guideubon

 

กู้ภัยหัวใจหล่อ...ว่าที่ครูหนุ่ม นศ.ครุศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-01.jpg

ในค่ำคืนที่ฝนตกกับอากาศเย็นสบาย หลายคนนอนหลับพักผ่อนใต้ผ้าห่มบนที่นอนนุ่ม ๆ อบอุ่นสบาย กับการเล่นโทรศัพท์มือถือ ท่องอินเทอร์เน็ต เล่นเกม ดูซีรีย์ ดูหนัง ดูละคร แต่ยังมีเยาวชนจิตอาสาที่ใช้เวลาว่างอุทิศตนช่วยเหลือสังคม มุ่งทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ด้วยการเป็น “อาสาสมัครกู้ภัย” งานที่หลายคนได้ยินก็อาจส่ายหน้าหนี เพราะนอกจากจะเสี่ยงอันตรายแล้ว ยังต้องพบเจอกับภาพที่ชวนให้รู้สึกไม่สบายใจอีกด้วย ทว่าสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถขวางกั้นความมุ่งมั่นตั้งใจของว่าที่ครูคนนี้ได้เลย อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำงานแบบนี้? เขาทำไปเพื่ออะไร?

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-02.jpg

นายณัฐพล คำใบ หรือ “อั๋น” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เด็กหนุ่มที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็น “ครู” เพราะสำหรับเขาแล้ว ครูเป็นอาชีพชั้นสูง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อั๋นอยากเป็นครูที่ดี สอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดี ดังคติประจำใจ “ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน” แต่อีกมุมของชีวิตก็หลงใหลในงาน “อาสาสมัครกู้ภัย” เป็นอย่างมาก

“อั๋น” เล่าว่า ครอบครัวผมมีพี่น้อง 3 คน ผมเป็นน้องเล็กคนสุดท้อง ปัจจุบันอยู่กับแม่ 2 คน เพราะพ่อเสียชีวิตแล้ว ส่วนพี่ชายสองคนก็ไปทำงานต่างจังหวัดนาน ๆ ได้เจอกันที ผมมีความใฝ่ฝันก็ยังอยากที่จะเป็น “ครู” จึงเลือกมาเรียนที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยส่วนตัวมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยใกล้บ้านที่ดี มีมาตรฐาน ผมไม่อยากไปเรียนที่ไกล ๆ เพราะเป็นห่วงแม่ และที่สำคัญผมมีเชื่อมั่นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นวิทยาลัยครู เป็นที่ที่ผลิตครูที่มีคุณภาพออกสู่สังคมมาแล้วมากมาย จึงตัดสินใจเลือกที่จะมาเรียนที่นี่ครับ

หลังจากที่พ่อเสียชีวิต ครอบครัวก็เหมือนขาดเสาหลัก ผมจึงอยากแบ่งเบาภาระของครอบครัว เลยไปสมัครเป็นพนักงานขับรถส่งอาหาร (Grab Food) หาเงินส่งตัวเองเรียน แม้ว่าจะทำอะไรหลายอย่าง และแม้ว่าจะเหนื่อยทั้งจากการเรียน การฝึกสอน การทำงาน และงานอาสาสมัครกู้ภัย แต่นั่นไม่ได้ทำให้เสียการเรียนเลย หากเราสร้างวินัยการใช้ชีวิตให้ตัวเอง รู้จักแบ่งเวลา ตอนนี้ผลการเรียนก็ 3.44 นะ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีครับ (พูดพร้อมหัวเราะ)

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-03.jpg

ผมแบ่งเวลาแบบนี้ครับ ตอนกลางวัน ผมยึดการเรียน การฝึกสอน และการทำงานส่งอาจารย์เป็นหลักครับ แต่ถ้ามีคาบเรียนที่ว่างต่อ ๆ กัน หรือวันไหนไม่มีเรียน ถ้ามีออเดอร์เข้ามาผมก็จะรับงานส่งอาหาร ถ้าไม่มีออเดอร์สั่งอาหาร หากมีเหตุเกิดขึ้นผมก็จะไปช่วยงานอาสาสมัครกู้ภัยของมูลนิธิศิษย์พระอรหันจี้กงทันทีที่มีเวลาว่างครับ และช่วงเวลาหลังเลิกเรียน วันหยุด หรือช่วงปิดเทอม ผมก็จะแบ่งเวลาง่ายขึ้นหน่อยครับ แต่ถ้าช่วงใกล้สอบผมจะเพลา ๆ รับงานก่อนครับ จะใช้เวลาในการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ถ้าจะถามว่าแล้วผมเอาเวลาที่ไหนอ่านหนังสือทบทวนวิชาเรียนต่าง ๆ ผมใช้เวลาในช่วงที่รอออเดอร์หรือรอวิทยุแจ้งเหตุครับ ถึงจะอ่านน้อยแต่อ่านนะ (หัวเราะ)

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-04.jpg

สำหรับผม การทำงานด้วยเรียนไปด้วยทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมาย นอกเหนือจากในห้องเรียน ที่สำคัญได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริง ผมเชื่อว่าคนเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างไปพร้อม ๆ กันให้ดีได้ เพื่อสร้างความภูมิใจให้ตนเองและครอบครัว รวมทั้งการเป็นแบบอย่างที่ดีได้อีกด้วย เวลาที่ผมรู้สึกเครียด ไม่สบายใจ เหนื่อยล้าหรือท้อแท้ ผมก็จะมีฟังเพลงบ้าง ร้องเพลงบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาได้ตลอด คือ “โทรศัพท์หาแม่” เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้แม่ฟัง ทุกครั้งที่ได้คุยกับแม่ ผมก็จะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นเองอัตโนมัติและพร้อมกับมาสู้ต่อ ผมทำอะไรหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน เพราะผมอยากใช้ชีวิตให้คุ้มค่า อยากใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ ซึ่งถ้าทุกคนเห็นรถจักรยานยนต์ที่มีกล่องใส่อาหารสีเขียว ๆ อยู่ด้านหลังเบาะอยู่ในที่เกิดเหตุ และเห็นผู้ชายใส่ชุดพนักงานขับรถส่งอาหารที่กำลังช่วยผู้ประสบภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยคนอื่น ๆ ไม่ต้องแปลกใจไปนะครับ นั่นผมเองครับ (ยิ้ม)

อั๋นเล่าย้อนกลับไปในอดีตว่า ชีวิตวัยเด็กผมเคยเกเรมาก่อน ทั้งถูกด่า ถูกว่า ถูกดูถูกต่าง ๆ นานา จากเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายครั้งที่ผมทำให้แม่ต้องเสียน้ำตา พอมาวันหนึ่งเราโตขึ้นความคิดก็เปลี่ยน อยากทำให้แม่ภูมิใจ อยากพิสูจน์ตัวเองให้แม่ได้เห็นว่าเราก็ทำได้ อยากเป็นที่ยอมรับของครอบครัวและคนรอบข้าง และด้วยความตั้งใจที่อยากจะช่วยเหลือคน ช่วยเหลือสังคม ผมจึงเลือกที่จะทำงาน “อาสาสมัครกู้ภัย” เพราะว่าเป็นงานที่มีความตื่นเต้น ท้าทาย น่าสนใจ เป็นงานที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นตามที่เราตั้งใจเอาไว้

ผมเริ่มต้นทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ภัย ตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนกุดชุมวิทยาคม โดยเริ่มจากการทำหน้าที่รับแจ้งเหตุทางวิทยุสื่อสารที่ศูนย์ประสานงานกู้ภัย ฮุก 31 จังหวัดยโสธร แรก ๆ แม่เป็นห่วงผมมาก ทั้งกลัวว่าต้องเสี่ยงอันตราย ทั้งกลัวว่าจะพักผ่อนไม่เพียงพอ แล้วจะทำให้ง่วงนอนตอนไปเรียนหนังสือ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ทำงานจนดึกมากนัก และเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ ฯ ก็เป็นญาติ ๆ เป็นเพื่อนบ้านรู้จักกันหมด ซึ่งพอนานวันเข้าแม่เห็นผมทำงานได้ ไม่เสียสุขภาพ และที่สำคัญไม่เสียการเรียน แม่ก็สบายใจขึ้น ผมได้เรียนรู้การทำงานต่าง ๆ ของอาสาสมัครกู้ภัยรุ่นพี่เรื่อย ๆ ซึ่งพวกพี่ก็คอยช่วยกันสอนงานผม ผมได้รับการฝึกอบรมการกู้ภัยและการกู้ชีพมาอย่างต่อเนื่อง แล้วขยับจากเรียนทฤษฎีมาเป็นผู้ช่วยอาสาสมัครกู้ภัย แถมพี่ ๆ อาสาสมัครกู้ภัยยังสอนเทคนิควิธีการต่าง ๆ ให้ด้วย ผมเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานมาเรื่อย ๆ

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-05.jpg

อั๋นเล่าต่อว่า เมื่อผมจบมัธยมศึกษาที่จังหวัดยโสธรแล้ว จึงมาเรียนต่อที่ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบล ฯ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งที่จะเดินตามฝัน แต่ผมก็ทิ้งงานที่ชอบไม่ได้ ผมจึงสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครกู้ภัยที่ “หน่วยกู้ภัย มูลนิธิศิษย์พระจี้กงอุบลราชธานี” ทางมูลนิธิ ฯ เห็นว่าผมมีประสบการณ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผม จึงรับผมเป็น “อาสาสมัครกู้ภัย” ครับ

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-06.jpg

เมื่อผมได้เข้ามาทำงานอาสาสมัครกู้ภัยอย่างจริงจัง จึงทำให้ได้รู้ว่า งานกู้ภัยไม่ใช่งานง่าย ๆ เพราะต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความชำนาญในการช่วยเหลือ “อาสาสมัครกู้ภัย” คือ ผู้เสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือสังคมส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เวลามีเหตุก็เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตั้งแต่การบรรเทาทุกข์ งานสังคมสงเคราะห์ กลุ่มสนับสนุนงานนิติเวชวิทยา การเก็บศพ การกู้ภัยการกู้ชีพจากอุบัติเหตุอุบัติภัย งานบรรเทาทุกข์จากโรคระบาด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเฉพาะจังหวัดอุบล ฯ เป็นแหล่งรวมมวลน้ำจากหลายจังหวัดมารวมกัน ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง ซึ่งผมได้ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกครั้งครับ

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-07.jpg

สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การได้นำความรู้จากที่เคยได้รับการอบรมหลักสูตรบุคลากรอาสาสมัครกู้ภัย รวมทั้งความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากการทำงานอาสาสมัครกู้ภัย ส่งต่อความรู้ต่าง ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยการรับเชิญเป็นวิทยาการอบรมให้ความรู้เรื่องการกู้ชีพกู้ภัย โดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ อยู่เสมอ ๆ ซึ่งนอกจากจะได้รับคำขอบคุณจากผู้รับการอบรมแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความอิ่มอกอิ่มใจ ความภาคภูมิใจในตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือได้รับคำชมจากแม่ที่ทำให้ใจฟูทุกครั้ง ในอนาคตจะทำให้แม่ใจฟูมากกว่านี้ คือ “ผมตั้งใจว่าจะต้องเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนให้ได้” นั่นคือเป็นความฝันสูงสุดในชีวิตของผมครับ อันกล่าวอย่างมั่นใจ

สิ่งที่อยากฝากถึงน้อง ๆ คือ “การเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” อยากให้น้อง ๆ ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ค้นหาฝันของตัวเองให้เจอ ไม่หยุดที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ “ความรู้ คือ สมบัติที่ใคร ๆ ก็ไม่สามารถแย่งจากเราไปได้” ถ้าน้อง ๆ อยากมีความรู้ในการเรียน อยากร่วมกิจกรรมสนุก ๆ อยากมีความสุขในรั้วมหาวิทยาลัย มาครับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ด้วยกัน

หากน้อง ๆ สนใจในงานอาสาสมัครกู้ภัย พี่ยินดีให้คำปรึกษาครับ “การทำบุญไม่ใช่ทำแต่ที่วัด แต่อยู่ที่ใจคุณว่าจะเลือกทำมันยังไงให้มันเกิดบุญ” และถ้าใครที่อยากทำบุญด้วยการสนับสนุนบริจาคยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ติดต่อได้ที่ หน่วยกู้ภัย มูลนิธิศิษย์พระจี้กงอุบลราชธานีได้นะครับ

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-08.jpg

มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ล้วนจะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่ขณะเดียวกันความดีก็เป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงให้ทุกคนรู้สึกมีคุณค่าในสังคม อั๋น - ณัฐพล คำใบ คือบุคคลคนหนึ่งที่นอกจากที่จะใช้ชีวิตในการตามหาความฝันที่อยากจะเป็นครูแล้ว เขาเลือกที่จะใช้การทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ภัยเป็นสารหล่อลื่นชีวิตในลักษณะของความดีที่ทำให้ชีวิตมีแรงพลังก้าวต่อไป ถ้าสังคมประกอบไปด้วยคนที่ใช้ความดีหล่อเลี้ยงชีวิตมากขึ้นเท่าไหร่ เราเชื่อว่าสังคมที่มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น หนึ่งในพันธกิจคือการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ ประกอบกับมีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตอาสา เป็นคนดีของสังคม และเป็นที่พึ่งของประชาชน ตลอดจนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และประเทศชาติให้ยั่งยืน


ข่าวโดย : นันทิชา วิปุละ
งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-09.jpg

ณัฐพล-คำใบ-กู้ภัย-10.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511