้เหงา  แต่สำหรับ "พี่จิตร" คุณไพจิตร  นักรำ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อาจไม่ได้ไปทำงานที่เดิม แต่ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ แน่ เพราะวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ปีนี้ จะเป็นวันที่พี่จิตรเริ่มต้นอาชีพใหม่ อาชีพที่วางแผนล่วงหน้ามาเป็นเวลาถึง 20 ปี...

หากใครเคยโทรศัพท์ไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จะได้ยินเสียงตามสายมาว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สวัสดีค่ะ  กรุณากดหมายเลขที่ท่านต้องการติดต่อ  หากไม่ทราบกรุณากด 0 เพื่อติดต่อโอเปอร์เรเตอร์”

ไพจิตร-นักรำ-ราชภัฏอุบล-02.jpg

เสียงนี้เป็นเสียงจากระบบตอบรับอัตโนมัติของเลขหมาย 045-352000 ซึ่งเจ้าของเสียงดังกล่าวปัจจุบันอายุใกล้ครบ 60 ปี และกำหนดเกษียณอายุในอีกไม่กี่วันนี้ ใช่ครับ เสียงของพี่จิตร "ไพจิตร  นักรำ"

คุณไพจิตร นักรำ หรือ “พี่จิตร” เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานอธิการบดี เริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 หรือเมื่อ 40 ปีก่อน สมัยที่ยังเป็น “วิทยาลัยครูอุบลราชธานี” เริ่มงานในการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด ฝ่ายวิจัยและพัฒนา หลังจากจบ ปวช. จากโรงเรียนพาณิชยการอุบลราชธานี ทำหน้าที่พิมพ์งานวิจัย งานวิชาการ รับเงินเดือนเดือนแรก 1,250 บาท ต่อมาอีก 2 ปี ย้ายไปสังกัดศูนย์หนังสือของวิทยาลัยครู ฯ เพื่อพิมพ์เอกสารตำราต่าง ๆ ที่วิทยาลัยครู ฯ จำหน่ายให้นักศึกษา

ปี พ.ศ.2528 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ขาดบุคลากรประจำ จึงได้สับเปลี่ยนไปปฏิบัติงาน ทำหน้าที่ให้บริการติดต่อสอบถามและรับโทรศัพท์ ประสานงานกับส่วนงานต่าง ๆ และหน่วยงานภายนอก รวมทั้งงานอื่น เช่น ประกาศเสียงตามสาย ถ่ายภาพกิจกรรม ปี 2534 ผู้บริหารวิทยาลัยครู ฯ ช่วงนั้นเห็นความสำคัญของบุคลากร ได้ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ได้ศึกษาต่อและพัฒนาความรู้ให้มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น เพื่อสมรรถนะในการทำงานและการพัฒนาตน พี่ไพจิตรจึงได้สมัครเรียนระดับอนุปริญญาภาคเสาร์ – อาทิตย์ ในวิทยาลัยครู ฯ และต่อเนื่องในระดับปริญญาตรี มุมานะพร้อมทำงานไปด้วยในวันธรรมดา ใช้เวลา 4 ปี จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการจัดการทั่วไป ทำงานต่อเนื่องมาจนบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (สายสนับสนุน) ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปในปัจจุบัน

ไพจิตร-นักรำ-ราชภัฏอุบล-03.jpg

ด้วยลักษณะงานที่ทำ ทั้งการพิมพ์งานวิจัย งานวิชาการ พิมพ์เอกสารตำราต่าง ๆ ตลอดจนการทำงานที่งานประชาสัมพันธ์ ที่มีจดหมายข่าวของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ส่งมาให้เผยแพร่เสมอ ทำให้ได้สะสมความรู้ทีละเล็กทีละน้อยอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาวิธีสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต โดยสนใจความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงชวนสามีเริ่มทำไร่นาสวนผสมเมื่อ 20 ปีก่อน ณ บ้านหนองไฮ ตำบลหนองไฮ อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการเลี้ยงปลาและปลูกผักสวนครัวแต่พอกิน

ไพจิตร-นักรำ-ราชภัฏอุบล-04.jpg

ต่อมามีโครงการขุดบ่อของหน่วยงานราชการเพื่อกักเก็บน้ำในการเพาะปลูกให้กับประชาชนและเกษตรกร เมื่อมีบ่อจึงนำปลาดุกมาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน เมื่อมีปลามากขึ้น ก็มีชาวบ้านมาขอซื้อไปทำอาหารหรือจัดงานเลี้ยงงานบุญต่าง ๆ ครอบครัวจึงมีรายได้เพิ่มเติม สามารถเก็บออมได้เพิ่มเพราะชีวิตามชนบทไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมายนัก และค่อย ๆ ซื้อที่ดินเพิ่มเติมทีละน้อยจนมีที่ดินกว่า 20 ไร่

จากการเริ่มต้นทำเพื่อให้พอมีพอกิน นำไปสู่งานประจำที่เป็นหน้าที่อีกหน้าที่หนึ่งในชีวิต จากการเลี้ยงปลาที่เป็นหน้าที่หนึ่งของครอบครัว ทำให้พี่จิตรแนะนำลูกชายคนโตให้เรียนต่อสาขาประมง ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่ที่ตนทำงาน ซึ่งในการเรียนนี้เองทำให้ “ดุ๊ก - อรุณศักดิ์ นักรำ” ลูกชาย ได้มีโอกาสฝีกงานกว่า 4 เดือนในขณะเรียนปริญญาตรี ณ ฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดตราดของเครือบริษัทซีพี

การฝึกงานตรงนี้ทำให้ดุ๊ก ได้ความรู้และประสบการณ์มากมายมาช่วยพี่จิตร โดยเปลี่ยนจากการเลี้ยงปลาดุกเป็นการเพาะพันธุ์ลูกปลาจำหน่ายต่อ สร้างรายได้มากพอเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว ขณะเดียวกัน พี่จิตรนั้นมีความชอบในการทำขนม จึงหาความรู้จากหนังสือต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ฯ และทดลองทำมาเรื่อย จนเมื่อก่อนจะเกษียณอายุราชการสัก 10 ปี พี่จิตรจึงตัดสินใจนำความชอบและทักษะที่มีมาทำร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ ที่บ้าน (อำเภอสำโรง)

ไพจิตร-นักรำ-ราชภัฏอุบล-05.jpg

ขณะที่ลูกสาว “กิ๊ก - ณัฐพร นักรำ” ที่รักและชอบศิลปะ มีความสามารถในการวาดรูป เห็นแม่อยากทำเบเกอรี่ จึงตัดสินใจมาเรียนเพิ่มเติมที่ร้านเบเกอรี่ในตัวเมืองอุบล ฯ ทำให้สามารถทำเบเกอรี่ได้หลายชนิดยิ่งขึ้น ทั้งบราวนี่ คุกกี้ โดนัท ขายที่บ้าน จนลูกค้าบอกกันปากต่อปาก มีลูกค้ามากขึ้นครอบคลุมร้านขนมและร้านกาแฟในพื้นที่อำเภอสำโรงและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ทุก ๆ วัน

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา พี่จิตรจะเดินทางจากบ้านมาทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีแบบไป-กลับ รวมระยะทางในแต่ละวันร่วมร้อยกิโลเมตร เริ่มต้น 40 ปีก่อน จากการโดยสารรถประจำทางอุบล ฯ - กันทรลักษ์ มาเป็นขับรถมอเตอร์ไซค์ และวิริยะอุตสาหะ จนทุกวันนี้มีรถยนต์ส่วนตัวคันเล็ก ๆ ขับมาทำงาน ออกจากบ้านตั้งแต่หกโมงเช้าและกลับถึงบ้านประมาณหกโมงเย็น แวะซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ในการทำเบเกอรี่กลับไป

หากคำว่า “เกษียณ” หมายถึงการสิ้นไป หรือพ้นไป ที่ต้องทำให้คนที่อายุครบ 60 ปี ต้องพ้นจากการทำงานประจำ แต่คำว่าเกษียณอายุนี้ไม่ได้ทำให้พี่จิตรกังวลเลย เพราะความชอบและการตัดสินใจเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสานพอเลี้ยงชีพกับสามีเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ทำให้พี่จิตรรู้สึกว่ายังมีอะไรให้ทำต่ออยู่ในทุก ๆ วัน ชีวิตมีความมั่นคง และที่สำคัญได้อยู่กันพร้อมหน้ากับครอบครัวทั้งสามีและลูก ที่ลูก ๆ ก็ต่างมีครอบครัวและใช้ความรู้กับสิ่งที่พี่จิตรและสามีเริ่มไว้เป็นอาชีพเลี้ยงตน อยู่อย่างเรียบง่าย สานต่อไร่นาสวนผสมเกษตรพอเพียงตามทฤษฎีใหม่ อยู่กับธรรมชาติที่ได้สร้างเอาไว้โดย มีทุกอย่างแล้ว โดยเฉพาะความสุข

ไพจิตร-นักรำ-ราชภัฏอุบล-06.jpg

ตอนท้ายพี่จิตรฝากข้อคิดให้กับคนทำงานภาครัฐที่อาจคิดว่าตนได้รับเงินเดือนน้อยว่า “ขอให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง วางแผนล่วงหน้าโดยเฉพาะวางแผนการใช้จ่าย รู้ประมาณตน รู้กำลังของตนในการใช้จ่าย อย่าตกหลุมพรางความอยากได้โน้นได้นี่ จนสร้างหนี้สินหรือเบียดบังราชการ ให้ความสำคัญและกำลังใจกับครอบครัวและเพื่อนร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ และใช้ชีวิตอย่างพอเพียงจะทำให้เรามีความสุขตลอดไป”

ข่าว : เชษฐ์ ศรีไมตรี/ณัฏฐพัชร์ พันธ์มุก
งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ไพจิตร-นักรำ-ราชภัฏอุบล-07.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511