guideubon

 

สปช.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสื่อท้องถิ่นเวทีแรกเพื่อปฏิรูปการกำกับกันเองของสื่อ

ปฏิรูปสื่อ-อุบล-01.jpg

คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสื่อท้องถิ่น เวทีแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่จะนำเสนอประเด็นการจัดตั้งสภาองค์กรวิชาชีพสื่อระดับจังหวัด เพื่อการกำกับดูแลตนเองของสื่อ

วันที่ 8 มีนาคม 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 7 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสื่อท้องถิ่นเวทีแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี หัวข้อ “การปฏิรูปสื่อ : เพื่อพัฒนากลไกกำกับดูแลด้านจริยธรรม การยกระดับมาตรฐานและระบบสวัสดิการของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อ” โดยมีตัวแทนสื่อมวลชนแขนงต่างๆอาทิ สื่อหนังสื่อพิมพ์ เคเบิ้ลทีวี สื่อวิทยุชุมชนและคลื่นหลัก จากจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ ประมาณ 100 คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

วัตถุประสงค์ เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนแนวทางข้อเสนอ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ จากผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการสื่อสารและสารสนเทศในส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุน จัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรเพื่อกำกับดูแล และให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมแก่สื่อในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นหลักสิทธิเสรีภาพและบทบาทหน้าที่ของสื่อบนความรับผิดชอบต่อสังคม การสร้างกลไกเพื่อการกำกับดูแลกันเองของสื่อ การจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อระดับชาติ สภาองค์กรวิชาชีพสื่อในระดับจังหวัด สร้างองค์กรภาคประชาชนที่จะร่วมตรวจสอบสื่อ รวมทั้งกระบวนการป้องกันการแทรกแซงสื่อจากรัฐและนายทุน

โดยสื่ออุบลที่เข้าร่วมได้มีการประชุมหารือที่จะรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งเป็นสภาองค์กรวิชาชีพสื่อในระดับจังหวัด ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีจะเป็นโมเดลต้นแบบของการดำเนินการกำกับควบคุมกันเองของสื่อในระดับจังหวัด เพราะคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ ได้เริ่มจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในส่วนภูมิภาคขึ้นเป็นครั้งแรก 

จากระดมความคิดเห็นจากสื่อแขนงต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสภาองค์กรวิชาชีพสื่อที่จะมากำกับดูแลกันเอง สรุปแนวทางได้ดังนี้

1. ให้สื่อแต่ละแขนงจะต้องมีสังกัดที่ชัดเจนและจะต้องเข้ามาเป็นสภาองค์กรวิชาชีพสื่อที่จัดตั้งขึ้น

2. ให้มีคณะกรรมการมาจากการสรรหาหรือสมัครเข้ามาจากสื่อแขนงต่างๆไม่เกิน15คน และมีวาระคราวละ 2 ปีและไม่เกิน 2 วาระ

3. จัดให้มีกองทุนสวัสดิการเพื่อดูแลคุ้มครองสมาชิกสภาองค์กรวิชาชีพสื่อกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

4. มีการออกกฎ ระเบียบต่างๆ ตามความเหมะสมหรือตามข้อบังคับของสภาวิชาชีพจังหวัดหรือระดับชาติเพื่อให้เป็นในทิศทางเดียวกัน

ทางด้านนายนิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวว่าหากการผลักดันสภาองค์กรวิชาชีพสื่อครั้งนี้สำเร็จจะเรียกว่าเป็นปฏิญญาของสื่ออุบลราชธานี

ภาพ/ข่าว โดย ขุนแผน แดนอีสาน