guideubon

 

ผวจ.อุบลฯ มั่นใจ ปีนี้อาจจะรอดไม่เกิดน้ำท่วมชุมชน

ปีนี้รอด-น้ำท่วมอุบล-01.jpg

วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ศูนย์ประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ (JIC) สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2  รายงานสถานการณ์น้ำ โขง ชี มูลในพื้นที่ 9 จังหวัดอีสานตอนล่าง ดังนี้

แม่น้ำโขง

- จังหวัดนครพนม ระดับน้ำโขง  10.77 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ (วันที่ 30 สิงหาคม 2567) 17 เซนติเมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.23 เมตร (ระดับตลิ่ง 13.00 เมตร) 
-จังหวัดมุกดาหาร ระดับน้ำโขง 9.94 ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้  8 ซม.  ต่ำกว่าระดับวิฤต  2.56 ม. (ระดับวิกฤต12.50  ม.)
-จังหวัดอำนาจเจริญ จุดวัดระดับน้ำที่อำเภอชานุมาณ ระดับน้ำโขง 6.70 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 10 ซม. ต่ำกว่า ตลิ่ง 6.30 เมตร (ระดับตลิ่ง 12 เมตร)
- จังหวัดอุบลราชธานี จุดวัดระดับน้ำที่อำเภอโขงเจียม  ระดับน้ำลดลง 1 ซม. ต่ำกว่าตลิ่ง 3.72 เมตร

แม่น้ำชี

- จังหวัดร้อยเอ็ด จุดวัดระดับน้ำที่อำเภอจังหาร ระดับน้ำลดลงจากเมื่อวานนี้  27 ซม. ต่ำกว่าตลิ่ง 5.56 เมตร
- จังหวัดยโสธร จุดวัดที่อำเภอเมืองยโสธร ระดับน้ำลดลงจากเมื่อวานนี้ 31 ซม. ต่ำกว่าตลิ่ง 4.15 เมตร

แม่น้ำมูล

- จังหวัดศรีสะเกษ จุดวัดระดับน้ำที่อำเภอราษีไศล ท้ายเขื่อนราษีไศล) ระดับน้ำ 2.16 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 10 เซนติเมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 9.68 เมตร (ระดับตลิ่ง 11.84 เมตร)
- จังหวัดศรีสะเกษ จุดวัดระดับน้ำที่อ.กันทรารมย์ (เหนือเขื่อนหัวนา) ระดับน้ำ4.14 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 7 เซนติเมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.46 เมตร (ระดับตลิ่ง 10.5 เมตร)
- จังหวัดอุบลราชธานี จุดวัดระดับน้ำ M7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำ 3.01เมตร ลดลงจากเมื่อวานนี้ 11 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.99 เมตร (ระดับตลิ่ง 7 เมตร)

ปีนี้รอด-น้ำท่วมอุบล-02.jpg

สถานการณ์น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม วันนี้ (31 สิงหาคม 2567) ระดับน้ำโขง เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 17 เซนติเมตร แต่ยังต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.23 เมตร มีรายงานว่าเทศบาลเมืองนครพนม ได้ปักธงเหลืองบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อเตือนให้ประชาชนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาดท่อ 12 นิ้ว จำนวน 14 เครื่อง หากเกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองนครพนมก็พร้อมสูบน้ำลงในแม่น้ำโขงทันที

ด้านนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ได้มีหนังสือสั่งการ “ด่วนที่สุด“ ไปยังนายอำเภอและส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนและผู้ที่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำโขงให้ทราบและเตรียมความพร้อมจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 6 อำเภอ ทั้งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ได้แก่ อ.เมืองนครพนม อ.ท่าอุเทน อ.ธาตุพนม อ.บ้านแพง อ.เรณูนคร และ อ.ศรีสงคราม ให้ระมัดระวังในเรื่องที่อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยง พื้นที่ทางการเกษตรด้วย โดยขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมกำลังพล และเครื่องมือ เครื่องจักรกล เพื่อให้สามารถในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง” 

มีรายงานว่า จังหวัดนครพนม ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผุ้ประสบสาธารณภัยกรณีฉุกเฉิน อุทกภัยในพื้นที่อำเภอศรีสงคราม เป็นอำเภอแรกแล้ว จำนวน 9 ตำบล 38 หมู่บ้าน

นายชัยรัตน์ ศรีโนนทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ภาค 3 กล่าวว่า สถานการณ์น้ำโขงตั้งแต่ด้านจังหวัดเลย บึงกาฬ หนองคาย และจังหวัดนครพนม ขณะนี้มวลน้ำสะสมจากพื้นที่ตอนบนกำลังไหลลงสู่จังหวัดบึงกาฬ ทำให้ระดับน้ำในพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 เซนติเมตร เมื่อมวลน้ำดังกล่าวไหลลงมาถึงจังหวัดนครพนม คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากระดับน้ำในตอนบนเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว และยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับวิกฤติ อีกทั้งคาดว่าระดับน้ำในนครพนมจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 40 เซนติเมตร 

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน หรือ ต้องการความช่วยเหลือ ขอให้แจ้งขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” สายด่วนนิรภัย 1784 หรือโทรแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือที่สายด่วน ศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง

ปีนี้รอด-น้ำท่วมอุบล-03.jpg

ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำมูลและน้ำชีจากตอนกลางของภาคอีสาน ก่อนแม่น้ำมูลจะไหล่ลงสู่แม่น้ำโขง นายศุภศิษย์  กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล เพื่อประเมินสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำซึ่งอาจมีผลกระทบภาวะน้ำท่วมในพื้นทีี

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำโขงที่ท่าน้ำวัดโขงเจียม อำเภอโขงเจียม ที่เป็นจุดบรรจบแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูล (แม่น้ำสองสี) ในด้านแม่น้ำโขงยังไหลระบายได้แรงและในสายแม่น้ำมูลก็ยังไหลระบายได้ดี  

ส่วนระดับน้ำที่เขื่อนปากมูล พบว่าแม่น้ำมูลที่หน้าเขื่อนและท้ายเขื่อนอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ส่วนพื้นที่ริมฝั่งน้ำเหนือเขื่อนปากมูลยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมากและน้ำในลำน้ำมูลยังไหลระบายผ่านเขื่อนปากมูลได้เป็นปกติ

ปีนี้รอด-น้ำท่วมอุบล-04.jpg

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำเพื่อการป้องกันอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้มีการพร่องน้ำเปิดบานประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูลไว้ตั้งแต่ต้นฤดูฝนคือเริ่มแขวนบานตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2567 และการพร่องน้ำจากเขื่อนที่อยู่ตอนบนจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นไปไม่ว่าจะเป็นเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล เขื่อนยโสธร เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ รวมถึงเขื่อนกั้นลำน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้พร่องน้ำเป็นแนวทางเดียวกันมาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล จึงเป็นผลให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของลุ่มน้ำมูลลุ่มน้ำชีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

“ขอให้หน่วยงานส่วนราชการและพี่น้องประชาชน ได้เฝ้าติดตามการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากเกิดกรณีมีพายุเข้าในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ตอนเหนือจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นไป ถ้าหากไม่รุนแรงจนเกินไป สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีคงไม่รุนแรงหรืออาจจะไม่มีผลกระทบ” นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.อุบลราชธานี กล่าวในที่สุด
*******************
ที่มา ศูนย์ JIC สปข.2 

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511