guideubon

 

อัสสัมชัญอุบลฯ คว้ารองแชมป์ การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศ

TPA-Robot-ACU-08.jpg

วันที่ 1 มิถุนายน 2565 โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 (TPA ROBOT) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ MCC Hall เดอะมอลล์บางกะปิ  กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565 จัดโดย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)

นายมีชัย พิจารณ์ (อาจารย์พิเศษ) โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี นำนักเรียนระดับชั้น ม.3 ได้แก่ ด.ช.รุจฒ์ธิศักดิ์ พิจารณ์ และ ด.ช.วรชิต พุทธวอร์ เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปีการ 2565 ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 200 ทีมทั่วประเทศ และคัดเข้ารอบจำนวน 46 ทีมเพื่อไปร่วมแข่งขันในรอบสุดท้าย

ผลการแข่งขันปรากฏว่า โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.-สพฐ.ยุวชน ประเภทเกม Rescue Line ชื่อทีมโรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี ได้รับถ้วยทองเกียรติยศ, เหรียญรางวัลเหรียญเงิน, เงินรางวัล 10,000 บาท และได้รับสิทธิ์การเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์โลก Robocup 2022 ในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับต่างประเทศทั่วโลก

TPA-Robot-ACU-02.jpg

ด.ช.รุจฒ์ธิศักดิ์  พิจารณ์ นักเรียนชั้น ม.3/1 ห้อง GP (Gifted) ให้สัมภาษณ์กับไกด์อุบลว่า ตนชื่นชอบเกี่ยวกับหุ่นยนต์เป็นพิเศษ เนื่องจากคุณพ่อเปิดศูนย์หุ่นยนต์ Ubon TP Robotics ที่ อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี เริ่มเข้าแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งแรกตั้งแต่อยู่ชั้น ป.5 สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ติดตามทางเวปเพจของ สสท. ตลอด จนเห็นประกาศรับสมัครทีมเพื่อเข้าร่วมสอบแข่งขัน Online โรงเรียนละ 1 ทีม โดยมีทั้งหมด 200 ทีมทั่วประเทศ และคัดเหลือเข้ารอบจำนวน46 ทีมเพื่อไปร่วมแข่งขันในรอบสุดท้าย

กติกาการแข่งขัน หุ่นยนต์จะต้องเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีคะแนนให้เป็นจุด ๆ เช่น การผ่านอุปสรรค การเข้าไปในพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย การปล่อยถุงยังชีพ และการเคลื่อนที่ออกจากจุดอพยพไปยังจุดรายงานตัว เป็นต้น ทีมใดมีคะแนนมากสุด 4 ทีม ถึงจะได้เข้าไปรอบชิงชนะเลิศ

สำหรับหุ่นยนต์อัสสัมชัญอุบลราชธานี ได้รับการออกแบบให้สามารถทำภารกิจตามกติกาเบื้องต้น เช่น เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่กำหนด เมื่อเจออุปสรรคจะหลบสิ่งกีดขวาง เข้าไปในพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และค้นหาเพื่อช่วยขนย้ายไปยังจุดอพยพจำนวน 3 จุด และออกไปยังจุดรายงานตัว จนและเพื่อนช่วยกันเขียนโปรแกรมเพื่อทดสอบกับสนามซ้อม และปรับปรุงในบางชุด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเจอสนามจริงต่อไป

TPA-Robot-ACU-03.jpg

ทางด้าน ด.ช.วรชิต  พุทธวอร์ นักเรียนชั้น ม.3/1 ห้อง GP (Gifted) เช่นเดียวกัน กล่าวกับไกด์อุบลว่า ตนชอบวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ชอบพิเศษคือหุ่นยนต์ เพราะคิดว่านำไปต่อยอดการทำงานในอนาคตได้ สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ เราได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 แพ้ทีมที่ชนะแค่ 5 คะแนนเท่านั้น

ในรอบชิงชนะเลิศ ทีมเราแพ้ประสบการณ์ จากทีมพี่ ม.6 ซึ่งเขาเคยไปแข่งขันในระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว ทีมเขามีการเตรียมความพร้อมที่ดีกว่า และในวันรอบชิงชนะเลิศแบตเตอรี่เริ่มอ่อน เลยทำให้รีไทน์หลายรอบ  เราพยามกันอย่างเต็มที่แล้ว จะนำการแข่งขันครั้งนี้ไปเป็นประสบการณ์ต่อไป ซึ่งทีมได้สิทธิไปแข่งขันรายการหุ่นยนต์โลก Robocup 2022 ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ หลังจากนี้ จะต้องศึกษากติการะดับโลกที่เป็นภาษาอังกฤษให้ดี และดูคลิปวิดิโอเก่า ๆ ที่เคยไปแข่งขัน และออกแบบหุ่นยนต์ใหม่ซึ่งจะเป็นแบบอัตโนมัติ  มีการใช้กล้องและ AI มาช่วยในการทำภารกิจ ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม

สำหรับผู้ที่สนใจ อยากให้ลูกหลานได้เรียนหุ่นยนต์บ้าง นายมีชัย พิจารณ์ (อาจารย์พิเศษ) โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี กล่าวว่า ทางโรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี มีหลักสูตรในวิชา Robotic ม.1-ม.3  ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ตามขั้นตอนจากง่ายไปยาก พื้นฐานสู่การประยุกต์ใช้กล้องและ AI โดยโรงเรียนจะเชิญอาจารย์พิเศษผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ และจบวิศวฯ มาช่วยติวและสอนนักเรียน ซึ่งนักเรียนทั้ง 2 คนนี้ก็เป็นนักเรียนทุนความสามารถพิเศษ ที่โรงเรียนได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมมาโดยตลอด ผู้ปกครองท่านใดสนใจ สามารถติดต่อสอบถามกับฝ่ายวิชาการ โรงเรียนอัสสัมชัญได้ตลอดเวลาทำการ

TPA-Robot-ACU-04.jpg

TPA-Robot-ACU-05.jpg

TPA-Robot-ACU-06.jpg

TPA-Robot-ACU-07.jpg