guideubon

 

 

สถาบันพระปกเกล้าถกชะตาท่วมช้าซาก วัดดวงอุบลฯ ไม่รอด!

วัดดวงอุบล-ไม่รอด-01.jpg

หนังสือพิมพ์ปทุมมาลัย ปีที่ 45 ฉบับที่ 523 ประจำวันที่ 1-31 สิงหาคม 2567 พาดหัวข่าวใหญ่ สถาบันพระปกเกล้าถกชะตาท่วมช้าซาก วัดดวงอุบลฯ ไม่รอด! ชัชวาลย์ยังหวังฝีมือกรมชลฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมบุษยรัตน์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาโครงการ "แก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอุบลราชธานีอย่างยั่งยืน" ภายใต้หัวข้อ "น้ำท่วมเมืองอุบล ใครจะเป็นคนแก้ไข /ถนนยกระดับเชื่อมอำเภอเมือง-อำเภอวารินชำราบใช้สัญจรช่วงน้ำท่วม : ความฝันหรือความเป็นจริงของคนอุบลราชธานี? " โดยมี ดร.จิตรกร โพธิ์งาม รองประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวรายงาน มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ,นายบุญเลิศ แสงระวี ผู้ช่วยหัวหน้ากองโรงไฟฟ้า เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ,นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชลประทานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ,ผศ.ดร.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ,นายวันปียะ ภุมมะภูติ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 จ.อุบลราชธานี ,นายวินัย รัชบุตร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 2 จ.อุบลราชธานี ดำเนินรายการโดยนายนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข จัดโดยศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จ.อุบลราชธานี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเครือข่าย

วัดดวงอุบล-ไม่รอด-02.jpg

นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ออกตัวไม่ฟันธงว่าจะรอดหรือไม่รอด แต่โอกาสท่วมก็มีสูง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนของภาคอีสาน โดยนำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์ว่า ลุ่มน้ำมูลกับลุ่มน้ำชี รวมกันราว 120,000 ตารางกิโลเมตร เก็บกักน้ำได้ราว 1 แสนตารางกิโลเมตร ส่วนอีก 2 หมื่นตารางกิโลเมตรไหลลงแม่น้ำโขง ผ่านจ.อุบลฯ ซึ่งความกว้างของแม่น้ำมูลที่สถานี M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย มีความกว้างรับน้ำได้ 2,300 ลูกบาศก็เมตร/วินาที แต่สถานการณ์เมื่อปี 65 มวลน้ำไหลมา 5,745 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เกินกำลังที่จะรับได้จึงเกิดน้ำท่วมใหญ่ พร้อมได้ยกกรณีศึกษาเทียบกับปี 2562 เราโดนพายุหลายลูก แต่ปี 2565 โดนลูกเดียว แต่มีร่องมรสุมเข้ามาสำทับเยอะมากทำให้ฝนตกหนัก ส่วนปีนี้เกิดปรากฏการณ์ลานีญาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ฝนมากผนวกกับเกิดปรากฏการณ์ไคลแมชเชงค์ (Climate Change) การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแปรปรวนจึงคาดเดาได้ยาก

นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรมชลประทานไม่มีเขื่อนกลางน้ำมูล มีเพียงอาคารระบายน้ำ 2 แห่งคือ เขื่อนราษีไศล และเขื่อนฝายหัวนา ส่วนเขื่อนปากมูลที่อยู่ปลายน้ำเป็นของ กฟผ. ซึ่งได้เปิดบานประตูสุดบานตั้งแต่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อพร่องน้ำ ส่วนกรณีเขื่อนมหาสารคาม และเขื่อนเชียงคำแตกนายเศรษฐพงศ์ภิงคารวัฒน์ ให้ความเห็นว่าไม่มีผลกับ จ.อุบลฯ เพราะปริมาณน้ำเขื่อนเชียงคำ จูน้ำเพียง 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงลำเสียวใหญ่ก่อนจะลงแม่น้ำมูลที่ จ.สุรินทร์ ระยะทางกว่า 300 ก.ม. ซึ่งส่วนใหญ่น้ำจะกระจายไปตามไหล่ทุ่งและพื้นที่แก้มลิง

ส่วน ผศ.คร.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ ได้ตั้งข้อสังเกตให้ดูสภาพการณ์ธรรมชาติย้อนหลัง 10 ปี รอวัดใจธรรมชาติการตกของฝนในภาคอีสาน ซึ่งแต่ละปีจะมีพฤติกรรมน้องฝนแตกต่างกันไป แต่ถ้าตกเหมือนปัจจุบันนี้ ตนเชื่อว่าพร่องน้ำได้ทัน อุบลฯ ก็มีโอกาสรอด แต่ด้วยสภาพอากาศที่วิกฤติเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงคาดเดาได้ยาก แต่จากสถิติที่ผ่านมาเชื่อว่าปีนี้อุบลฯ รอดยาก

วัดดวงอุบล-ไม่รอด-03.jpg

ในครั้งนี้นายนพภา พันธุ์เพ็ง ได้อ้างอิงข้อมูลจากนักวิชาการค้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ศึกษาสภาพอากาศในภูมิภาคอีสานมากว่า 10 ปี ระบุว่าสภาพอากาศภาคอีสานแปรปรวนเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วมากเกิดไคลแมชเชงค์ (Climate Change) ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ฝนตกแช่ ซึ่งเดิมร่องมรสุมดังกล่าวจะพัดผ่านไปตกภาคใต้แต่ระยะ 2-3 ปีมานี้ แรงดันมรสุมไปไม่ถึง จึงวนเวียนในพื้นที่ภาคอีสาน และประเทศลาว เมื่อประมวลสถานการณ์แล้ว ฟันธงได้เลยว่าปีนี้อุบลฯ ไม่รอด ส่วนจะหนักเท่าปี 62 หรือไม่ยังคาดเดาไม่ได้

ด้านนายนิกร วีสเพ็ญ ประธานมูลนิธิเจ้าคำผง ผู้สร้างเมืองอุบลราชธานี แสดงความวิตกกังวลกรณีที่ประเทศลาวจะมีการสร้างเขื่อนภูงอย กั้นลำน้ำน้ำโขงที่นครปากเซ แขวงจำปาสัก จะส่งผลให้น้ำโขงเท้อเข้ามาดันน้ำมูล แก่งตะนะจมหาย กระทบการระบายน้ำมูลแน่นอน ตนหวั่นว่าต่อไปน้ำจะท่วมเมืองอุบลฯ สูงและนานขึ้น พร้อมเรียกร้องอยากเห็นนักการเมืองมานั่งฟังปัญหาในเวทีลักษณะนี้ด้วย

ในขณะที่ ผศ.สุเชาว์ มีหนองหว้า ในฐานะผู้ร่วมจัดงานยืนยันว่า ทางเจ้าภาพเชิญไปแล้วแต่ไม่มีใครมา พร้อมได้ติงระบบการทำงานของรัฐว่าเรื่องนี้ไม่มีคาต้าเบส ไม่มีฐานข้อมูล วอร์รูม พร้อมแสดงอาการท้อว่าคณะทำงานเวทีเสวนาเหนื่อย จัดแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น นักการเมืองก็ไม่เคยมาฟัง

ด้านนายธนวัฒน์ ไพศาลเจริญโชติ นายก อบต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าตนในฐานะกรรมการลุ่มน้ำมูล-ชี ที่มีจังหวัดที่อยู่ลุ่มน้ำมูล-ชี ตั้งแต่ จ.อุบลฯ ถึง จ.นครราชสีมา เป็นคณะกรรมการ พบว่าปัญหาน้ำท่วมส่วนหนึ่งมาจากมีการบุกรุกพื้นที่แก้มลิงมาก พร้อมเสนอให้มีการชุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขินเพื่อเก็บน้ำได้มากขึ้นจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ระดับหนึ่ง

นางสาวอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ประธานเครือข่ายบ้านมั่นคง จ.อุบลฯ ได้สะท้อนว่าข้อมูลทางราชการล่าช้าไม่แม่นยำ ทำงานไม่บูรณากาการกันส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเสียหายมาก อีกทั้งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในคณะทำงานทุกระดับ ส่วนคำครหาที่มักพูดว่าชาวบ้านรอถุงยังชีพ เป็นคำถากถางที่คนเดือดร้อนไม่สบายใจ ไม่มีใครอยากประสบชะตากรรม ไม่มีใครอยากย้ายออกจากบ้าน แต่ต้องทนอยู่ ตนอยากให้คนที่มีความคิดแบบนี้มาอยู่ในสภาพแบบนี้บ้าง

วัดดวงอุบล-ไม่รอด-06.jpg

ในครั้งนี้ วงเสวนาได้มีการหยิบยกการแก้ปัญหา โดยการผันน้ำหน้าแก่งสะพือลงหน้าเขื่อนปากมูลระยะทาง 9 กม. ซึ่งแหล่งข่าวในวงเสวนาระบุว่า เรื่องนี้สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำลังศึกษาอยู่ ทั้งนี้ แก่งสะพือเปรียบเสมือนฝ่ายธรรมชาติ ระหว่างสถานีวัดน้ำ M7 กับหน้าแก่งสะพือ พบว่าในสถานการณ์น้ำท่วมเมืองอุบลฯ-ศรีสะเกษ แต่ท้ายแก่งสะพือไปถึงเขื่อนปากมูล ระดับน้ำต่างกันถึง 7-10 เมตร ส่วนโครงการโปรเจคยักษ์มูลค่า 4.5 หมื่นล้านของกรมชลประทานที่จะสร้างคลองผันน้ำมูลลงโขงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอุบลฯ ยั่งยืน ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีกระแสต่อต้านจากผู้ได้รับผลกระทบอยู่

วัดดวงอุบล-ไม่รอด-04.jpg

ต่อเนื่องกับประเด็นเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงาน เวลา 13.00 น.วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี(หลังเก่า) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รายการเวทีฟังเสียงประเทศไทย Thai PBS ได้บันทึกเทปรายการประเด็น "เตรียมรับมือภัยพิบัติลุ่มน้ำมูล จ.อุบลราชธานี" โดยมีผู้ร่วมรายการประกอบด้วย นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ,รศ.คร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ,นางบุญทัน เพ็งธรรม ประธานอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ(อชปภ.) พร้อมทั้งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม หอการค้าจ.อุบลราชธานี เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำมูลที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ร่วมบันทึกเทปรายการ โดยมีนายกมล หอมกลิ่น ดำเนินรายการ

วัดดวงอุบล-ไม่รอด-05.jpg

ในครั้งนี้ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นยันว่าสถานการณ์ปีนี้ต้องรอวัดใจพายุระหว่างปลายเดือนสิงหาคม-กันยายน หากมาไม่ถี่มากมีโอกาสรอด เพราะจากสภาพปัจจุบันพื้นที่ท้ายน้ำยังมีศักยภาพในการระบายได้ดี แต่ถึงท่วมก็ไม่หนักพร้อมชี้แจงว่า เป็นครั้งแรกที่จังหวัดในลุ่มน้ำมูลตั้งแต่ต้นน้ำคือนครราชสีมาถึงปลายน้ำ จ.อุบลฯ และลุ่มน้ำชี ใช้แผนบูรณาการผ่านกระบวนจัดการบริหารน้ำของกรมชลประทานในการกักน้ำต้นทางไว้พร่องน้ำเพื่อจัดการจราจรทางน้ำมีประสิทธิภาพเป็นการกระจายความเสี่ยงและรับภาระร่วมกัน ทั้งนี้ จังหวัดต้นน้ำจะกักน้ำไม่ปล่อยให้มาท่วมพื้นที่ท้ายน้ำเหมือนเช่นทุกปี เห็นได้ชัดฝนตกหนักทางอีสานเหนืออีสานกลางน้ำท่วมอีสานตอนบนแต่จ.อุบลฯ ยังไม่ท่วม

"ผมเชื่อว่าจากผลการบริหารน้ำทั้งลุ่มน้ำในจังหวัดลุ่มน้ำมูล-ชี แบบบบูรณาการของกรมชลประทาน ซึ่งใช้เป็นปีแรก จ.อุบลฯ มีโอกาสรอด แต่ถึงแม้ไม่รอดแต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบหนัก" นายชัชวาลย์ กล่าวพร้อมสำทับว่า ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เมื่อการทำงานทุกฝ้ายมีประสิทธิภาพตนเชื่อว่าอุบลฯ ก็ไม่ต้องวิตกกับภัยพิบัติ

ส่วน ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดื่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมกระทบถึงลูกหลานใช้ชีวิตไม่ปกติสูญเสียโอกาสหลายด้าน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง ส่วนม.อุบลฯ จะมีบทบาทในการฟื้นฟูผู้ประสบภัยโดยจะใช้หลักวิชาการที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเรามีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย กำลังนักศึกษาจิตอาสาเข้าไปสนับสนุน

ขณะที่นางบุญทัน เพ็งธรรม ประธานอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ (อชปภ.) เล่าจากประสบการณ์ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำให้ได้มากขึ้น ขณะนี้มีการดีดบ้าน(ยกบ้านสูง) ต่อเรือต่อแพรับมือโดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกเงา เพราะไม่อยากอพยพย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน โจรก็ชุกชุมซ้ำเติมเข้าไปอีก และได้สะท้อนระบบการแจ้งเตือนภัย ระบบการสื่อสารของภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพไม่มีเอกภาพ อยากให้มีศูนย์ข่าวหลักเพียงแหล่งเดียว ผลกระทบส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าของข่าวสารทางราชการ นอกจากนั้น ยังให้ความเห็นว่าปัญหาไม่ได้รับการสะสางอย่างต่อเนื่องเพราะผู้ว่าฯ เปลี่ยนทุกปีไม่ย้ายก็เกษียณ สอดคล้องกับความเห็นของนายนพภา พันธุ์เพ็ง ที่ระบุชาวบ้านต้องฝึกช่วยเหลือตัวเองพึ่งพาตนเองให้มากอย่าหวังพึ่งพาเพียงระบบราชการ

ในตอนหนึ่งนายชัชวาลย์เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ย้ำระบบราชการมีแผนการทำงานไม่มั่วรวมถึงทุกอปท.มีระบบบริหารจัดการน้ำ มีกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้วถ้าไม่ทำถือว่าผิด ขอให้แยกประเด็นระหว่างการบริหารจัดการน้ำ กับการบริหารจัดการภัยพิบัติ ถ้าไม่แยกแยะราชการก็จะตกเป็นจำเลยสังคมอยู่ร่ำไป ตนเชื่อมั่นว่าการทำงานแบบบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม อปท.ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน มีความเชื่อใจกัน จะผ่านพ้นวิกฤติภัยพิบัติไปได้ และในสภาวะเฉพาะหน้าขณะนี้ตนยังเชื่อมั่นว่าระบบการบริหารจัดน้ำของกรมชลประทานจะเอาอยู่

ติดตามอ่าน หนังสือพิมพ์ปทุมมาลัย ฉบับตีพิมพ์ ตามแผงหนังสือในเขตเทศบาลนครอุบลฯ และหน่วยงานราชการบางแห่ง หรือตอบสมัครสมาชิกรายปีๆ ละ 300 บาท (รวมค่าส่ง)
สอบถามโทร. 085-0164223
085-0234663 หรือ 089-7177721

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511