guideubon

 

ม.อุบลฯ เดินสายติว ม.ปลาย เตรียมความพร้อมเข้ามหา’ลัย สอนทำ e-portfolio

e-Portfolio-02.jpg

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่ให้บริการวิชาการโรงเรียนเครือข่าย สนองนโยบายรัฐ “Thailand 4.0” ให้แก่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนสายชั้น ม. 4/2561 จัดกิจกรรมสู่โลกกว้าง ทางเลือกแห่งอนาคต “ระบบ TCAS และคุณลักษณะอันพึงประสงค์” ภายใต้โครงการบรรยายเชิงปฏิบัติการวิชาการ หัวข้อ “การรับฟังข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2561 และการจัดทำ e-portfolio ให้แก่นักเรียนสายชั้น ม.4 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นางลัดดา จิตรมาศ รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารกิจการนักเรียน โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นประธานเปิดงาน

ธนวัฒน์-คชาธานี-01.jpg

นายธนวัฒน์ คชาธานี ประธานเครือข่ายผู้ปกครองระดับสายชั้น ม.4/2561 กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียน ได้รับฟังข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการ สำหรับนักเรียน และการทำ e-Portfolio ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

วิชชุดา-มงคล-02.jpg

นางวิชชุดา มงคล หัวหน้างานรับเข้าศึกษา กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมทีมวิทยากรงานรับเข้าศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การเตรียมความพร้อมสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง Thai University Central Admission System (TCAS)” เพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ให้แก่นักเรียนที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่อไป

สมปอง-เวฬุวนาธร-01.jpg

ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ นายธวัชชัย สลางสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การจัดทำ e-Portfolio ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน” และผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงศ์ หงส์ภักดี รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “คุณลักษณะอันพึงประสงค์ บุคลิกภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อเตรียมเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยความมั่นใจ ให้แก่นักเรียนระดับสายสายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 691 คน

สืบพงศ์-หงส์ภักดี-01.jpg

ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงศ์ หงส์ภักดี รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่ทางโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชในฐานะศิษย์เก่าเป็นประจำทุกปีด้วย เมื่อวันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมเบญจานุสรณ์ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช

e-Portfolio-03.jpg

ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ยินดีที่ได้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษใน หัวข้อ “การจัดทำ e-Portfolio ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน”เกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชั่นอะไร?ในการสร้าง e-Portfolio เป็นส่วนหนึ่งของการประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี เพื่อสนองนโยบายรัฐ “Thailand 4.0” ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบกลาง (TCAS) เนื่องจาก e-Portfolio เป็นแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดเก็บข้อมูล รูปภาพ ใช้งานง่าย สะดวกในการจัดเก็บ ตลอดจนการจัดการเอกสารต่างๆ สร้างความสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้งาน ไม่ต้องลำบากจัดหาหรือซื้อแฟ้มจัดเก็บเอกสาร การเก็บรักษาที่ยุ่งยากเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย ผู้ตรวจก็สามารถตรวจแฟ้มสะสมผลงานหรือหลักฐานต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้

e-Portfolio-04.jpg

การจัดทำ e-Portfolio ทำได้โดยการดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันประเภท Scanner เช่น Can Scanner, Clear Scanner, Simple Scan, Office Lens เป็นต้น จาก Google Play Store (สำหรับเครื่องสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์) หรือ Apple App Store (สำหรับเครื่องสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการไอโอเอส) ไว้ในเครื่องสมาร์ทโฟน ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวสามารถสร้าง e-Portfolio ได้โดยการถ่ายภาพผลงานผ่านตัวแอปพลิเคชั่นเอง หรือ สามารถนำภาพถ่ายผลงานที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟนมาปรับแต่งให้อยู่ในรูปแบบของ e-Portfolio ได้อย่างง่ายดายเพียงไม่กี่นาที โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่อง Scanner ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถสะสมผลงานไว้ใน e-Portfolio เพื่อนำไปใช้ในการสมัครเรียนในระบบ TCAS ได้ โดยเฉพาะรอบที่ 1 นอกจากนี้ e-Portfolioยังสามารถออกแบบให้สวยงาม และน่าสนใจได้ไม่ยากไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่สามารถช่วยในการออกแบบ ทั้งในสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส เช่น PicsArt, Snapseed, Adobe Photoshop เป็นต้น นักเรียนสามารถดาวน์และติดตั้งมาใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้เลยเช่นกัน

ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว