guideubon

 

ม.อุบลฯ จัดกิจกรรม International Young Startup Contest 2022

YSC-01.jpg

วันที่ 16 มีนาคม 2564 นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการเทคโนธานี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมแถลงข่าวการจัด “กิจกรรม International Young Startup Contest 2022” โครงการร่วมพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ภายใต้กรอบความร่วมมือการดำเนินงานหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลอุบล

กิจกรรมแข่งขันแนวคิดทางธุรกิจระดับนานาชาติ (International Young Startup Contest 2022) เป็นโครงการร่วมพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ภายใต้กรอบความร่วมมือการดำเนินงานหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพ

กิจกรรมนี้ จัดขึ้นโดยวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สร้างเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator Network) ในประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป เน้นกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศในคาบสมุทร และเสริมสร้างประสบการณ์การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้นในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ผ่านกลไกเตรียมความพร้อมเข้าสู่การบ่มเพาะธุรกิจในระยะสั้น

กิจกรรมสำคัญในงาน เป็นกิจกรรมการพัฒนานักศึกษาและบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ และมีการจัดแข่งขันแนวคิดทางธุรกิจระดับนานาชาติ (International Young Startup Contest 2022) ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกอบรมและถ่ายทอดกระบวนการพัฒนานักศึกษาเป็นผู้ประกอบการให้แก่สถาบันเครือข่าย รวมทั้ง เพื่อสร้างเวทีให้บุคลากรของสถาบันเครือข่าย ได้ทดลองปฏิบัติการจริงผ่านกลไกการพัฒนานักศึกษา เพื่อการแข่งขันผู้ประกอบการ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นทั้งหมด 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1: 23-26 เมษายน 2565 กิจกรรมค่ายผู้ประกอบการในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ช่วงที่ 2: 11-14 พฤษภาคม 2565 กิจกรรมค่ายผู้ประกอบการในประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา

ช่วงที่ 3: 1-4 มิถุนายน 2565 กิจกรรมค่ายผู้ประกอบการในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ช่วงที่ 4: 18 มิถุนายน 2565 กิจกรรมคัดเลือกตัวแทนประเทศไทย

ช่วงที่ 5: 9 กรกฎาคม 2565 กิจกรรมการแข่งขันรอบระดับนานาชาติ ณ ประเทศไทย (รอบตัดสิน)

กิจกรรมนี้มีการสนับสนุนงบประมาณ ให้กับสถาบันและทีมจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยสถาบันการศึกษาที่ได้รับเลือก จะได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดกิจกรรมค่ายผู้ประกอบการ จำนวน 1 ครั้ง พร้อมทั้งการสนับสนุนวิทยากรและพี่เลี้ยงจากประเทศไทย โดยทีมนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเป็นทีมตัวแทนประเทศต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการเข้าร่วมการแข่งขันรอบระดับนานาชาติ ณ ประเทศ พร้อมทั้งค่าที่พักและค่าอาหารตลอดระยะเวลาการแข่งขันในประเทศไทย

เงินรางวัลการแข่งขันในรอบนานาชาติ จำนวน 5 รางวัล แบ่งเป็น
รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ

กิจกรรมนี้ นอกจากจะช่วยพัฒนานักศึกษาให้สามารถเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในอนาคตแล้ว กิจกรรมนี้ยังสามารถช่วยเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม และยังช่วยหนุนเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจ เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และสร้างการเรียนรู้ตลาดเชิงลึกของประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีปอีกด้วย โดยกิจกรรมดังกล่าว จะมีการส่งเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของ Startup และนำสู่ตลาดของกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปด้วย

ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511